เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก

dragons

จิปาถะ

เรื่องสั้น  หัวใจเปื้อนชอล์ก

186

“ถากถาง เธอรู้ไหมว่า อริสโตเติล พูดเกี่ยวกับเรื่องการเขียนว่าอย่างไร”

“ไม่ทราบครับ ท่านพูดว่าอย่างไรละครับ”

“การเขียนก็คือการเลียนแบบ ไม่ใช่แค่เลียนแบบจากชีวิต  หากเลียนจากลีลาและเนื้อหาการเขียนของกันและกันด้วย ต่ออินทรีย์แก่กล้าขึ้น งานเขียนจึงจะมีเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเองมากขึ้นทุกที”(อ้างจาก ส.ศิวรักษ์.2536:23)

“คงแบบเดียวกับการวาดรูปใช่ไหมครับ เริ่มต้นวาดตามแบบผลงานของศิลปินดังๆไปก่อน  ต่อเมื่ออินทรีย์แก่กล้าขึ้น ก็สามารถสร้างสรรค์งานที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้”

“แสดงว่าเธอเริ่มเข้าใจเรื่องนี้แล้ว”

187

“ที่นี้เราลอกเลียนงานคนอื่น  เราก็จะเจอะกฎหมายลิขสิทธิ์เข้านะซิครับ”

“บอกแล้วไงว่า  เราอ่านงานของใครก็ตาม หรือลอกเลียนแบบงานของใครก็ตาม  เราต้องเคี้ยวให้ละเอียดและย่อยออกมาเป็นของเราให้ได้… ส่วนพวกที่ลอกเขามาทั้งดุ้น เช่น กรณี นางสาว ว. (นามสมมุติ) นศ. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้คัดลอกวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาโทจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ของ น.ส.จตุพร ดอนโสม ในระดับขั้น “รุนแรง” นั้น

กรณีนี้ถือว่า  นางสาว ว.  ซวยสุดๆ ที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาห่วยแตก ไม่ใส่ใจงานการ  เพราะถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาใส่ใจงานการแล้ว  เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างเด็ดขาด”

188

“เพื่อให้เรื่องนี้ชัดเจน ลองมาฟังทัศนะของ ซี เอส หลุยส์ (อ้างจาก ส. ศิวรักษ์.2536:24) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ดีกว่า ท่านกล่าวว่า“การทดสอบที่แน่นอนที่สุดก็คือวิธีที่กวีขอยืมวิธีของกันและกันมาใช้  กวีที่อ่อนลอกแบบกวีที่แข็ง กล้าหยิบยืม กวีเลวเอาของเขามาทำเสีย  กวีดีเอามาทำให้ดีขึ้น  หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้เหมือนเดิม  กวีดีเอาสิ่งที่เขาหยิบยืมมาหลอมเข้ากับความรู้สึกทั้งหมดจนกลายเป็นของวิเศษไป จนไม่เหมือนกับต้นตอที่เอามาเลย  กวีเลวโยนเอาสิ่งที่ตัวได้มาเข้าไปใส่ไว้ในอะไรที่ไม่ได้ความเอาเลย  กวีดีมักยืมความคิดจากนักเขียนที่ห่างสมัยกันออกไปไกลหรือต่างภาษากันออกไป หรือหาไม่ก็ไม่มีความสนใจใกล้เคียงกัน แชบแมน ยืมความคิดมาจาก เซเนกา (กวีโรมัน) เช็คสเปียร์ยืมมาจากเวบสเตอร์และมองเตญ(ฝรั่งเศส)”

189

“เข้าใจแล้วครับ อาจารย์มีอะไรแนะนำอีกไหมครับ”

“ของผมไม่มีครับ มีแต่ของ เปาโล แฟรร์ (2548:54) ท่านกล่าวว่า “ถ้าเราต้องการเพิ่มพูนประสมการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านและการเขียน เราต้องยอมรับคำแนะนำที่ว่า เราต้องอุทิศตนอย่างน้อยสัปดาห์ละสามครั้งเพื่อเขียนอะไรบางอย่าง การเขียนนั้นอาจใช้วิธีบันทึกเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างที่เราอ่าน หรือวิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานเหตุการณ์ทางสื่อต่างๆหรือเขียนจดหมายถึงคนที่เราไม่รู้จัก- จะเขียนเกี่ยวกับอะไรก็ได้ ถ้าจะให้ดีควรระบุวันที่ และเก็บข้อเขียนเหล่านั้นไว้ พออีกหลายๆเดือนต่อมาค่อยวิเคราะห์ข้อเขียนเหล่านี้อย่างวิพากษ์วิจารณ์”

“ถากถาง ถ้าเธอทำตามคำแนะนำนี้ ผมเชื่อว่า ไม่นานเธอก็จะเขียนหนังสือได้และจะเขียนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

“ขอบคุณครับ อาจารย์” ถากถางทำท่าขึงขังและพูดด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “ผมจะต้องเขียนหนังสือให้ได้”

………

เปาโล แฟรร์.สดใส ขันติวรพงษ์ แปล.(2547).ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม.(Teachers as Cultural Workers).กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา

ส.ศิวรักษ์.(2536).คัยฉ่องส่องวรรณกรรม.(2).กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *