ทับหลังจำลอง : เจตนาที่แฝงเร้น

“โบราณสถานนั้น เป็นสมบัติของชาติของประชาชน ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง การดำเนินการใดใด ประชาชนควรจะได้มีส่วนรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนของปราสาทออกจากที่ตั้ง หรือ กรมศิลปากร ลืมเสียแล้วว่า สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2531.37) ได้ตรัสสั่งเมื่อครั้งเสด็จปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำเมื่อปี พ.ศ. 2472 ว่า “ให้รักษาหินจำหลักลวดลายไว้มิให้เป็นอันตราย และมีประกาศห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดมานำเอาไปจากที่เดิม”

ทับหลังจำลอง : เจตนาที่แฝงเร้น

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

เผยแพร่ใน สยามรัฐรายวัน 10  มกราคม  2541

ในช่วงนี้ เรื่องราวของปราสาทเมืองต่ำ ที่ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์นั้น ได้รับการนำเสนอถึงความงาม ความสำคัญและความสมบูรณ์ในการบูรณะจากสื่อต่าง ๆ ค่อนข้างมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะปราสาทดังกล่าวเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในโครงการแหล่งโบราณคดีเฉลิมพระเกียรติ ที่กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะจนสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครอง สิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีพุทธศักราช 2539 และเมื่อวันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2540 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดปราสาท ทำให้พสกนิกรที่เฝ้าทูลละออกพระบาท ณ ที่นั้นต่างปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่ สุดมิได้

ปราสาทเมืองต่ำ เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นปราสาทก่ออิฐ 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ จากระเบียงคดออกไปเป็นสระน้ำรูปตัวแอล 4 สระ ทั้งสี่มุม ถัดไปเป็นกำแพงแก้วที่มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติไว้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2478

ถ้าท่านไปชมปราสาทเมืองต่ำในช่วงนี้ ท่านจะพบว่า กรมศิลปากรได้บูรณะและพัฒนาโบราณสถานแห่งนี้ไว้อย่างดี โดยย้ายประตูทางเข้าชมปราสาทจากด้านทิศตะวันออกไปไว้ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และจัดแยกสถานที่จอดรถ ศูนย์ข้อมูล และร้านจำหน่ายสินค้าไว้ต่างหาก จนเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เสียภูมิทัศน์ขององค์ปราสาท ดังนั้น ผู้เข้าชมจึงมีโอกาสได้เดินจากประตูทางเข้าไปยังด้านหน้า ทำให้สามารถมองเห็นสภาพบริเวณโดยทั่วไปของปราสาท ซึ่งคงสร้างความรู้สึกประทับใจได้พอสมควร
บริเวณประตูทางเข้า นอกจากจะมีศาลาที่พักและมีข้อมูลเกี่ยวกับปราสาท และซุ้มจำหน่ายบัตรผ่านประตูแล้ว ยังมีทับหลังหน้าบัน และเสากรอบประตูทางเข้าของปราสาทประธานจำลองตั้งแสดงไว้ด้วย
และเนื่องจากการจำลองได้ใช้วิธีหล่อ จึงดูเหมือนจริงทุกอย่างซึ่งถ้าไม่มีป้ายบอกว่าเป็นการจำลองผู้ชมก็จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้านั้นเป็นของจริง หรือของที่ทำเลียนแบบขึ้นใหม่เท่าที่สังเกต ประชาชนที่มาดู จะรู้สึกชื่นชมกับกรมศิลปากรที่สามารถทำได้เหมือนของจริง และพากันถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
นับว่าเป็นโชคดีของผู้เข้าชมปราสาทเมืองต่ำ ที่ได้ทราบว่ามีการจำลองทับหลัง หน้าบัน และเสากรอบประตู เพราะเป็นความรู้ซึ่งแตกต่างกับที่ปราสาทหินพนมรุ้ง เพราะที่นั่น มีการจำลองทวารบาล เทพประจำทิศ เศียรนาค และอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก โดยใช้วิธีหล่อจากของจริงเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีป้ายบอกว่าเป็นของจำลอง จึงไม่มีใครทราบว่าส่วนไหนเป็นของจริง ส่วนไหนเป็นของจำลอง ก็เลยไม่ได้รับความรู้
ความจริงแล้ว กรมศิลปากรน่าจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงเหตุผลที่จะต้องจำลองทับหลัง หน้าบัน และเสากรอบประตูของปราสาทเมืองต่ำ ควรแจ้งให้ทราบว่าได้จำลองไว้ทั้งหมดกี่ชิ้น เอาไปเก็บไว้ที่ไหนบ้าง และเหตุผลที่ต้องนำของจริงไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จ.นครราชสีมา ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน เพราะโบราณสถานนั้น เป็นสมบัติของชาติของประชาชน ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง การดำเนินการใดใดประชาชนควรจะได้มีส่วนรับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนของปราสาทออกจากที่ตั้ง
หรือ กรมศิลปากร ลืมเสียแล้วว่า สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2531.37) ได้ตรัสสั่งเมื่อครั้งเสด็จปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ เมื่อปี พ.ศ. 2472 ว่า “ให้รักษาหินจำหลักลวดลายไว้มิให้เป็นอันตราย และมีประกาศห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดมานำเอาไปจากที่เดิม”

12 thoughts on “ทับหลังจำลอง : เจตนาที่แฝงเร้น

  1. อาจารย์คะ ดิฉันอยากทราบว่า ทับหลังปราสาทบ้านน้อยห้วยพะใย อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เก็บรักษาไว้ที่ไหนคะ ดิฉันตามไปดูที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรีก็บอกไม่มี เรียนถามไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครก็บอกว่าไม่มี ดิฉันสงสัยจริง ๆ ว่าอยู่ที่ใด อาจารย์ทราบช่วยบอกทีนะคะ

    จากคนรักปราสาท

  2. เรียน คุณอรพิน คงหมุน ครับ
    จะรีบตรวจสอบให้ ทราบแล้วจะแจ้งให้ทราบทันที
    ขอบคุณที่ถามมาครับ
    วิสุทธิ์

Comments are closed.