วัดพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุประจำปีเกิด ปีฉลู

วัดพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุประจำปีเกิด ปีฉลู

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

ถ้าเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เส้นทางสายเอเชียจากกรุงเทพฯ และจากนครสวรรค์ ไปกำแพงเพชร ตาก ลำปาง ตามทางหลวงหมายเลข 1 ก่อนถึงตัวจังหวัดลำปางประมาณ 15 กิโลเมตร มีทางลัดซ้ายมือ (สังเกตง่ายเพราะมีรถม้าลำปางตั้งอยู่ให้เห็นเป็นสำคัญ) แยกซ้ายอกเภอเกาะคา ไปอำเภอห้างฉัตร ตามทางหมายเลข 1034 ตัดไปยังทางหลวงหมายเลข 11 ลำปาง – เชียงใหม่ ถ้าใช้เส้นทางนี้ จะช่วยลดระยะทางลงได้ประมาณ 17 กิโลเมตร แต่ที่น่าสนใจก็คือ เส้นทางลัดนี้ จะผ่านวัดที่สำคัญของจังหวัดลำปาง คือ วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดสำคัญเก่าแก่คู่เมืองนครลำปางมาแต่โบราณกาล ตั้งอยู่ที่ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากอำเภอเกาะคา ตามทางหมายเลข 1034 ประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นพระธาตุประจำปีเกิด ปีฉลู เกี่ยวกับพระธาตุประจำปีเกิดนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสิ้นอายุแล้ว ดวงวิญญาณจะไปสถิตอยู่ตาม พระธาตุเจดีย์ต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่ ถ้าได้ไปนมัสการยังพระธาตุประจำปีเกิดก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตน และมีอายุมั่นขวัญยืน ในสมัยก่อน มีการเขียนภาพ พระธาตุประจำปีเกิดแขวนไว้ที่บ้านเพื่อสักการะบูชาด้วย

วัดพระธาตุลำปางหลวง ตามตำนานเก่าแก่กล่าว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงบริเวณนี้ มีชายผู้หนึ่งชื่อลวะอ้ายกอน มีความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ ได้ถวายน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้าง มะพร้าวและมะตูม เมื่อพระองค์ฉันเสร็จแล้ว ทรงโยนกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ และทรงพยากรณ์ว่า สถานที่นี้ต่อไปจะมีผู้สร้างเมืองชื่อว่า “กลัมภกัปปะนคร” และภายหลังที่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว จะมีพระอรหันต์ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ที่พระเจดีย์เมืองลำปาง กาลต่อมาเจดีย์ชำรุดทรุดโทรมลง และพระเจ้าจันทรเทวราช เจ้าเมืองสุวรรณภูมิทราบข่าว ว่ามีพระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ จึงได้เกณฑ์ไพร่พลมาขุดเอาไปไว้เมืองสุวรรณภูมิ และทำการสมโภช ซึ่งพระบรมธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์ โดยปรากฎเป็น ลำแสงลอยขึ้นท้องฟ้าแล้วหายไป พระเจ้าจันทรเทวราชได้ติดตามมาจนถึงเมืองลำปาง และพบพระบรมธาตุในเจดีย์ดังเดิม จึงโปรดฯ ให้ขุดแต่งเจดีย์พร้อมกับก่อเจดีย์ครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง

ครั้งถึงปี พ.ศ. 1992 เจ้าหาญแต่ท้องราชบุตรของเจ้าหมื่นด้งนคร ผู้ครองเมืองลำปาง ได้สร้างพระเจดีย์ครอบพระบรมธาตุด้วยอิฐโบกปูนฐานกว้าง 9 วา สูง 15 วา พร้อมกับสร้าง พระพุทธบาทขึ้นทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระเจดีย์องค์นั้น
ปี พ.ศ. 2019 เจ้าหมื่นคำเป๊กได้บูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวงอีก โดยสร้างวิหารหลวงและกำแพงแก้วรอบเขตพุทธาวาส พร้อมหล่อพระพุทธรูปขึ้น
พ.ศ. 2036 เจ้าหาญศรีธัตถมหาสุรมนตรี ผู้ครองเมืองลำปางได้ร่วมกับสังฆะกับเจ้าพันนักบุญทำการเสริมสร้างเจดีย์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น คือ มีฐานกว้าง 12 วา สูง 21 วา และประดับองค์เจดีย์ด้วยแผ่นทองจังโก (แผ่นทองเหลืองตีเป็นแผ่นบาง ๆ ใช้แผ่หุ้มองค์เจดีย์)
พ.ศ. 2262 พระมหาวนาสี วัดไหล่หินได้ร่วมกับพระมหาพลปัญโญ วัดป่าตัน และเหล่าพระสงฆ์ได้ร่วมกันหล่อทองคำใส่ยอดพระธาตุ (สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ. 2542 : 4445)
ในระหว่าง พ.ศ. 2101 – 2317 เป็นช่วงที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองเหนือต่าง ๆ รวมทั้งเขลางค์นคร หรือเมืองลำปางด้วย พม่าได้ปกครองอยู่เป็นเวลานานถึง 216 ปี และได้กดขี่ขมเหงชาวเมืองต่าง ๆ นา ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในระหว่างหัวเมืองเหนือทั้งปวง แต่ชาวเมืองเหนือก็ได้พยายามต่อสู้หลายครั้งแพ้บ้าง ชนะบ้างเป็นครั้งคราว
และครั้งที่สำคัญ ของนครลำปาง ก็คือในปี พ.ศ. 2275 หนานทิพย์ช้าง หรือพระยาสุลาวฤาไชยสงคราม ได้ต่อสู้กับท้าวมหายศ แม่ทัพชาวพม่า ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ท้าวมหายศถูกหนานทิพย์ช้างยิงตาย ที่รั้วทองเหลืองล้อมองค์พระธาตุ ยังปรากฎรอยลูกปืนที่กองทัพพม่ายิงหนานทิพย์ช้างแต่ไม่ถูก จากนั้นหนานทิพย์ช้างได้ครองเมืองลำปาง และผู้สืบสกุลได้บูรณะซ่อมแซมวัดพระธาตุลำปางหลวงตลอดมา

ทั้งนี้เพราะวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นเสมือนอนุสรณ์สถานของหนานทิพย์ช้าง บรรพบุรุษของเจ้าเจ็ดตน อันเป็นที่มาของสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง และ ณ ลำพูน
วัดพระธาตุลำปางหลวงมีศาสนสถานที่สำคัญ ดังนี้
1. องค์พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมสูงย่อมุม กว้าง 24 เมตร สูง 45 เมตร กำแพงแก้ว ลูกกรงสำริด ยอดดอกบัว ล้อมรอบองค์ระฆังทรงกลมแบบล้านนาผสมทรงลังกา มีลัดอก องค์เจดีย์บุด้วยทองจังโก ทำเป็นลายประจำยามที่ไม่ซ้ำแบบกันกว่าร้อยลาย ตามตำนานกล่าวว่า เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระนลาฏข้างขวา ส่วนลำคอด้านหน้าและด้านหลัง

2. วิหารหลวง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งตามแนวตะวันออก ตะวันตก แนวเดียวกับพระธาตุเจดีย์ และประตูโขง มีขนาดกว้าง ประมาณ 17 เมตร ยาวประมาณ 36 เมตร มีเสาทั้งหมด 36 ต้น เป็นวิหารโถงแบบล้านนา พื้นยกสูงประมาณ 50 ซ.ม. หลังคาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ด้านหลัง 2 ชั้น ด้านหน้า 3 ชั้น ด้านในแผงคอสองมีภาพจิตรกรรมเรื่องทศชาติ และพรหมจักร ซึ่งเขียนขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ในวิหารเป็นมณฑปก่ออิฐถือปูนทรงปราสาทยอดแหลมลงรัก ปิดทอง ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าล้านทอง สร้างเมือง พ.ศ. 2019 โดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก

3. ซุ้มประตูโขง เป็นซุ้มประตูยอดแหลมเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีซุ้ม 4 ทิศ ก่อด้วยอิฐถือปูนประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้น เป็นซุ้มที่ใช้เป็นตราจังหวัดลำปางด้วย
และเมื่อปี พ.ศ. 2531 กรมศิลปากรได้บูรณะซุ้มประตูโขงนี้ โดยขูดปูนสีขาวที่พอกทับกันมานานออกหมดจนเห็นผิวเดิม ทำความสะอาดและเคลือบน้ำยากันเชื้อรา ทำให้เห็นลวดลายคมชัดยิ่งขึ้น ราวบันไดทางขึ้นไปยังประตูโขง ทำเป็นมังกรคายนาค เชิงบันไดประดับด้วยสิงห์ขนาดใหญ่ 2 ตัว

4. วิหารพระพุทธ เป็นวิหารไม้ทึบ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 25 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน ปางมารวิชัย องค์ใหญ่หน้าตักกว้าง 40 นิ้ว ภายในวิหาร เมื่อปิดประตูจะเห็นเงาพระธาตุด้วย
เงาพระธาตุ คือเงาสะท้อนองค์พระธาตุปรากฎตลอดเวลาที่มีแสงสว่าง เช่นเดียวกับที่ปรากฎที่วัดพระธาตุจอมปิง อำเภอเกาะคา วัดอักโขชัยศรี และวัดผาแดงหลวง อำเภอแจ้ห่ม วิหารพระพุทธ ไม่ปรากฎชื่อผู้สร้าง แต่คงมีอายุไม่น้อยกว่า 700 ปี วิหารนี้ซ่อมเมื่อปี พ.ศ. 2345

5. วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ ภายในมีภาพจิตรกรรมที่คอสองเรื่องท้าวสักกะ และเรื่องพระนางสามาวดี เป็นนิทานชาดกนอกนิบาต อธิบายพระสูตรในพระไตรปิฏก สาระของเรื่องกล่าวถึง ผลของการครองตน เน้นกรรมดี กรรมชั่ว

6. พระอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019 ปฏิสังขรณ์ พ.ศ. 2467

7. กุฏิพระแก้ว ไม่ปรากฎชื่อผู้สร้างมีอายุไม่น้อยกว่า 400 ปี เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกต

พระธาตุลำปางหลวง สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นวัดที่มีความสำคัญ ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์รวมความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนแล้ว ภายในวัดยังมีพระอุโบสถ วิหาร สถูปเจดีย์ และภาพจิตรกรรมฝาผนัง และศิลปะวัตถุอื่น ๆ เช่น ธรรมาสน์ ฯลฯ ศิลปะแบบล้านนาให้ได้ศึกษาอีกด้วย และถึงแม้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดลำปางที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชื่นชมความงามเป็นจำนวนมากทุกวัน แต่ทางวัดก็มิได้หาประโยชน์จากนักท่องเที่ยวเหมือนกับที่วัดอื่น ๆ กระทำกัน ร้านค้าขายที่เคยตั้งอยู่ชิดกับกำแพงแก้ว อันทำให้เสียภูมิทัศน์ ปัจจุบันก็ได้ย้ายให้อยู่ไกลออกไป ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย สมกับเป็น ศาสนสถานอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ควรแก่การเคารพบูชา ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นแบบอย่างที่งดงามของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ควรส่งเสริมให้แพร่หลายไปยังวัดต่างๆ เพื่อสร้างความเจริญตาเจริญใจให้แก่ผู้พบเห็นและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

หนังสืออ้างอิง

วิชาการ, กรม. ลำปาง นครเขลางค์แห่งลุ่มน้ำวัง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2541.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารพาณิชย์,
2542.

Comments are closed.