สิม : สถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสาน

สิม : สถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสาน

รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

ศาสนาคารที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนานั้น มีหลายประเภทตามลักษณะของประโยชน์ใช้สอย เช่น พระอุโบสถ หรือโบสถ์ ใช้ทำกิจกรรมของสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ใช้ทำกิจกรรมทั่วๆไป หอไตร ใช้เก็บคัมภีร์ทางศาสนา เป็นต้น ศาสนาคารเหล่านี้มีความสำคัญลดหลั่นกันไป ที่สำคัญมากน่าจะได้แก่พระอุโบสถ เพราะใช้เป็นที่ทำสัฆกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอุปสมบท


พระอุโบสถ มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ปัจจุบันมีความสำคัญมาก เพราะเป็นอาคารประธานของวัด แทนสถูปเจดีย์ และวิหารที่เคยมีความสำคัญและเป็นประธานของวัดมาก่อน พระอุโบสถทั่วไป จะสร้างด้วยไม้หรือก่ออิฐถือปูน เป็นอาคารที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทางด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างมีหน้าต่าง ภายในทำเป็นฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน
ในภาคอีสาน พระอุโบสถจะเรียกกันว่า “สิม” ซึ่งเป็นรูปของเสียงที่กร่อนมาจากคำว่า “สีมา” ซึ่งหมายถึงเขตหรืออาณาเขตที่กำหนดขึ้น เพื่อใช้ทำกิจกรรมในพระพุทธศาสนา

พระอุโบสถ หรือสิมอีสาน เป็รนอาคารขนาดเล็ก มีสัดส่วน ทรวดทรง การตกแต่งภายนอก ภายในเพื่อความสวยงาม การเลือกใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น ตลอดจนใช้โครงสร้าง มีลักษณะที่ค่อนข้างลงตัว คือ ทุกอย่างดูพอดี พอเหมาะ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานที่มีรูปแบบเรียบง่าย หนักแน่น มีพลัง มีความสมถะ ส่อคุณลักษณะแห่งความจริงใจ อันเป็นคุณสมบัติเด่นของชาวอีสาน

สิมอีสานมี 3 ประเภท คือ คามสีมา สิมที่สร้างในชุมชน อัพภันตรสีมา สิมที่สร้างในป่า และอุทกกเขปสีมา สิมที่สร้างในน้ำ แต่ส่วนมากเป็นสิมที่สร้างในชุมชน ส่วนสิมที่สร้างในป่า และสร้างในน้ำมีน้อย
จังหวัดบุรีรัมย์ มีสิมเกือบทุกวัด แต่ปัจจุบันสิมที่มีอยู่ ได้ชำรุด หักพัง และรื้อทิ้งไปเป็นจำนวนมาก เพราะชุมชนหันมาสนใจค่านิยมสมัยใหม่ตามลัทธิส่วนกลางนิยม (Capitalism) คือ พึงพอใจรูปแบบของพระอุโบสถของส่วนกลาง และรังเกียจรูปแบบพระอุโบสถที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้เพราะขาดความเข้าใจคุณค่าและความหมายภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงปรากฏว่า วัดต่างๆได้รื้อสิม หรือพระฮุโบสถเก่า และสร้างพระอุโบสถใหม่ที่มีรูปแบบจากส่วนกลางขึ้นแทน
เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาเพื่อให้ประจักษ์ว่า สิ่งต่างๆที่ปู่ ย่า ตา ยาย คิดสร้างทำขึ้นไว้นั้น มีคุณค่า มีความหาย โดยเฉพาะอาคารในพระพุทธศาสนา ที่สร้างขึ้นจากความเลื่อมใสศัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชน ฉะนั้น สิ่งที่ได้สร้างไว้ ในอดีต เคยมีความสำคัญ แต่ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรตม ปรักหักพัง หน้าที่ของเราซึ่งเป็นลูกหลาน ควรที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษา ให้ดำรงอยู่สืบต่อไปนานเท่านาน การรื้อสิมก็ดี ศาสนาคารอื่นๆก็ดี นอกจากจะทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์ของชุมชนแล้ว ยังเป็นการทำร้ายจิตใจของ ปู ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษของเราอย่างหยาบคายอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม เรื่องของสิม ปัจจุบันยังพอเหลือให้ได้ศึกษาชื่นชมความงามอยู่บ้าง เช่น สิมวัดบ้านแวง อำเภอพุทไธสง สิมวัดกลาง วัดขุนก้อง วัดแพงพวย อำเภอนางรอง สิมวัดสนวน อำเภอห้วยราช และสิมวัดโพธิ์ทอง บ้านสวายจีก อำเภอเมือง เป็นต้น
สิมที่วัดบ้านแวง วัดขุนก้อง และวัดสนวน ได้ทำการบูรณะเมื่อเร็วๆนี้ และสามารถรักษาลักษณะดั้งเดิมไว้ค่อนข้างดี ส่วนสิมแห่งอื่นๆ ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแล ปล่อยปะละเลยทิ้งร้างไว้ เพราะทางวัดสนใจที่จะสร้างพระอุโบสถใหม่ แต่ก็ยังดีกว่าบางวัดที่รื้อทิ้งไปแล้ว
วัดโพธิ์ทอง บ้านสวายจีก เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยี่ที่บ้านสวายจีก อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 226 บุรีรัมย์-สุรินทร์ ประมาณ 10 กิโลเมตร ภายในวัดมีสิมเก่าหลังหนึ่ง ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป้นสิมก่ออิฐถือปูน โครงหลังคาเป็นไม้ หลังคาซ้อนกันสองชั้น มุงสังกะสี มีประตูทางเข้าทางด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 1 ประตู บานประตูแกะสลักสวยงามงาม ด้านข้างมีช่องหน้าต่างเล็กๆ ด้านละ 1 ช่อง
ภายในสิม มีฐานชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูป (ใหม่) องค์เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด ปางสมาธิภายใต้ฉัตร แต่ได้ถูกโจรกรรมไปพร้อมกับพระไม้เป็นจำนวนมากเมื่อปี 2536 ส่วนที่เหลือ มีพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ขนาดใหญ่ 1 องค์ ขนาดเล็ก 2-3 องค์ มีสภาพชำรุดมาก
ปัจจุบัน วัดโพธิ์ทองบ้านสวายจีก ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จากการที่มีโอกาสได้ไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส พระอธิการสุบัน ปณฑิโต ท่านเปรยว่า อยากจะรื้อสิงหลังนี้ เพราะเก่าและชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว โบราณวัตถุที่มีก็ถูกโจรกรรมไปจนหมด ซึ่งผมก็ได้เรียนชี้แจงถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาสิมหลังนี้ไว้ เป็นเบื้อต้นบ้างแล้ว ซึ่งท่านก็แบ่งรับแบ่งสู้ว่า สุดแท้แต่ญาติ โยม จะเห็นสมควร ก็ขอบอกข่าวมายังหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อจะได้รีบไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านสวายจีก หาทางอนุรัษ์สิมหลังนี้ไว้ ก่อนที่จะสายเกินไป
ถึงวันนี้ สิมที่วัดโพธืทอง บ้านสวายจีก ยังอยู่ครับ แต่ก็มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก หางผ่านไปทางนั้น ก็ลองแวะดูซิครับ เป้นบุญตา บุญใจ เพระนับวันจะหาดูได้ยากยิ่งขึ้นทุกที

122 thoughts on “สิม : สถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสาน

  1. สิมที่นางรองนอกจาก วัดกลาง วัดขุนก้อง วัดแพงพวย

    ยังมีที่วัดหัวสะพาน วัดโพธาราม วัดใหม่เรไรทอง วัดถนนหักอีก

Comments are closed.