โบราณวัตถุ ภูมิปัญญาอดีต รากเหง้าทางวัฒนธรรม

โบราณวัตถุ

ุรีรัมย์ จังหวัดชายแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ของประเทศไทย เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญ เพราะปรากฏว่ามี แหล่งโบราณคดี และโบราณวัตถุสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ชุมชนโบราณ ปราสาทหิน และแหล่งเตาเผา เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก มีทั้งพระพุทธรูป เทวรูป ใบเสมา และวัตถุอื่นๆ โบราณวัตถุบางส่วนได้นำไปเก็บรักษาไว้ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการจำหน่ายจ่ายแจกและสูญหาย บางชิ้นถูกนำออกไปยังต่างประเทศ ที่สามารถนำกลับคืนมาได้ก็มี และที่ไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ก็มี ในที่นี้ขอนำเสนอโบราณวัตถุเพียงบางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้

1.พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์
พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์เป็นปฏิมากรรมที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพุทธ ลัทธิหินยานและมหายาน พบทั่วไป ที่น่าสนใจ ได้แก่พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์จากบ้านฝ้าย ต.ไทยสามัคคี อ. ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนายเสนอ นาคินทรชาติ ขุดได้โดยบังเอิญ และได้มอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งขาติพระนคร เมื่อเดือนมีนาคม พศ 2514 เป็นพระพุทธรูป 1 องค์ และพระโพธิสัตว์ 2 องค์ พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้

1.1 พระพุทธรูปประทับยืนตรง หล่อด้วยสำริด สูง 1.10 เมตร พระกรทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้า พระกรขวาอยู่ในท่าแสดงธรรม หรือวิตรรกมุทรา พระกรซ้ายนิ้วพระหัตถ์หักหายไป พระเมาลีเป็นรูปกรวย เม็ดพระศกเป็นรูปก้นหอยเล็กๆ พระขนงโก่งต่อกันคล้ายปีกกา มีอูรณาหรือ อุณาโลมอยู่ตรงกลางพระนลาฏ ห่มจีวรคลุมบางแนบพระองค์ ส่วนที่ชำรุดและซ่อมแล้วคือ พระเศียรหักตรงพระศอ พระอังสา พระหัตถ์ซ้ายและข้อพระบาท ด้านหลังมีรอยซ่อมด้วยปูน “เป็นพระพุทธรูปสำริดสมัยทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย”
(ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์.2516:23)
1.2 พระโพธิสัตว์ ประทับยืนในท่าสัมภังค์ หล่อด้วยสำริด สูง 1.37 เมตร มี 4 กร พระกรหน้าทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้าแสดงท่าคล้ายวิตรรกมุทรา พระกรซ้ายด้านหลังยกขึ้นทำท่าคล้ายถือสิ่งของ ส่วนพระกรขวาด้านหลังหักตรงข้อศอก พระเกศาทำเป็นวงซ้อนกัน 4 ชั้นทรงภูษาสั้นบางแนบพระองค์ มีเข็มขัดเส้นเล็กคาดเอว
1.3 พระโพธิสัตว์ ประทับยืนในท่าตริภังค์ หล่อด้วยสำริด สูง .47 เมตร ทรงชฏามุกุฏ ทรงภูษาสั้น มีเข็มขัดผ้าเส้นเล็กๆคาดทับอยู่เหนือพระโสณี และผูกชายเป็นโบว์ที่ด้านหน้า ชายผ้าห้อยอยู่ทางด้านขวาและริ้วชายผ้าทำเป็นเส้นบางๆ พระกรหักตรงข้อศอก พระชงฆ์หักตรงพระชานุ

2. เทวรูป
เทวรูปเป็นปฏิิมากรรมที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ พบทั่วไป มีทั้งแกะสลักด้วยหินทรายและหล่อด้วยสำริด เช่น พระนารายณ์ พระอุมา พระพรหม และเทพประจำทิศต่างๆ ที่น่าสนใจได้แก่เทวรูปจากปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ขอนำเสนอตัวอย่างเพียง 2 องค์ คือ
2.1 พระพรหม ประทับยืนในท่าสัมภังค์ แกะสลักด้วยหินทราย มีสี่พักต์ สี่กร ทรงชฏามุกุฏประดับด้วยแนวลูกประคำ ทรงภูษาจีบเป็นริ้ว ชายภูษาทำเป็นรูปสมอเรือสองชั้น ห้อยอยู่ด้านหน้า คาดทับด้วยสายรัดพระองค์ผ้าโดยคลี่ชายภูษาอีกชายหนึ่งเป็นรูปพัด เหนือสายรัดพระองค์นั้น มีชายสายรัดห้อยอยู่ พระกรหักตรงข้อศอก พระชงฆ์หักตรงพระชานุ แต่เดิมจัดแสดงอยูู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ ปัจจุบันได้ย้ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
2.2 เทพนารี ประทับยืนในท่าสัมภังค์ แกะสลักด้วยหินทราย ทรงชฏามุกุฏ ประกอบด้วยมวยพระเกศา มีวงพระเกศาใหญ่ห้อยตกลงมายังเชิงมวย ทรงภูษาจีบเป็นริ้วเว้าลงมากใต้พระอุทรและมีชายหางปลาซึ่งมีขนาดใหญ่ตอนปลาย เบื้องหน้าขมวดชายพกมีขนาดเล็กเหนือสายรัดพระองค์ผ้าซึ่งคาดบนพระโสณี พระกรขวาหักที่ข้อศอก พระกรซ้ายหักที่พระอังสา ข้อพระบาทหัก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร
3. ใบเสมา
ใบเสมา คือ “เขตกำหนดเป็นที่ร่วมกระทำสังฆกรรมของสงฆ์ ตามพุทธบัญญัติกำหนดให้มีขนาดไม่น้อยกว่าเขตหัถตมาสของภิกษุ 21 รูป และมีขนาดไม่ใหญ่กว่า 3 โยชน์ การกำหนดเขตนั้นได้มีอนุญาตให้ทำเครื่องหมายเขตด้วยนิมิต ระบุไว้ในบาลีมี 8 ชนิด คือ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ น้ำ จำนวนนิมิตไม่ปรากฏแน่ชัด แต่จะต้องมีไม่น้อยกว่า 3 เพื่อความสมบูรณ์ในการครอบคลุมพื้นที่ และเท่าที่ปรากฏในทางปฏิบัติทั่วไป มีจำนวนถึง 9 แต่ในกรณีที่มีการผูกมหาสีมา อาจมีนิมิตตั้งแต่ 12 ถึง 16 ก็ได้ ปัจจุบันนิยมทำนิมิตเป็นรูปศิลากลมฝังลงในดินและทำใบเสมาปักคล่อมไว้เพื่อเป็นที่หมายของลูกนิมิต” (โชติ กัลยาณมิตร.2518:749)
จังหวัดบุรีรัมย์พบใบเสมาที่เขาอังคาร อำเภอนางรอง และบ้านปะเคียบ ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ใบเสมาที่พบทำด้วยศิลา มีขนาดแตกต่างกัน เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการแพร่กระจายอิทธิพลของศิลปสมัยทวารดีที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย
3.1 ใบเสมาเขาอังคาร แกะสลักด้วยหินภูเขาไฟ จำนวน 15 แผ่น มีขนาดสูงตั้งแต่ 1.08 เมตร ถึง 2.10 เมตร ฐานกว้างระหว่าง .23-.90 เมตร หนาตั้งแต่ .15-.32 เมตร มีเพียงแผ่นเดียวที่ไม่ได้

แกะสลักเป็นรูปใดๆ แผ่นที่สมบูรณ์ เป็นภาพสลักที่เป็นของเดิม ทางวัดได้นำไปประดิษฐานไว้ในอาคารด้านตะวันออกคล้ายให้เป็นใบเสมาประธาน แกะสลักเป็นรูปทิพยบุคคลในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประทับยืนในท่าตริภังค์เล็กน้อยบนแท่นสี่เหลี่ยม ด้านบนเป็นฉัตร สองข้างเป็นพัดโบก ทรงภูษาสั้น มีชายพกข้างขวา ซึ่งเป็นลักษณะศิลปกรรมแบบทวารวดีท้องถิ่นอีสาน (ศิลปากร.2532:104) ส่วนใบเสมาอีก 14 แผ่น อยู่นอกอาคาร แกะสลักเป็นสองแบบ แบบหนึ่งเป็นรูปทิพยบุคคล มีการสร้างต่อเติม ทำให้ลักษณะเปลี่ยนไปหลายประการแต่ยังคงเค้าเดิมให้เห็นว่าส่วนใหญ่ประทับยืนอยู่เหนือดอกบัว หัตถ์ถือดอกบัว ทรงภูษาสั้น มีชายพกข้างขวา อีกแบบหนึ่งสลักเป็นรูปสถูปและดอกบัว,ธรรมจักร ตามแบบศิลปสมัยทวารวดี แต่มีบางแผ่นที่ด้านหนึ่งแกะสลักเป็นรูปสถูป ดอกบัว แต่อีกด้านเป็นรูปทิพยบุคคล จึงอาจสันนิษฐานว่า ใบเสมารูปสถูป, ดอกบัว ธรรมจักร มีมาแต่เดิม ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เจริญขึ้นในแถบนี้จึงนำใบเสมาเก่ามาใช้โดยสลักรูปทิพยบุคคลเพิ่มเติมขึ้น
3.2 ใบเสมาบ้านปะเคียบ เป็นหินทรายและศิลาแลง บางชิ้นแกะสลักเป็นสถูปแบบหยาบๆ มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกอยู่ในบริเวณวัดทรงศิรินาวาส ปัจจุบันนำไปใช้ทำใบเสมาของพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ กลุ่มที่สอง ชาวบ้านขนย้ายมาจากที่ต่างๆ รวมกับของที่มีอยู่เดิมในบริเวณที่เรียกว่า “สวนศิลาจากรึก” สี่แยกกลางหมู่บ้าน กลุ่มที่สามเป็นศิลาแลง อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ใกล้กับคูเมืองด้านตะวันตก เข้าใจว่าใบเสมาคงอยู่ในตำแหน่งนี้มาแต่เดิม นอกจากนั้น ยังมีการนำใบเสมาบางส่วนไปทำใบเสมาพระอุโบสถที่สร้างใหม่ของวัดสุพลศรัทธาราม บ้านโนนสูง ต. บ้านแพ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงกัน
จากตัวอย่างโบราณวัตถุเพียงบางส่วนตามที่เสนอมา จะเห็นได้ว่ามีทั้งรูปแบบที่เป็นศิลปแบบเขมรหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสมัยลพบุรี เช่น เทวรูปแบบต่าง ๆ และรูปแบบศิลปสมัยทวารวดีที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ทางภาคกลางและภาคอีสานตอนบน เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ และใบเสมา โบราณวัตถุดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจัวหวัดที่เป็นเขตเชื่อมต่อของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันซึ่งแพรกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้ ดังนั้น ความน่าสนใจและความมีเสน่ห์ของโบราณวัตถุที่พบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบเสมาที่เขาอังคารจึงอยู่ที่รูปแบบของศิลปะที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบเขมรและศิลปะทวารวดีรวมไปถึงลักษณะชาติพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นด้วย นอกจากนั้นพระโพธิสัตว์ 2 องค์ และพระพุทธรูปสมัยทวารวดีอีก 1 องค์ จากบ้านฝ้าย อำเภอลำปลายมาศ อาจเกี่ยวเนื่องกับอาณาจักรศรีจนาศะ ที่เป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญ นอกเหนือจากอารยธรรมเขมรและทวารวดีในบริเวณนี้ด้วยก็ได้

หนังสืออ้างอิง
ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์.”ประติมากรรมสำริดจากบ้านฝ้าย อ.ลำปลายมาศ”
ประติมากรรมสำริดชิ้นเยี่ยมจากบ้านฝ้าย ลำปลายมาศ บุรีรัมย์. โรงพิมพ์การศาสนา.2516.
ศิลปากร,กรม แผนที่ทางโบราณคดีจังหวัดบุรีรัมย์. ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.2532.
โชต กัลยาณมิตร. พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.2518.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์.ปราสาทเขาพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่2.สำนักพิมพ์มติชน.2535.

13 thoughts on “โบราณวัตถุ ภูมิปัญญาอดีต รากเหง้าทางวัฒนธรรม

  1. เป็นข้อเขียนบทความวิชาการ ที่ดีมากครับ จะเข้ามาอ่านเรื่อยๆ ครับ

Comments are closed.