ปราสาทพระวิหาร : สัจจะแห่งกาลเวลา

ปราสาทพระวิหาร : สัจจะแห่งกาลเวลา 

พลังบันดาลความรักและความเมตตากรุณาให้เกิดแก่มวลมนุษยชาติ

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน  สารประชาสัมพันธ์ประจำสัปดาห์   สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์

ปีที่  23 ฉบับที่ 27    วันที่ 6 – 12  ตุลาคม  2541

a3

                มีคนไทยเป็นจำนวนมากใฝ่ฝันที่จะได้ชื่นชมความงามของปราสาทพระวิหาร  ที่ตั้งอยู่บนภูเขา เขตชายแดนประเทศไทย-กัมพูชา  ด้านจังหวัดศรีสะเกษ  แต่เนื่องจากปัญหาการเมืองในกัมพูชา  จึงทำให้ไม่สามารถขึ้นไปชมได้  ก็ได้แต่วนเวียนไปมาแถวผามอดีแดงที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน  ซึ่งก็พอมองเห็นได้ในระยะไกล  ดังนั้น  เมื่อสถานการณ์การเมืองดีขึ้น  จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดพระวิหารของกัมพูชา ได้เลงเห็นถึงความจำเป็นที่จะนำทรัพยากรทางวัฒนธรรมแห่งนี้มาใช้ เพื่อสู้ภัยเศรษฐกิจ  จึงได้เปิดให้ประชาชนได้ขึ้นไปชม  เริ่มตั้งแต่วันที่ 1  สิงหาคม  เป็นต้นมา  ซึ่งปรากฏว่า  มีประชาชนพากันหลั่งไหลขึ้นไปชมเป็นจำนวนมากทุกๆวัน  บางคนชมแล้วก็กลับไปชมอีก  เพราะทุกครั้งที่ไปก็ได้ดื่มด่ำกับความยิ่งใหญ่และความงามที่ไม่รู้เบื่อไปเสียทุกครั้ง  และจากการที่มีประชาชนไปชมกันเป็นจำนวนมากก็ทำให้เป็นที่วิตกไปว่า  สมบัติทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติแห่งนี้จะแหลกลาญไปเพราะไปเพราะผู้คนเสียละกระมัง  ก็ได้แต่ภาวนาว่า  เหตุการณ์เช่นนี้จะค่อยๆคลี่คลายและทุเลาเบาบางลงในไม่ช้า

 

               เขาพระวิหารตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงเร็ก (ภาษาเขมรแปลว่าไม้คาน) ซึ่งมีความสูงจากพื้นดิน 547 เมตร และสูงกว่าระดับน้ำทะเล 657  เมตร  เป็นภูเขาที่กั้นเขตชายแดนไทย-กัมพูชาด้านทิศตะวันออก (ทิศเหนือของกัมพูชา) ที่บ้านภูมิซรอล (ภูมิ = บ้าน ซรอล =  ต้นสน ) ตำบลบึงมะลู (มะลู = พลู ) อ. กันทรลักษ์ (ภาษาไทย = อำเภอที่มีช่องเขาเป็นแสน) จ. ศรีสะเกษ  ระหว่างช่องโพย (ตะวันตก) กับช่องทะลาย เขตติดต่อประเทศกัมพูชา

                การเดินทางไปชมปราสาทพระวิหารก็สะดวกสบายมาก ระยะทางจากบุรีรัมย์ประมาณ 250  กิโลเมตรเท่านั้น โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 226 บุรีรัมย์ – สุรินทร์  แยกเข้าทางหลวง 2077  ไปอำเภอลำดวนและอำเภอสังขะ  จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 24  ไปอำเภอขุขันธ์ อำเภอกันทรลักษ์ และเข้าทางสาย 221 ไปเขาพระวิหาร  แต่ถ้ามาจากรุงเทพฯ ก็แยกจากทางหลวงหมายเลข 2 ที่อำเภอสีคิ้ว โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 24 โชคชัย – เดชอุดม จะผ่านอำเภอหนองบุญนาค* อำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย อำเภอปราสาท และอำเภอขุขันธ์ตามลำดับ ระยะทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 600 กิโลเมตรเท่านั้น 

                แต่เดิมนั้นปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตประเทศไทย แต่เมื่อปี พ.ศ. 2502 ได้เกิดกรณีพิพาท โดยทางกัมพูชาอ้างว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และได้ฟ้องร้องต่อศาลโลก  จนในปี พ.ศ. 2505  ศาลโลกได้พิพากษาว่า “ซากปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ทั้งนี้เป็นไปตามแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นตามสนธิสัญญา พ.ศ. 1447 และ พ.ศ. 2450  โดยอาศัยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยพึงเฉย มิได้ประท้วงแผนที่ดังกล่าว” (ธิดา สารยา.2536: 99)

                ปราสาทพระวิหาร  เป็นปราสาทขนาดใหญ่สร้างด้วยหินทราย ตั้งอยู่บนภูเขาสูง หันหน้าไปทางทิศเหนือ อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16   เป็นศิลปะเขมรสมัยบาปวน (ประมาณ พ.ศ. 1550-1600) รุ่งเดียวกับปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเทวสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ ในลัทธิไศวนิกายที่นับถือองค์พระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด เป็นศาสนสถานที่เกี่ยวข้องกับผู้คนมากมายหลายเผ่าพันธ์ หลายคติความเชื่อ ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณนี้

                การเข้าชมปราสาท จะต้องเดินขึ้นบันได  ซึ่งมีความสูงมาก ขึ้นไปบนลานที่ทำเป็นประตูทางเข้า ลานมีทั้งหมด 4 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยบันไดทางขึ้น โคปุระหรือประตูทางเข้าและทางเดินเชื่อมต่อกัน  มีความยาวจากบันไดทางขึ้นถึงองค์ปราสาทประธานประมาณ 800  เมตร

                ลานชั้นที่หนึ่งและสอง ทำเป็นซุ้มประตูขนาดใหญ่แบบเดียวกับซุ้มประตูศาสนสถานเขมรทั่วๆไป  แต่ไม่มีกำแพงแก้วหรือระเบียงคดล้อมรอบ  ใช้สำหรับทำสมาธิบูชาพระผู้เป็นเจ้าก่อนถึงองค์เทวลัย

                ลานชั้นที่สาม  เป็นประตูทางเข้าที่มีอาคารประกอบเป็นปีกทั้งสองข้าง  น่าจะเป็นที่พักสำหรับผู้มาแสวงบุญ

                ลานชั้นที่สี่  เป็นประตูทางเข้าสู่มหามณเฑียรที่มีระเบียงคดล้อมรอบ  และต่อเนื่องไปยังมหาปราสาทหรือเทวลัย  ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาคารทั้งหมด  ตรงกลางเป็นปราสาทประธานซึ่งประดิษฐานศิวลึงค์ มีระเบียงคดล้อมรอบ  ปัจจุบัน ปราสาทประธานได้พังทะลายลงแล้ว ยังเหลือแต่มณฑปด้านหน้า

                ด้านหลังระเบียงคดปราสาทประธาน เป็นชง่อนผาที่สามารถชมทิวทัศน์และบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติของดินแดนเขมรต่ำได้เป็นอย่างดี

                ปราสาทพระวิหารศาสนบรรพตที่ เอเตียน เอโมนิเยอร์ (Etiene Aymoier) ได้พรรณาไว้เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วว่า “ในบรรดาศาสนสถานในประเทศกัมพูชาทั้งมวล ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าศาสนสถานที่เขาพระวิหารมีความเด่นและความงดงามเป็นที่สุด” และ ชาลส์ เนลสัน สปิงค์ (Charles Nelson Spinks) ผู้ที่ศึกษาโบราณสถานแห่งนี้อย่างละเอียด กล่าวว่า “ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางโบราณคดีแห่งหนึ่งของเอเซียอาคเนย์…ความมโหฬารของที่ตั้งท่ามกลางป่าเขาและความยิ่งใหญ่ของแผนผังปราสาท  อาจจัดเทียบปราสาทเขาพระวิหารแห่งนี้กับโบโรพุทโธในเกาะชวา  หรือแม้แต่การเทียบเทียมกับความเป็นเลิศทางสถาปัตยกรรมของเขมรอันได้แก่ประสาทนครวัดที่ไม่มีอะไรเทียบเทียมได้” (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์.2536: 32ม34)  และถ้าท่านมีโอกาสได้ไปสัมผัสโบราณสถานแห่งนี้แล้ว  จะพบว่า  คำกล่างข้างต้นนั้น  ไม่เกินเลยความจริงแต่อย่างใด เพราะศาสนบรรพตแห่งนี้มีทั้งความงดงามที่ได้สัดส่วน  ความน่าสพึงกลัวที่เป็นพลังอำนาจลี้ลับบันดาลความรักและความเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นแก่มวลมนุษย์  มีเสน่ห์ที่ชวนให้หลงไหลกับบรรยากาศของแต่ละช่วงเวลาที่จะตรึงตาตรึงใจท่านให้เพลิดเพลินอยู่กับสุนทรียรส  สายหมอกที่พัดผ่านซากปรักหักพังที่สงบนิ่งท้าทายกาลเวลาอยู่นั้น  นอกจากจะเป็นภาพที่สร้างความประทับใจจนยากที่จะลืมเลือนได้แล้ว  ยังแสดงให้เห็นถึงสัจจะแห่งกาลเวลาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  ท่านจะได้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการไปชมปราสาทแห่งอื่นๆที่ได้บูรณะปฏิสังขรณ์จนเป็นของใหม่ไปหมดแล้ว

                ปราสาทพระวิหาร  มรดกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ  ซึ่งไม่ติดอยู่กับความเป็นชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นสถานที่ที่แสดงถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษยชาติโดยรวม

                ท่านละครับ  ได้ไปชมปราสาทพระวิหารแล้วหรือยัง

——————

*  ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอำเภอหนองบุญมาก

 

หนังสืออ้างอิง

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. รศ.ดร.ม.ร.ว. ปราสาทพระวิหาร.2536.

(ธิดา สารยา.เขาพระวิหาร.เมืองโบราณ.2536.

10 thoughts on “ปราสาทพระวิหาร : สัจจะแห่งกาลเวลา

Comments are closed.