กรณีปราสาทพระวิหาร คณะกรรมการมรดกโลก : ชนวนความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา

กรณีปราสาทพระวิหาร
คณะกรรมการมรดกโลก : ชนวนความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา
รศ. วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
24 ตุลาคม 2552

a2

      เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการเสวนา เรื่อง คณะกรรมการมรดกโลก : ชนวนความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา ซึ่งจัดโดย คณะอนุกรรมาธิการด้านการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ และภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อวันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2552 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2


วัตถุประสงค์ของการเสวนาครั้งนี้ คือ

1. เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อมูล ข่าวสารการดำเนินการของคณะกรรมการมรดกโลกต่อกรณีปราสาทพระวิหาร อันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างไทย – กัมพูชา และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

2. เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาสรุปและประมวลผลเป็นข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ ต่อรัฐบาล เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการเพื่อรักษาอธิปไตยของไทย

3. เพื่อให้มีการชะลอการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะมีข้อยุติ
ก่อนอื่นต้องขอแสดงชื่นชมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ หลายคณะ ตลอดจนภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร ที่มีความจริงใจ จริงจัง จัดกิจกรรม เรื่องปราสาทพระวิหารมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ติดต่อกันมาหลายเดือน เรียกว่ากัดไม่ปล่อย ทั้งนี้เพราะเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ เป็นเรื่องของการพิทักษ์รักษาอธิปไตยเหนือดินแดนของไทย เป็นเรื่องของเกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของความเป็นชาติ ดังนั้นก็คงต้องทำงานกันอย่างหนัก ขอเป็นกำลังใจให้ครับ
การเสวนาได้จัดเป็น 2 ช่วง คือช่วงเช้าเป็นการอภิปรายโดยวิทยากรและช่วงบ่าย เป็นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในทุกภาคส่วน ผมอยู่ร่วมฟังในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายได้ฟังท่านปราโมทย์ หอยมุกข์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลหนองกี่ หัวหน้าค่ายมวยหนองกี่ พาหุยุทธ์ และศูนย์กีฬาหนองกี่ จ. บุรีรัมย์ แล้วก็รีบกลับ เพราะมีภารกิจสำคัญ ก็ยังนึกเสียดายอยู่
ช่วงเช้ามีวิทยากรที่สำคัญคือ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ และนายวสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกจากกรมศิลปากร ส่วนผู้ดำเนินการอภิปราย คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาเหมือนเดิม

สว. คำนูณ สิทธิสมาน เริ่มต้นนำเสนอด้วยการกล่าวชื่นชมรัฐบาลกัมพูชาที่มีความแน่วแน่ มั่นคง ชัดเจน ยืนยันแผนที่ ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องศาลโลกมาตลอด และไม่เคยยอมรับพื้นที่ทับซ้อน ส่วนประเทศไทยโลเล ไม่แน่นอน เคยประกาศจุดยืนและแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของศาลโลก และคัดค้านคำพิพากษาซึ่งขัดต่อหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และ 1907 ที่แบ่งเขตแดนไทยและกัมพูชาโดยใช้เขาปันน้ำ ซึ่งถ้าประเทศไทยยืนยันชัดเจนอย่างแน่วแน่มั่นคงตามนี้ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็ไม่ใช่ที่ทับซ้อน เพราะเราครอบครองอยู่ (ปัจจุบันคนไทยเข้าไปไม่ได้) แต่รัฐบาลไทยในสมัยต่อๆมา ขาดความใส่ใจ กลับให้ความสนใจแผนที่ ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องศาลโลก ตามความต้องการของกัมพูชา จึงเกิดปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สว. คำนูณ เน้นว่า แผนที่ ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องศาลโลก ทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 เป็นเสมือนปีศาจร้ายที่หลอกหลอนคนไทยมาตลอด ถือเป็นการเสียค่าโง่ ครั้งแรก ต่อมาในปี 2542 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีการเจรจาและบรรลุข้อตกลง ที่เรียกว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจจัดทำเขตแดนทางบก หรือ MOU ปี 2543
สว. คำนูณกล่าวว่า ต้นเหตุปัญหาทั้งหมดทั้งปวงเกิดขึ้นจากรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่ลงนามใน MOU ปี 2543 ท่านเล่าว่า ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ข้อมูล MOU ปี 43 คือแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งรวมแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องศาลโลกด้วย เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงเป็นมติคณะรัฐมนตรีปี 43 ยอมรับการใช้แผนที่ดังกล่าว สว. คำนูณเน้นว่าการดำเนินการของรัฐบาลชวน ในเรื่องนี้ อาจทำให้ไทยเราเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร เปรียบเสมือนการปลุกวิญญาญปีศาจร้ายตัวเดิมให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอาละวาดทำลายขวัญของชาวไทย อีกครั้ง ถือว่าเป็นการเสียค่ามหาโง่ครั้งที่ 2 ที่เจ็บปวดกว่าครั้งแรกเสียอีก
และอภิมหาโง่ ครั้งที่ 3 ก็คือ สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี นายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ที่อ้างว่าไม่ได้ขายชาติ ออกแถลงการณ์ร่วม หรือ JOINT COMMUNIQUE เมื่อ วันที่ 22 พฤษภาคม 2551 เวลา 23.35 น. สนับสนุนกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งทำให้ไทยอาจต้องเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร การเสียค่าโง่ครั้งที่ 3 นี้ ร้าวรานใจจริงๆ
ส่วนอภิมหามหาโง่..โง่ ครั้งต่อไป อาจจะเกิดขึ้นได้ หากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่รีบผลักดันให้ชาวกัมพูชาที่บุกรุกเข้ามาออกไป ปล่อยปละละเลย ไม่รีบแก้ไขข้อผิดพลาด ไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ และไม่ฟังเสียงประชาชน หวาดกลัวแต่คู่กรณีที่ข่มขู่ก้าวร้าว จะมีผลทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กับกัมพูชาอย่างแน่นอน คิดแล้วสยอง
สำหรับคุณวสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกหนุ่ม ไฟแรง จากกรมศิลปากร ได้นำเสนอข้อเท็จจริงในความเป็นไปกรณีปราสาทพระวิหารที่ฉ่อฉล พยายามสร้างข้อมูลที่ไม่ถูกต้องทางวิชาการ ทำให้ท่าน ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนประเทศไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถานประเภทหินและการทำแผนบริหารจัดการพื้นที่โบราณสถานในเขตประเทศไทย ในการเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ของราชอาณาจักรกัมพูชา ประกาศแยกตัวจากการทำงานร่วมกับกลุ่มนักวิชาการนานาชาติ เนื่องจากความไม่ถูกต้องของข้อมูลทางวิชาการและการจัดการที่ไม่สามารถยอมรับได้
นอกจากนั้นท่านยังมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานข้อโต้แย้งการประเมินของอีโคโมสสากล และร่วมทำแผนบริหารจัดการพื้นที่เขาพระวิหารและสภาพโดยรอบเพื่อเป็นตัวอย่างของแผนบริหารจัดการที่ถูกต้อง ในการรักษาคุณค่าของโบราณสถานอย่างแท้จริงและครบถ้วย ในนามของอีโคโมสไทยและกรมศิลปากร ซึ่งแผนการจัดการดังกล่าวขัดแย้งกับข้อมูลแผนการจัดการที่ทำโดยกลุ่มนักวิชาการนานาชาติภายใต้การแนะนำของยูเนสโก
การฉ่อฉลสร้างข้อมูลทางวิชาการที่ไม่ถูกต้องของนักวิชาการนานาชาติภายใต้การแนะนำของยูเนสโกนั้น ท่านได้นำเสนอไว้ หลายประเด็น ตัวอย่างเช่น

“นักวิชาการนานาชาติที่นำโดยฝรั่งเศสระบุว่าการวางฝังของปราสาทบนยอดเขานั้นเกี่ยวเนื่องกับโบราณสถานใกล้เคียงที่อยู่เบื้องล่างในเขตกัมพูชาเป็น Buddhist Geometry! ให้ความสำคัญกับมุมมองจากที่ราบด้านล่างย้อนกลับสู่ยอดเขาพระวิหารจากระยะไกล ที่สามารถเห็นยอดเขาที่อยู่ด้านข้างด้วย จากรายงานการตีความของผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า เป็นภาพของภูเขา 5 ยอด ที่หมายถึงเขาพระสุเมรุ แต่ที่ปรากฏในเอกสารล่าสุดของกัมพูชา กลับเปลี่ยนเป็นภูเขา 3 ยอด ที่หมายถึงตรีมูรติ หรือเทพสูงสุดทั้งสามของศาสนาฮินดู นี่คือผลจากการตีความแบบนึกเอาเองจึงเปลี่ยนไปมาได้”
และอีกตัวอย่างหนึ่ง

“เอกสารของกัมพูชาเน้นว่าทางขึ้นสู่ปราสาทพระวิหารที่มีมาแต่เดิมคือบันไดหัก ทางทิศตะวันออก ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุด ด้วยยึดมั่นว่าทางเข้าปราสาทต้องเป็นทิศตะวันออกเท่านั้น และระบุว่า ทางขึ้นทางบันไดใหญ่และสะพานนาคทางทิศเหนือเป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยหลังสุด แม้แต่สระตราว ที่เป็นการสร้างทำนบหินกั้นน้ำบนลานหินจนกลายเป็นสระน้ำที่เรียกว่าบารายของปราสาท ก็ได้เขียนในรายงานว่าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยหลักฐานที่ปรากฏถือได้ว่าทำบนหินที่นี่คือ เขื่อนหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย”
ส่วนอาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม นำเสนอข้อมูลที่ฉ่อฉลในการที่ไทยร่วมสนับสนุนให้กัมพูชาขี้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารแต่เพียงฝ่ายเดียว ท่านร่ายยาวมาเป็นลำดับ ก็ดุเด็ดเผ็ดมันเช่นเดิม
เท่านั้นยังไม่พอ ท่านประธานยังได้เชิญให้คุณวีระ สมความคิด ซึ่งมาฟังการเสวนาอยู่ด้วย ร่วมแสดงความคิดเห็น ได้กล่าวโจมตีรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างดุเดือดตามฟอร์ม เพื่อให้การดำเนินการเสวนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ได้มีการเสิร์ฟห่ออาหารกลางวันให้รับประทานและฟังไปพร้อมกันด้วย จะได้ไม่โมโหหิว

ส่วน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ได้ขอฉันทานุมัติจากเสวนาสมาชิกแต่งตั้งให้ คุณวีระ สมความคิด เป็นแกนนำฝ่ายชาย ในการต่อสู้เรื่องนี้ ส่วนแกนนำฝ่ายหญิงได้แก่ ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ซึ่งเสวนาสมาชิกปรบมือสนับสนุนท่วมท้น

จากนั้นก็เป็นเวลาของอาจารย์ปราโมทย์ หอยมุกข์ อภิปรายในประเด็นปัญหาชายแดนบุรีรัมย์ และการรุกล้ำของเขมร ด้วยลีลาที่เร้าใจและข้อเท็จจริงจากการท่องสำรวจชายแดนร่วมกับทีมงาน ซึ่งน่าสนใจมากมาก

ที่สรุปมาทั้งหมดนี้ เป็นการสรุปตามที่ตนเองเข้าใจ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับคนอื่น หรืออาจไม่ค่อยตรงกับของวิทยากร ก็ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย เนื่องจากอายุมาก หูไม่ค่อยดี

หลังจากนั้นคงจะมีการแสดงทัศนะที่น่าสนใจและหลากหลาย ซึ่งผมรู้สึกเสียดายที่ต้องกลับก่อน
และจากการได้เข้าร่วมเสวนาทั้ง 3 ครั้ง ในครั้งที่ 2 ได้ให้ข้อสังเกตไปแล้ว ส่วนครั้งนี้ก็มีข้อสังเกต เช่นกัน คือ

1. เนื่องจากเรื่องปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องเกี่ยวกับอธิปไตยของชาติ ดังนั้นจุดยืนของคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการในแต่ละคณะจะต้องชัดเจน ไม่ใช่กลับไปกลับมา หรือเขียนข้อความขัดแย้งกันเอง เช่น ข้อความในโครงการเสวนาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ความว่า…”พื้นที่เขตกันชน และองค์ประกอบอื่นๆที่จะมีผลทำให้มรดกโลกมีความสมบูรณ์ ซึ่งจะรวมอยู่ในแผนบริหารจัดการ อันเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปอยู่แล้วว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในดินแดนของราชอาณาจักรไทยและกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาไม่มีสิทธิแอบอ้างนำไปประกอบการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้” ผมอยากรู้ว่าคนเขียนโครงการใส่คำว่า”และกัมพูชา”ลงไปทำไม มันต้องเขียนว่า “…. อันเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปอยู่แล้วว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในดินแดนของราชอาณาจักรไทย ซึ่งกัมพูชาไม่มีสิทธิแอบอ้างนำไปประกอบการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้”

ส่วนอีกข้อความหนึ่ง “คณะอนุกรรมาธิการฯ “….พบว่า ประเทศฝรั่งเศส อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเร็วที่สุด” ผมคิดว่าการระบุชื่อประเทศโดยไม่มีหลักฐานชัดเจนเป็นการไม่เหมาะ ควรใช้เพียงคำว่า “มีบางประเทศ อยู่เบื้องหลัง” น่าจะเหมาะกว่า
ผมไม่ทราบว่าที่ท้วงติงมานี้หยุมหยิมเกินไปหรือเปล่า ก็ พิจารณาดูครับ

2. จากการดำเนินกิจกรรมทั้งสามครั้งของคณะกรรมาธิการฯ นั้น คงจะสามารถสรุปข้อมูลที่ได้จากการเสวนาและประมวลผลเป็นข้อสังเกต ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการเพื่อรักษาอธิปไตยของไทยและชะลอการขึ้นทะเบียนมรดกโลกตามวัตถุประสงค์ได้แล้ว และควรรีบดำเนินการโดยเร็วด้วย อย่าชักช้า ในขณะเดียวกันก็ควรจัดทำข้อมูลที่ได้จากการเสวนาให้กระชับ อ่านเข้าใจง่าย ไม่สลับซับซ้อน เผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบในวงกว้างต่อไป

ส่วนประชาชนในแต่ละกลุ่มจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ว่ากันไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ผมอยากจะจบข้อเขียนนี้ด้วย “หลักธรรม” อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา โดยย่อว่า
“เย ธัมมา เหตุ ปัพพวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญจะ โย นิโรโธ จะ เอวัง วาที มหาสมโณ”
ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตเจ้าตรัสบอกถึงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พร้อมทั้งความดับแห่งเหตุของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้ามีปกติตรัสสอนอย่างนี้
สรุปว่าให้รีบจัดการที่ต้นเหตุ ครับผม

เอกสารอ้างอิง
เทพมนตรี ลิมปพยอม เอกสารประกอบการเสวนา 20 ตุลาคม 2552
วสุ โปษยะนันทน์ เอกสารประกอบการเสวนา 20 ตุลาคม 2552
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – การเมือง วันที่ 2009-10-11 13 : 27 : 44
“คำนูณ” ชี้ ปชป. ยุค “รบ.ชวน” เซ็น MOU ปี 43 ต้นเหตุไทยเสียดินแดนพระวิหารให้เขมร

Comments are closed.