พระมหาธาตุ “นภเมทนีดล นภพลภูมิสิริ”

ยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่นั้น นอกจากจะเป็นยอดดอยที่มีความสูงที่สุดในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระมหาธาตุ 2 องค์ คือ พระมหาธาตุ “นภเมทนีดล” และ พระมหาธาตุ “นภพลภูมิสิริ” ซึ่งกองทัพอากาศสร้างขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นมิ่งมงคล และเจริญพระบุญญาบารมีของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทั้งสองพระองค์ให้แผ่ไพศาลปก เกล้าชาวไทยทั่วแผ่นดินให้ร่มเย็นเป็นสุขชั่วนิรันดร์ ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ

พระมหาธาตุเจดีทั้ง 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ที่ทางแยกด้านซ้ายมือ ถนนขึ้นยอดดอย อินทนนท์ (ถนนจอมทอง – อินทนนท์) ตรงหลังกิโลเมตรที่ 41.5 สร้างอยู่บนเนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา ประกอบด้วยลานกว้างระหว่างยอดดอย 2 ดอย ตรงลานกว้าง มีแผ่นป้ายแสดงข้อมูล นามขององค์พระมหาธาตุ และมีบันไดทางขึ้นไปยังพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดดอย ยอดละ 1 องค์ โดยพระมหาธาตุ นภเมทนีดล ประดิษฐานบนยอดดอยด้านซ้ายมือ และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ประดิษฐานบนยอดดอยทางด้านขวามือ การจัดผังบริเวณ และการจัดสวนดอกไม้ประดับ สามารถสร้างความสัมพันธ์กับสภาพภูมิประเทศได้เป็นอย่างดี ทำให้องค์พระมหาธาตุทั้งสอง ดูสง่างามท่ามกลางแมกไม้และขุนเขาที่สูงเสียดฟ้านี้ได้อย่างหมดจดงดงามยิ่ง
พระมหาธาตุทั้งสององค์มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือมีรูปเหลี่ยมที่เกิดจากการออกแบบด้วยเส้นตรงตัดกัน สะท้อนให้เห็นถึงความหนักแน่นมั่นคงด้านพระปฏิธานอันแน่วแน่ของทั้งสอง พระองค์ที่ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชภารกิจทั้งปวง โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความเหนื่อยยากและภยันตรายใด ๆ เพื่อความสุขและความั่นคงไพบูลย์ของพสกนิกรชาวไทย

พระมหาธาตุนภเมทนีดล
พระมหาธาตุ นภเมทนีดล เป็นเจดีย์ 8 เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ 2 ชั้น แต่ละชั้นมีกำแพงแก้วล้อมรอบ เหนือกำแพงแก้วทั้งสองชั้นทำเป็นซุ้มประดับด้วยภาพปั้นดินเผาจากด่านเกวียนทั้ง 2 ด้าน รวมทั้งผนังของเรือนธาตุด้วย โดยใช้ เรื่องทศชาติ ธรรมชาติจากป่าหิมพานต์ และรูปปีกสัญลักษณของกองทัพอากาศ ฐานทักษิณมีบันไดทางขึ้นไปยังเรือนธาตุ ที่มีประตูทางเข้า 4 ประตู เหนือกรอบทุกประตูประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ “ภ ป ร” ถัดจากเรือนธาตุขึ้นไปเป็นองค์ระฆังที่มีมาลัยเถา 3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ทำเป็นกลีบบัว 8 กลีบ ส่วนปลียอดสีทองทรงดอกบัวตูม 8 เหลี่ยม ยอดสุดเป็นฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น ผิวนอกองค์เจดีย์ประดับด้วยโมเสกสี น้ำตาล สูงจากชานพักชั้นล่างถึงยอดปลี 60 เมตร
ภายในเรือนธาตุ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร หน้าตักกว้าง 60 นิ้ว แกะสลักด้วยหินแกรนิตสีเขียวจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธบรมศาสดานวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา สร้างเป็นอนุสรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระชนมพรรษา 60” ผนังเรือนธาตุ 4 ด้าน ประดับด้วยภาพแกะสลักด้วยหินแกรนิตสีเขียวของไทย เป็นภาพพระพุทธประวัติตอนประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน เพดานเรือนธาตุประดับด้วยโมเสกแก้วเป็นรูปดอกสาระ ต้นไม้มงคลในพระพุทธศาสนา
ที่ส่วนปลียอดขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ได้มาจาก พระวิหารเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกาส่วนหนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ส่วนหนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุจากพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ประทานให้ส่วนหนึ่ง และข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมอนุโมทนาให้ส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นยังได้ประดิษฐานพระพุทธบรมศาสดาจำลอง จำนวน 999 องค์ จารึกนามผู้บริจาคเป็นพุทธบูชาด้วย
การออกแบบพระมหาธาตุ ซึ่งนอกจากจะออกแบบให้มีรูปแบบแปลกใหม่แตกต่างไปจากพระมหาธาตุในอดีตแล้ว ยังใช้ข้อธรรมะที่สำคัญของพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการคิดค้นในส่วนรายละเอียดอีกด้วย ดังนี้
นามพระมหาธาตุ นภเมทนีดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้มีความหมายว่า “พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ยิ่งใหญ่ เพียงฟ้าจรดดิน”

รูปทรง เจดีย์ 8 เหลี่ยม หมายถึง มรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นทางปฏิบัติไปสู่การหลุดพ้น
มาลัยเถา 3 ชั้น หมายถึง บารมี 3 ชั้น ชั้นละ 10 ทัศ คือ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี รวมเรียกว่า บารมี 30 ทัศ
ยอดปลีสีทองรองรับด้วยบัลลังก์กลีบบัวบาน 8 กลีบ หมายถึง การตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธปรินิพพาน
โมเสกสีน้ำตาล แสดงถึงความหนักแน่นมั่นคง และสง่างามอย่างนักรบ
ความสูง 60 เมตร เพื่อเป็นนิมิตหมายถึง การสร้าง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา

พระมหาธาตุ นภพลภูมิสิริ

พระมหาธาตุ นภพลภูมิสิริ เป็นเจดีย์ 12 เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ 2 ชั้น แต่ละชั้นมีกำแพงแก้วล้อมรอบ เหนือกำแพงแก้วทั้งสองชั้น มีซุ้มที่ประดับด้วยภาพปั้นดินเผาเคลือบสีน้ำตาลทั้ง 2 ด้าน โดยใช้เรื่องของเหล่าอุบาสิกาที่พระพุทธเจ้าประกาศ ให้เป็นเลิศกว่าเหล่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งภาพสวรรค์ประเภทกามาวจรภูมิ 6 ชั้น ที่มนุษย์พึงบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ตามหลักพระพุทธศาสนา ฐานทักษินมีบันไดทางขึ้นไปยังเรือนธาตุ ที่มีประตูทางเข้า 3 ประตู เหนือกรอบทุกประตูประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ “ส ก” ผนังเรือนธาตุประดับด้วยภาพปั้นดินเผาระบายสีส่วนรวมเป็นสีม่วง เรื่องเหล่าภิกษุณีที่พระพุทธเจ้าประกาศให้เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในด้านต่าง ๆ ถัดจากเรือนธาตุขึ้นไปเป็นองค์ระฆังที่มีมาลัยเถา 4 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ 12 เหลี่ยม ส่วนปลียอดทำเป็นกลีบบัว 12 กลีบ สีทองทรงดอกบัวตูม 12 เหลี่ยม ยอดสุดเป็นฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น ผิวนอกองค์พระเจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีม่วง สูงจากชานพักชั้นล่างถึงยอดปลี 55 เมตร
ภายในเรือนธาตุ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง พระประจำวันศุกร์ อันเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สูง 3.20 เมตร แกะสลักด้วยหินหยกสีขาว จากประเทศจีน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานนามว่า “พระพุทธสิริกิติทีฆายุมงคล” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นสิริมงคล และทรงเจริญพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ภายในพระเกศโมลีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงบรรจุให้ด้วยพระองค์เอง ผนังเรือนธาตุ ตอนล่าง ประดับด้วยภาพแกะสลังด้วยหินแกรนิต ภาพพระราชกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 3 กลุ่มภาพ ผนังตอนบนประดับด้วยโมเสกแก้ว ออกแบบการจัดภาพ และสีด้วยคอมพิวเตอร์สั่งทำพิเศษจากประเทศอิตาลี เป็นเรื่องเกี่ยวกับนางสิริมหามายา พุทธมารดา พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางพิมพายโสธรา และพระนางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้มีบทบาทในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา รวม 12 ภาพ เพดานเรือนธาตุประดับด้วยโมเสกแก้วเป็นรูปดอกสาระ
ที่ส่วนปลียอดขององค์พระมหาธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ได้มาจาก พระวิหารเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกาส่วนหนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชีนีนาถพระราชทานให้ส่วนหนึ่ง พระบรมสารีริกธาตุจากพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานให้ส่วนหนึ่ง และข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมอนุโมทนาให้ส่วนหนึ่ง และกองทัพอากาศ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปคุ้มเกล้า ประดิษฐานไว้รอบพระบรมสารีริกธาตุเป็นพุทธบูชาในนามผู้มีอุปการคุณต่อกองทัพอากาศจำนวน 103 องค์ นอกจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถยังได้พระราชทานพระพุทธโลกนาถสิริคุณ สมเด็จ นางพญาจิตลัดดา พระสังกัจจายน์ สก. ให้บรรจุเพื่อเป็นพุทธบูชาอีกส่วนหนึ่งด้วย
การออกแบบพระมหาธาตุ มุ่งเน้นที่รูปแบบแปลกใหม่และใช้ข้อธรรม ที่สำคัญของพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการคิดค้นในส่วนรายละเอียด ดังนี้
นามพระธาตุ “นภพลภูมิสิริ” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ พระราชทาน ให้มีความหมายว่า “เป็นกำลังแห่งฟ้า เป็นสิริแห่งดิน”
รูปทรงเจดีย์ 12 เหลี่ยม หมายถึงอัจฉริยธรรม 12 ประการ ของพระพุทธมารดาอันเป็นผลแห่งการบำเพ็ญทาน และทรงตั้งปณิธานปรารถนาเป็นพระพุทธมารดาในอดีตชาติ
มาลัยเถา 4 ชั้น ช่วงบนแบ่งเป็นชั้นเล็กๆ 25 ชั้น เมื่อรวมกับฐานที่รองรับยอดปลีสีทองที่ทำเป็นชั้นเล็กๆ 8 ชั้น และแบ่งเป็นชั้นใหญ่น้อยรวม 37 ชั้น แสดงความหมายถึง โพธิปักขิยธรรม หรือธรรมอันเป็นไปในฝักฝ่ายแห่งโพธิญาณ 37 ประการ
โมเสกสีม่วง เพื่อให้มีความอ่อนหวานงดงามตามลักษณะความงามของกุลสัตรีไทย
ความสูง 55 เมตร ซึ่งต่ำกว่าพระมหาธาตุนภเมทนีดล 5 เมตร เพื่อแสดงความหมายถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงอ่อนพระพรรษากว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 5 พรรษา
พระมหาธาตุเจดีย์ นภเมทนีดล และ นภพลภูมิสิริ ที่กองทัพอากาศสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ พระบรมราชินีนาถนั้น เป็นความภาคภูมิใจของกองทัพอากาศและปวงชนชาวไทยที่ได้ร่วมกันสร้างสถานที่สำคัญไว้บนยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเทิดทูลและความจงรักภักดีที่มีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อย่างหาที่เปรียบมิได้ ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้เสด็จมาทรงรับเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2532 และ 8 มีนาคม 2536
ขออนุภาพแห่งพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐานอยู่ในพระมหาธาตเจดีย์ทั้งสององค์ จงคุ้มครองและดลบันดาลให้ประเทศไทยร่มเย็น เป็นสุข เจริญรุ่งเรือง มั่งคังและไพบูรณ์ ขอกุศลที่กองทัพอากาศและพสกนิกรชาวไทย น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายนี้ จงสัมฤทธิ์เพิ่มพูนให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระเกษมสำราญ จงเจริญด้วยพลานามัย ผองภัยมิอาจกล้ำกราย พระบรมเชานุภาพแผ่ขยายไปทั่วหล้า ขอพระบารมีคุ้มครองเหล่าพระสกนิกรชาวไทยชั่วนิรันดร์

หนังสืออ้างอิง
คณะกรรมการงานพระมหาธาตุเจดีย์. นภเมทนีดล และ นภพลภูมิสิริ. พิมพ์เนื่องในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา. ม.ป.ป.

Comments are closed.