บุรีรัมย์ ; เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ทผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม 1

บุรีรัมย์ : เมืองปราสาทหิน
รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

จังหวัดบุรีรัมย์  มีคำขวัญว่า  เมืองปราสาทหิน  ถิ่นภูเขาไฟ  ผ้าไหมสวย  รวยวัฒนธรรม
ตราประจำจังหวัด เป็นรูปเทพนาฏศิลป์  ฟ้อนรำอยู่เบื้องหน้าองค์ปราสาทในกรอบวงกลม


ตราสัญลักษ์การท่องเที่ยวบุรีรัมย์ เป็นรูปนาคราช 5 เศียรขดตัวเป็นวงกลม


จากคำขวัญ  ได้แสดงให้เห็นลักษณะที่โดดเด่นของจังหวัดบุรีรัมย์ คือ มีปราสาทหินเป็นจำนวนมาก  มีภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วถึง 6  ลูก  ผู้คนมีฝีไม้ลายมือ  มีภูมิปัญญาสามารถผลิตผ้าไหมมัดหมี่ที่ประณีตสวยงามจนมีชื่อเสียง  มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่งดงามหลากหลายของกลุ่มชนต่างๆ เช่น ไทยโคราช ไทยลาว ไทยเขมร และไทยส่วย นอกจากนั้น  ยังได้พบชุมชนโบราณถึง 144  แห่ง  มีแหล่งเตาเผาเครื่องเคลือบดินเผาโบราณ  เท่าที่กรมศิลปากรสำรวจแล้วมีมากกว่า 300  เตา
สำหรับปราสาทหิน  จังหวัดบุรีรัมย์มีถึง  69  แห่ง  ตั้งอยู่ในเกือบทุกอำเภอ  ปราสาทหินที่สำคัญและรู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ ปราสาทหินพนมรุ้ง  ปราสาทเมืองต่ำ  และกู่สวนแตงตามลำดับ
ปราสาทหิน  เป็นเทวลัยในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู  ซึ่งนับถือเทพเจ้า 3 องค์ หรือ ตรีมูรติ  ได้แก่  พระพรหม  เทพผู้สร้าง  พระวิษณุ  เทพผู้รักษา  และพระศิวะ  เทพผู้ทำลาย  ปราสาทหินจะสร้างด้วยหินทราย ศิลาแลง อิฐ และใช้ไม้เป็นส่วนประกอบ  สำหรับส่วนที่เป็นไม้ได้หักพังสูญหายไปหมดแล้ว เหลือส่วนที่เป็นศิลา ปราสาทหิน เป็นสถาปัตยกรรมเขมรโบราณ มีทั้งขนาดใญ่และขนาดเล็ก  เรียกชื่อแตกต่างกัน บางแห่งเรียกปราสาทหิน เช่น ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา  บางแห่งเรียกปางค์กู่ เช่น  ปรางค์กู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์  จังหวัดบุรีรัมย์  บางแห่งเรียกกู่  เช่น  กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน  จังหวัดมหาสารคาม  บางแห่งเรียกกุฏิฤาษี  เช่น กุฏิฤาษีหนองบัวราย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์  เป็นต้น
โดยทั่วไป  ปราสาทหินจะมีรูปลักษณะคล้ายคลึงกัน  จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด  สามารถแบ่งได้ 5 ประเภท  ตามจุดมุ่งหมายที่สร้าง  ซึ่งบางแห่งก็ทราบว่าเป็นปราสาทประเภทใด เนื่องจากมีจารึกระบุไว้  ส่วนที่ไม่มีจารึกระบุนั้น  แยกประเภทได้ยาก นอกจากมีรูปลักษณ์ที่อาจสันนิจฐานว่าเป็นปราสาทประเภทใด  ปราสาททั้ง 5  ประเภท ได้แก่
1.  ปราสาทศูนย์กลางราชอาณาจักร
เป็นปราสาทหรือเทวลัยที่พระมหากษัตริย์เขมรที่มีอำนาจบารมีทางการเมืองและทางเศรษฐกิจสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าที่พระองค์นับถือ  และเป็นศูนย์กลางของพระราชอาณาจักรและศูนย์กลางอำนาจของพระองค์  โดยสร้างปราสาทที่มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุตามคติจักรวาลแบบฮินดูอันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า  พระมหากษัตริย์เขมรใช้เทวลัยในการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิราช และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับมหาเทพในรูปของศิวลึงค์ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ใจกลางของปราสาทนั้น  ปราสาทประเภทนี้มักจะสร้างบนภูเขา  หากไม่มีภูเขาก็จะสร้างไว้บนพื้นที่ราบ  โดยสร้างให้มีฐานสูงลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ  ลักษณะคล้ายภูเขา เช่น ปราสาทพนมบาแค็ง ศูนย์กลางเมืองพระนคร และปราสาทบายน ศูนย์กลางเมืองพระนครหลวง ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือปราสาทหินพนมรุ้ง  ที่สันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นปราสาทศูนย์กลางของอาณาจักรมหิธรปุระ ซึ่งสร้างโดยราชสกุลวงค์แห่ง  มหิธรปุระ ที่มีอำนาจและอิทธิพลอยู่ในบริเวณนี้และและมีหลักฐานว่าเชื้อพระวงศ์ในราชสกุลนี้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์เขมร ถึง 5 พระองค์
2.  ปราสาทบรรพบุรุษ  เป็นปราสาทหรือเทวลัยที่พระมหากษัตริย์เขมรสร้างขึ้นหลังจากที่พระองค์ได้พระราชอำนาจปกครองแล้ว  ก็จะเริ่มสร้างสิ่งสาธารณูปโภคให้แก่ชุมชนเมือง เช่น ขุดสระหรือบารายเพื่อการชลประทาน สร้างปราสาทหรือเทวลัยบูชาเทพเจ้าที่พระองค์นับถือ และสร้างปราสาทเพื่ออุทิศแด่บรรพบุรุษ  ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ก่อนพิธีราชาพิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิ์  โดยอ้างถึงความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติทางบรรพบุรุษ  เพื่อสร้างบารมีและความขอบธรรมในพระราชอำนาจ  ในขณะเดียวกันก็ขอให้บรรพบุรุษช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ภายในราชอาณาจักรที่พระองค์ทรงปกครองอยู่ด้วย
3.  ปราสาทชุมชน  เป็นปราสาทหรือเทวลัยของชุมชน ซึ่งมีทั้งชุมชนขนาดใหญ่และชุมชนขนาดเล็ก  ปราสาทหรือเทวลัยเหล่านี้  นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา  อันเป็นศูนย์รวมความเลื่อมใสศรัทธาของชุมชนแล้ว  ยังเป็นศูนย์รวมและเครือข่ายทางการเมือง เศรษฐกิจของพระราชอาณาจักร หรือสร้างขึ้นตามพระราชโองการของพระมหากษัตริย์  เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระสำคัญต่างๆ บางแห่งสร้างขึ้นเป็นศาสนาสถานตามรายทางที่พระองค์ใช้เดินทางเพื่อจาริกแสวงบุญตามพระราชประเพณีอีกด้วย (อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. 2531.30-31)
4.  โรงพระยาบาล   หรืออโยคยาศาลา  เป็นปราสาทหรือเทวลัยขนาดเล็ก เป็นศาสนสถานของโรงพยาบาล  ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7  โปรดให้สร้างขึ้น  ตามจารึกที่พบในประเทศไทยหลายหลัก เช่น จารึกด่านปะคำ จากจังหวัดบุรีรัมย์ หรือจารึกปราสาท จากจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า “โรคทางกายของประชาชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง เพราะว่าความทุกษ์ของราษฏร  แม้จะมิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของเจ้าเมือง  และพระองค์ได้สร้างโรงพระยาบาล และรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต พร้อมด้วยรูปพระชิโนรสทั้งสองโดยรอบ เพื่อความสงบแห่งโรคของประชาชนตลอดไป” ในประเทศไทยพบปราสาทประเภทนี้เป็นจำนวนมาก เช่น กุฎิฤาษี  บ้านโคกเมือง อำเภอประโคนชัย  จังหวัดบุรีรัมย์ กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน  จังหวัดมหาสารคาม  เป็นต้น
5.  ที่พักคนเดินทาง หรือ ธรรมศาลา  เป็นอาคารที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้น ตามเส้นทางในราชอาณาจักรของพระองค์  ตามจารึกปราสาทพระขรรค์มืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาฯ กล่าวว่า พระองค์โปรดให้สร้าง “ บ้านที่มีไฟ ตามสายทางเดินที่มีอยู่ในราชอาณาจักร คือ ถนนนอกเมืองพระนครหลวงไปยังอาณาจักรจำปา 57  แห่ง ถนนจากเมืองพระนครไปยังปราสาทหินพิมาย บนที่ราบสูงโคราช ในประเทศไทย 17  แห่งและบนถนนทางเดินไปตามเมืองต่างๆอีก รวมทั้งหมด 121 แห่ง  ตั้งอยู่ห่างกันแห่งละประมาณ 15 กิโลเมตร”  (ชะเอม แก้วคล้าย.2528:54) ในประเทศไทย ได้พบปราสาทที่เป็นที่พักคนเดินทางหลายแห่ง เช่น ปราสาทตาเมือน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทบ้านบุ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า  ปราสาทหินที่พบในจังหวัดบุรีรัมย์นั้นน่าจะมีครบทั้ง 5 ประเภท เพียงแต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนเท่านั้น  ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือจารึกสนับสนุน  และขาดผู้ศึกษาอย่างถ่องแท้ แต่ที่แน่ชัดก็คือ เส้นทางโบราณจากเมืองพระนครหลวง ราชอาณาจักรเขมรตรงมายังเมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ในประเทศไทยนั้น ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์อย่างแน่นอน
เพียงเท่านี้ก็ถือได้ว่าจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์แล้ว
……..
หนังสืออ้างอิง
จังหวัดบุรีรัมย์. 223 ปี. โรงพิมพ์ต่อเขตบุรีรัมย์.มปป.
ชะเอม  แก้วคล้าย. จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7.ศิลปากร.2528.
ศิลปากร,กรม.ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 2. จังหวัดบุรีรัมย์.น่ำกังการพิมพ์.2536.
อนุวิทย์  เจริญศุภกุล.การออกแบบและคติสัญลักษณ์ของปราสาทเมืองต่ำ.นิตยสารศิลปากร ปีที่ 32 เล่มที่ 3.2531.

Comments are closed.