บ้านมีไฟและโรงพยาบาล

บ้านมีไฟและโรงพยาบาล

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของประเทศไทย โดยเฉพาะอีสานใต้ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาหรือราชอาณาจักรเขมรในอดีต เป็นบริเวณที่พบสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยหินทราย ศิลาแลง และอิฐ มีรูปแบบของศิลปะเขมร หรือที่เรียกว่าปราสาทหิน ในจังหวัดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง อ. เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังพบปราสาทขนาดเล็กสร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย ที่เรียกว่าที่พักคนเดินทาง หรือธรรมศาลา และโรงพยาบาลหรืออโรคยาศาล ที่เรียกว่ากุฏิฤาษีหรือกู่ฤาษี เช่น ปราสาทตาเมือน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นที่พักคนเดินทาง และ กู่ฤาษีจอมพระ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ กู่สันตรัตน์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม กู่ ฤาษีบ้านนางรำ อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงพยาบาล เป็นต้น
ที่พักคนเดินทางและโรงพยาบาลหรืออโรคยาศาลเหล่านี้ ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระมหากษัตริย์เขมร ซึ่ง ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1724 – ประมาณ พ.ศ. 1763 ทรงสร้างขึ้น ปรากฏหลักฐานตามจารึกปราสาทพระขรรค์ เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาฯ ที่กล่าวว่าพระองค์ได้สร้าง “ บ้านที่มีไฟ” หรือที่พักคนเดินทาง ตามสายทางเดินที่มีอยู่ในราชอาณาจักรเขมร คือบนถนนนอกเมืองพระนครหลวงไปยังอาณาจักรจำปา (เมืองฝันรังหรือวิชัยคือบิญดิญ) 57 แห่ง บนถนนจากเมืองพระนครหลวงไปยังปราสาทหินพิมาย บนที่ราบสูงโคราชภายในประเทศไทย 17 แห่ง บนสายทางเดินไปตามเมืองต่างๆ 44 แห่ง อยู่เขาพนมจิสอร์ 1 แห่ง และยังไม่พบร่องรอบ 2 แห่ง รวม 121 แห่ง ตั้งอยู่ห่างกันประมาณแห่งละ 15 กิโลเมตร (ชะเอม แก้วคล้าย.2528:54)


นอกจากนั้นยังพบจารึก ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในประเทศไทยจำนวนหลายหลัก มี เนื้อหาคล้ายคลึงกัน ที่ระบุถึงการสร้างโรงพยาบาล เช่น จารึกปราสาท จาก อ.ปราสาท จ. สุรินทร์ จารึกด่านปะคำ อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ จารึกปราสาทตาเมือน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ และจารึกพิมาย จาก อ.พิมาย จ. นครราชสีมา
จากจารึกด่านปะคำ ด้านที่ 2 โศลก 1 กล่าวว่า “โรคทางร่างกายของประชาชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง เพราะว่าความทุกข์ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของเจ้าเมือง” และโศลก 4 กล่าวว่า “พระองค์ได้สร้างโรงพยาบาลและรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคตพร้อมด้วยรูปพระชิโนรสทั้งสองโดยรอบ เพื่อความสงบแห่งโรคของประชาชนตลอดไป”(ชะเอม แก้วคล้าย..2528:23
จากหลักฐาน คือร่องรอยของถนนโบราณสิ่งก่อสร้างที่พักคนเดินทาง โรงพยาบาล และจารึกที่พบทั้งในประเทศไทย และประเทศกัมพูชาฯ ทำให้มั่นใจได้ว่า ที่พักคนเดินทางและโรงพยาบาลหรืออโรคยาศาล หรือกุฏิฤาษี ที่พบในภาคอีสานนี้ ทุกแห่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างแน่นอน
จากรูปแบบของกุฏิฤาษีหรืออโรคยาศาลที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนั้นอาจสันนิษฐานได้ว่า คงจะเป็นศาสนสถานประจำโรงพยาบาล เพราะอาคารโรงพยาบาลคงจะสร้างด้วยไม้ซึ่งได้เสื่อมสลายสูญหายไปหมดแล้วทั้งนี้เพราะ”ผู้เจ็บป่วยคงจะไม่พักอาศัยในอาคารที่ทำด้วยศิลาแลง หินหรืออิฐ เนื่องจากอาคารถาวรเช่นนั้นจะสงวนไว้เฉพาะพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นแม้แต่บุคคลที่สำคัญที่สุด เช่น พระมหากษัตริย์ก็ยังประทับอยู่ในพระราชมณเฑียรที่ทำด้วยไม้เช่นกัน”(คณะเภสัชศาสตร์ .2538:252)
อีกประการหนึ่งได้ระบุว่า “ในสถานพยาบาลจะมีหมอ 2 คน แต่ละคนมีผู้ช่วยเป็นผู้ชาย 1 คน ผู้หญิง 2 คน พนักงานเก็บของและทำหน้าที่จ่ายยา 2 คน แม่ครัว 2 คน ทำหน้าที่ในการหาฟืน ตักน้ำและทำความสะอาดอาคาร คนใช้ 2 คน ทำหน้าที่เตรียมของถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งน่าจะหมายถึงพระโพธิสัตว์รวมทั้งพระพุทธไภษัชยคุรุประภา พนักงานทำหน้าที่เป็นพยาบาล 14 คน คนงานหญิง 6 คน ทำหน้าที่ต้นน้ำและบดยา คนงานหญิง 2 คน ทำหน้าที่ตำข้าว รวมมีจำนวนคนที่ทำงานอยู่ในสถานพยาบาล 32 คนนอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่อีกจำนวน 66 คน ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่กินเอง ทำให้มีเจ้าหน้าที่รวม 98 คน”(คณะเภสัชศาสตร์.2538:253)
ซึ่งเมื่อจำนวนคน (จำนวนคนที่ปรากฏในจารึกอาจมีมากหรือน้อยกว่า เข้าใจว่าคงทำหน้าที่อื่นแต่ไม่ได้ระบุไว้ในจารึก) มาเทียบเคียงกับโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีขนาดเล็ก จะเห็นได้ว่า คนจำนวน 98 คนนั้น ไม่สามารถจะอาศัยอยู่ในอาคารดังกล่าวได้ ดังนั้น จะต้องมีอาคารอื่นๆ ที่สร้างด้วยไม้สำหรับเจ้าหน้าที่และคนไข้อย่างแน่นอน
สำหรับรูปแบของโรงพยาบาลหรืออโรคยาศาล โดยทั่วไปจะสร้างด้วยศิลาแลง ใช้หินทรายทำกรอบประตู และประดับตกแต่งส่วนอื่นๆ ศาสนสถานจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วย ปราสาทประธานที่ตั้งอยู่ตรงกลาง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ด้านหน้ามีโคปุระหรือประตูทางเข้า ภายในกำแพงแก้วนอกจากประสาทประธานแล้ว จะมีบรรณาลัยซึ่งมักจะตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน ส่วนนอกกำแพงแก้ว ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นสระน้ำ ซึ่งมักจะกรุขอบสระด้วยศิลาแลง เช่นปราสาทสระกำแพงน้อย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นอโรคยาศาล เป็นต้น
ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้พบทั้งที่พักคนเดินทางและโรงพยาบาลตามอำเภอต่างๆ หลายแห่ง เช่น ปราสาทบ้านบุ ตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านบุวิทยาสรรค์ อ. ประโคนชัย ปราสาททนง อ.บ้านกรวด ปราสาทหนองปล่อง อ.นางรอง ซึ่งเป็นที่พักคนเดินทาง ส่วนที่เป็นอโรคยาศาลก็พบจำนวนมากเช่นกุฏิฤาษีโคกเมือง กุฏิฤาษีหนองบัวราย อ.ประโคนชัย ปราสาทโคกงิ้ว อ.ปะคำ กู่ฤาษีบ้านหนองเยือง อ. บ้านใหม่ไชยพจน์ เป็นต้น ซึ่งบางแห่งยังอยู่ในสภาพดี มีรูปแบบชัดเจน แต่บางแห่งพังทลายจนไม่สามารถทราบรูปแบบที่แท้จริงได้ บางแห่งถูกทำลายสูญหายบางแห่งสร้างอาคารซ้อนทับ แต่ทุกแห่งก็น่าสนใจศึกษาแทบทั้งสิ้น
ส่วนรูปแบบของที่พังคนเดินทาง จะสร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตอนหน้ามีประตูทางเข้า เป็นห้องโถงยาว มีหน้าต่าง ส่วนท้ายของอาคาร ทำ เป็นยอดปราสาท เช่น ปราสาทตาเมือน อ.กาบเชิง จ. สุรินทร์ เป็นต้น

โบราณสถานที่เรียกว่าที่พักคนเดินทางและโรงพยาบาลหรืออโรคยาศาล ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระมหากษัตริย์เขมร โปรดให้สร้างขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วราชอาณาจักรของพระองค์โดยเฉพาะที่สร้างขึ้นตามเส้นทางจากเมืองพระนครหลวงมายังเมืองพิมายนั้น ได้พบในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจำนวนมาก และเนื่องจากโบราณสถานดังกล่าว มีขนาดเล็ก สร้างด้วยศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ มีสีค่อนข้างดำคล้ำ ใช้หินทรายประดับตกแต่งบ้างเพียงเล็กน้อยและส่วนสำคัญของปราสาท เช่น ทับหลัง และรูปเคารพสูญหายไป บางชิ้นนำไปเก็บรักษาไว้ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทำให้ปราสาทขาดความน่าสนใจ อีกทั้งยังขาดการเอาใจใส่ดูแลรักษาเท่าที่ควร จึงทำให้โบราณสถานประเภทนี้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม
แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งกุฏิฤาษี บ้านโคกเมือง และกุฏิฤาษีบ้านหนองบัวราย โดยปรับภูมิทัศน์และเคลื่อนย้ายราษฏรที่บุกรุกเข้าไปสร้างที่อยู่อาศัยในเขตโบราณสถานเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์
ท่านละครับ เคยไปชมบ้านมีไฟและโรงพยาบาลในอดีตแล้วหรือยัง

Comments are closed.