อนุสรณ์สถานประชาชน-อีสานใต้

รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

เผยแพร่ในสารประชาสัมพันธ์ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ฉบับที่ 8 26 กรกฏาคม -1 สิงหาคม 2543

“อนุสรณ์สถานประชาชน-อีสานใต้ เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่ระลึกถึงคุณงามความดีของมิตรสหายที่ได้ร่วมแรงร่วมใจก ันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นประจักษ์พยานว่า ครั้งหนึ่ง เขาหล่านั้นมีอุดมการณ์ร่วมกันในการต่อสู้เพื่อให้อำนาจการปกครองคืนมาสู่ปร ะชาชน”

หากท่านขับรถมาจากอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ ไปทางอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ตามทางหลวงหมายเลข 2119 ขับไปประมาณ 20 กิโลเมตร ทางซ้ายมือจะเป็นวัดโคกเขา มองไปจะเห็นยอดอาคารสีขาวสูงเด่นเป็นสง่าเหนือทิวไม้ ถ้าแวะเข้าไปก็จะรู้้ว่า สิ่งที่เห็นแต่ไกลนั้น คืออนุสรณ์สถานประชาชน-อีสานใต้

อนุสรณ์สถานประชาชน-อีสานใต้ สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของประชาชนที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ในเขตป่าเขา เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ในช่วงปี พ.ศ. 2519-2523 ประชาชนที่เสียชีวิตเหล่านี้ มีทั้งขาวนา ชาวไร่ นิสิตนักศึกษา ที่หลบหนีภัยเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท) ในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ

ในเขตอีสานใต้ กองทัพปลดแอกประชาชน (ทปท) และกองกำลังของ พคท ได้ต่อสู้กับทหารฝ่ายรัฐบาลเป็นเวลายาวนาน และทั้งสองฝ่ายได้สูญเสียทรัพย์สินและชีวิตผู้คน ซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันไปเป็นจำนวนมาก จนถึงปี พ.ศ. 2523 อำนาจการปกครองประเทศได้ถูกถ่ายโอนจากรัฐบาลเผด็จการมาสู้รัฐบาลประชาธิปไตย ทำให้การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธยุติลงอย่างสิ้นเชิง ขนวนการผู้รักชาติรักประชาธิปไตย นักเรียนนักศึกษา ประชาชน ชาวไร่ ชาวนา ได้พากันออกจากป่าและแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ เมื่อตั้งหลักปักฐานได้ พวกเขาได้ตั้งคณะทำงานเพื่อขุดหาศพของผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้ซึ่งได้ฝังไว้ในเขต ป่า

ในปี พ.ศ. 2538 ญาติมิตรของผู้เสียชีวิตและคณะทำงานขุดค้นหาศพ ได้ร่วมกันนำอัฐิที่ขุดหามาได้ทำพิธีฌาปณกิจ และได้ร่วมกับประชาชนทั่วไปบริจากทรัพย์สร้างเป็นสถูป หรืออนุสรณ์สถาน เสร็จสมบูรณ์เมื่อ ปี พ.ศ. 2539

อนุสรณ์สถานประชาชน-อีสานใต้ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดโคกเขา ตำบลโคกมะม่วง อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมตัดมุมเป็นแปดเหลี่ยม ก่อด้วยอิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมที่ทำเป็นบันไดทางขึ้น ตังอาคารทำเป็นห้องมีประตูทางเข้า ภายในเก็บรักษาอัฐิที่แยกไว้ในโถเคลือบ และจารึกนาม ผนังด้านนอกจารึกนามผู้เสียชีวิต ส่วนยอดทำเป็นทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมสอบขี้นไปคล้ายคอขวด ยอดสุดทำเป็นรูปโดมทรงปราสาท มีความสูงประมาณ 18 เมตร บริเวณโดยรอบเป็น ลานกว้าง พื้นปูด้วยหินทราย ขอบลานด้านหนึ่งสร้างเป็นอัฒจันทร์ สำหรับนั่งพักผ่อนหรือชมกิจกรรม ส่วนด้านอื่นปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

อนุสรณ์สถานประชาชน-อีสานใต้ เกิดขึ้นจากกลุ่มบุคคลที่ระลึกถึงคุณงามความดีของมิตรสหายที่ได้ร่วมแรงร่วม ใจกันต่อสู้เพืื่อประชาธิปไตย เป็นประจักษ์พยานว่า ครั้งหนึ่งเขาเหล่านั้นมีอุดมการณ์ร่วมกันในการต่อสู้เพื่อให้อำนาจการปกครอ ง คืนมาสู่ประชาชน ขอคารวะอย่างจริงใจ แด่ดวงวิญญาณของผู้กล้า ที่สละชีพเพื่อชาติและประชาชน

ที่ที่ มีเพื่อน มีญาติมิตร

มีเลือดเนื้อ ชีวิต ยิ่งใหญ่

เก็บฝัง อดีตไว้ ในดวงใจ

หว่านฝัน เราไป ให้งอกงาม

กองทุนอนุสรณ์สถานประชาชน-อีสานใต้

หนังสืออ้างอิง

จังหวัดบุรีรัมย์ 223 ปี บุรีรัมย์. ต่อเขตการพิมพ์.2543.

Brochure กองทุนอนุสรณ์สถาน-อีสานใต้

Comments are closed.