ไหว้พระบรมธาตุ บูชาพระรัตนตรัย เป็นมงคลชีวิต

วิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน จะเร่งรีบอยู่กับการทำมาหากิน ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานจนตัวเป็นเกลียว แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน ดังนั้น เมื่อมีวันหยุดหลาย ๆ วันติดต่อกันก็มักจะพากันไปพักผ่อนหย่อนใจตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ชายทะเล น้ำตก แหล่งโบราณสถาน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกับวิถีชีวิตของคนไทยในอดีต ซึ่งผูกพันอยู่กับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา การดำรงชีวิตเรียบง่าย ในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อถึงวันนักขัตฤกษ์ก็จะพากันไปวัด ไปไหว้พระ ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม หรือไปไหว้พระธาตุ เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า อันเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

พระธาตุ คือ พระสรีรธาตุ หรือพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า และเพื่อให้มีความหมายแน่นอนจึงเรียกยกย่องพระสรีรธาตุของพระพุทธเจ้าว่า พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระอรรถาจารย์ ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี จำแนกพระบรมสารีริกธาตุเป็น 2 ประเภท คือ
1. พระสรีรธาตุที่แยกกระจัดกระจายมี 3 ลักษณะ คือ
1.1 ลักษณะเหมือนดอกมะลิตูม
1.2 ลักษณะเหมือนแก้วมุกดา ทีเจียรนัยแล้ว
1.3 ลักษณะเหมือนจุณหรือผงทองคำ แต่ละลักษณะมี 3 ขนาด คือ ขนาดเล็กกว่าประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด ขนาดใหญ่ประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหักและขนาดใหญ่มากประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว ผ่ากลาง
2. พระสรีรธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย ได้แก่ พระสรีรธาตุ 7 พระองค์ ซึ่งประดิษฐฐานอยู่ ณ ที่ต่าง ๆ คือ
2.1 พระอุณหิส ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองอนุราชสิงหล
2.2 พระรากขวัญเบื้องขวา ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองอนุราชสิงหล
2.3 พระรากขวัญเบื้องซ้าย ประดิษฐานอยู่ ณ พรหมโลก
2.4 พระทาฒธาตุเบื้องขวาบน ประดิษฐานอยู่ ณ ดาวดึงส์เทวโลก
2.5 พระทาฒธาตุเบื้องซ้ายบน ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารรัฐ
2.6 พระทาฒธาตุเบื้องขวาล่าง ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองลังกาสิงหล
2.7 พระทาฒธาตุเบื้องซ้ายล่าง ประดิษฐานอยู่ ณ นาคพิภพ (กรมศิลปากร. 2540 : 103 – 105)

คุณลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุ ที่แยกกระจัดกระจาย จะมีความแตกต่างจากอัฐิธาตุของพระสาวกหรือพระอรหันต์ ดังนี้

1. มีลักษณะยาว รี กลม แบน เหลี่ยม รูปพรรณสัณฐานเป็นมันเลื่อม มีสีต่าง ๆ นับแต่สีทอง สีขาวเป็นงาช้าง สีแดงเรื่อ ๆ ระหว่างเหลืองปนแดง มีทุกสีในโลกเป็นฉัพพรรณรังสีและใสบริสุทธิ์
2. มีน้ำหนักเบากว่าวัตถุอื่น ที่มีรูปพรรณสัณฐานเท่ากัน
3. มีลักษณะเล็กเท่าเม็ดทรายหรือเมล็ดพันธุ์ผักกาด
4. คุณลักษณะพิเศษคือพระบรมธาตุจะไม่เสด็จรวมกับอัฐิธาตุอื่น (ภัสราภรณ์ เทศธรรม. 2539 : 27)

พระมหาธาตุเจดีย์ ได้แก่ สถูปเจดีย์ที่บรรจุพระสรีรธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า ที่พุทธศาสนิกชนเคารพบูชา นิยมสร้างเป็นประธานของวัดต่าง ๆ ทั่วไป
สำหรับการสร้างพระธาตุเจดีย์ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2513 : 3) กล่าวว่า “ในสมัยพุทธกาลนั้น พวกที่ถือพระพุทธศาสนานับถือแต่พระพุทธเจ้ากับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์พุทธสาวกทั้งหลายเป็นหลักพระศาสนา เรียกรวมกันทั้งสามว่า พระไตรสรณาคมน์ หามีวัตถุอื่นเป็นเจดีย์ ในพระพุทธศาสนาไม่ บรรดาเจดีย์ในพระพุทธศาสนานอกจากไตรสรณาคมณ์ เป็นของเกิดขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จดับขันปรินิพพานแล้วทั้งนั้น” มีกำหนดไว้ 4 อย่าง คือ
1. ธาตุเจดีย์ ได้แก่ สถูปเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า
2. บริโภคเจดีย์ ได้แก่ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง คือ
2.1 สถานที่ประสูติ ณ ป่าลุมพินีในแขวงเมืองกบิลพัสดุ์ (ปัจจุบันคือตำบลรัมมินเด ในประเทศเนปาล)
2.2 สถานที่ตรัสรู้ ณ โพธิพฤษมณฑลในแขวงเมืองคยา ปัจจุบันคือ ตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย
2.3 สถานที่ประทานปฐมเทศนา ณ ตำบลอิสิปตมฤคทายวัน ในแขวงพาราณสี (ปัจจุบันคือ ตำบลสารนาท) ประเทศอินเดีย

3. ธรรมเจดีย์ ได้แก่ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือพระไตรปิฏก แต่เดิมจะจารึกข้อพระธรรม ลงบนศิลา บรรจุไว้ในสถูปเพื่อสักการะบูชา โดยเลือกพระธรรมที่เป็นหัวใจในพระพุทธศาสนา เช่น คาถาแสดง พระอริยสัจว่า เย ธมมา เหตุปุปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต (อาห) เตสญจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตได้ตรัสถึงเหตุเหล่านั้น เมื่อสิ้นเหตุเหล่านั้นจึงดับทุกข์ได้ พระมหาสมณะมีวาทะตรัสสอนเช่นนี้เสมอ เป็นต้น
4. อุเทสิกเจดีย์ ได้แก่สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ แทนองค์พระพุทธเจ้า เช่น ทำเป็นรูปดอกบัว หมายถึงประสูติ ทำรูปรอบพระพุทธบาทและโพธิบัลลังก์ หมายถึงการตรัสรู้ ทำรูปธรรมจักรและกวางหมอบ หมายถึงปฐมเทศนา และทำรูปสถูปแทนการเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นต้น แต่ต่อมาเมื่อมีการสร้างพระพุทธรูป ก็ได้รับความนิยม จนถึงปัจจุบัน
การไหว้พระธาตุ หรือพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น เป็นเรื่องของความเลื่อมในศรัทาในหมู่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นประเพณีที่กระทำสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน และกำหนดว่า คนที่เกิดปีใดจะต้องไปสักการะบูชาพระธาตุที่ใด จึงจะเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง มีอายุมั่นขวัญยืน และมีอานิสงส์มาก การกำหนดพระธาตุประจำปีเกิด มีทั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และตั้งอยู่ต่างประเทศ ดังนี้

ปีชวด พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุจอมทอง อยู่ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ปีฉลู พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุลำปางหลวง อยู่ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
ปีขาล พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุช่อแฮ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
ปีเถาะ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุแช่แห้ง อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
ปีมะโรง ไม่ใช่พระธาตุแต่เป็นพระพุทธรูป คือ พระพุทธสิหิงห์ อยู่ที่วัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ปีมะเส็ง ไม่ใช่พระธาตุ แต่เป็นต้นศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ถ้าไปไหว้ที่อินเดียไม่ได้ให้ไหว้ต้นโพธิ์ตามวัดแทน)
ปีมะเมีย พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา
ปีมะแม พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ปีวอก พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ปีระกา พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
ปีจอ พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระเกศแก้วจุฬามณี อยู่บนสวรรค์
ปีกุน พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย

พุทธศาสนิกชน เชื่อว่า พระบรมธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ มี 2 ประเภท คือ ประเภทที่แยกกระจัดกระจาย และประเภทที่ไม่แยกกระจัดกระจายซึ่งบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ ประธานของวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ การได้สักการะบูชาถือว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง เป็นการบูชา พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ซึ่งนอกจากจะเกิดกุศลผลบุญ อันทำให้ชีวิตมีความสุขสงบแล้ว การไหว้พระธาตุยังเป็นแบบอย่างของการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติเราไว้สืบต่อชั่วลูกชั่วหลานอีกด้วย

หนังสืออ้างอิง

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ. ตำนานพุทธเจดีย์. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2513.
ภัสราภรณ์ เทศธรรม. พระธาตุประจำปีเกิด. งานพระราชทานเพลิงศพ คุณพ่อฤทธิ์ ภักดีพันธุ์. กรุงเทพฯ : บริษัท พรีสเกล จำกัด, 2539.
ศิลปากร, กรม. 86 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร. กรุงเทพฯ : บริษัท พรีสเกล จำกัด, 2540.

Comments are closed.