ทอดทิ้ง-ขโมย-ทำลาย!!! สารพันปัญหาโบราณสถานไทย

ทอดทิ้ง-ขโมย-ทำลาย!!! สารพันปัญหาโบราณสถานไทย (สกู๊ปแนวหน้า)

577[1]

ประเทศไทยมีโบราณสถาน โบราณวัตถุและแหล่งโบราณคดีจำนวนมากมาย กระจายอยู่ทั่วประเทศ ณ วันนี้มีโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับ กรมศิลปากรแล้วหลายพันแห่ง และมีโบราณสถานอีกหลายพันแห่งอยู่ระหว่างการสำรวจจากกรมศิลปากร

ช่วงที่ผ่านมา “สกู๊ปแนวหน้า” มีโอกาสแวะเวียนไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือ “เนะขแมร์ อินไทยแลนด์” ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง”ในรอบ20ปีนี้ใครเป็นคนทำลายโบราณสถานไทย กันแน่ ? ” โดยมี รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ นักวิชาการอาวุโสทางประวัติศาสตร์ศิลปะและประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา , นายวรณัย พง ศาชลากร นักมานุษยวิทยาและนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ร่วม เสวนา

หลักใหญ่ใจความมีการชี้ให้เห็นว่าโบราณสถานในเมืองไทยหลายแห่ง กำลังประสบปัญหาถูกทอดทิ้ง ให้เสื่อมโทรม หักพังไปตามกาลเวลา โบราณสถานหลายแห่งที่เป็นเจดีย์ ประสาท พระธาตุ บางส่วนถูกขุดเจาะทำลายเพื่อหาของมีค่าขณะเดียวกันนักท่องเที่ยว คนในท้องถิ่น หรือแม้ กระทั่ง หน่วยงานภาครัฐบางแห่งก็ยังมีส่วนในการทำลายโบราณสถานอีกด้วย !!!

รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ นักวิชาการอาวุโสทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ให้เหตุผลว่า ปัญหาที่เกิดกับโบราณสถานในประเทศไทยเวลานี้มาจากการ ใช้โบราณสถานฟุ่มเฟือย อาทิ เมื่อปี 2540 ทางกรมศิลปากร ได้อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง มอทัล คอมแบต (Mortal Kombat) เข้ามาถ่ายทำที่ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ครั้งนั้นมีการถ่ายฉากเปลือยที่ฐานของพระศรีสรรพเพชญ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยอยุธยา

การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องขาดความเข้าใจ ขาดความเคารพ หรือกรอบประตูและทับหลังตามปราสาทต่างๆ ที่ถูกขโมยหายไปหลายครั้ง ที่จับได้ก็พบว่ามีคนในร่วมรู้เห็นแทบทั้งสิ้น

“ปัญหาที่น่าตกใจคือมีชาวบ้านพบใบเสมา ซึ่งเป็นเครื่องหมายปักเขตอุโบสถ สมัยโบราณ ถูกฝังอยู่ในที่ดินของตัวเอง แทนที่จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบชาวบ้านกลับทุบทิ้งเพราะเขา กลัวที่ถูกยึด กลัวที่ดินถูกขึ้นทะเบียน เลยต้องทำลายโดยอัตโนมัติ ”

รศ.วิสุทธิ์ ยังกล่าวถึง “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง” จ.อุดรธานี แหล่งประวัติ ศาสตร์ สำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยว่า กำลังประสบปัญหา ภาชนะเผา ตลอดจนเครื่องมือ เครื่องใช้สภาพสมบูรณ์ ที่แสดงถึงเทคโนโลยีในสมัยโบราณ ถูกลำเลียง ไปต่างประเทศจำนวนมาก

“ขณะที่ประเทศไทยมีเพียงเศษ “จิ๊กซอร์”ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนไทย บางส่วนช่วยนำ ของโบราณเหล่านี้ออกนอกประเทศโดยไม่เห็นคุณค่า”

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง” เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประเภทแหล่งอนุสรณ์สถาน ที่สร้างขึ้นในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และมีความสำคัญต่อการค้นคว้าและวิจัยทางโบราณคดีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2535 “องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเนสโก” ได้ประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกด้านวัฒนธรรม

รศ.วิสุทธิ์ แสดงความเห็นว่า การดำเนินงานของกรมศิลปากร ผิดพลาด เพราะเท่าที่ได้ติดตามและตรวจสอบการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานของกรมศิลปากร หาใช่เป็นการบำรุงรักษา แต่เป็นการลดหรือทำลายคุณค่าของโบราณสถานเหล่านั้น เนื่องจากการบูรณะซ่อมแซม โบราณสถานนั้น มีการใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง หรือเลือกใช้คนที่ไม่ตรงกับงาน ไม่มีความรัก หวงแหน ให้ความเคารพ และมีจรรยาบรรณในการอนุรักษ์โบราณอย่างแท้จริง

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง จึงขอเสนอแนะให้ทางกรมศิลปากรใช้ความระมัด ระวังและมีความรอบคอบในการดำเนินงานบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานให้มากขึ้น เพื่อให้คงคุณค่าของโบราณสถานให้ยาวนานที่สุด

“หากต้องการทำความสะอาด หรือบูรณะซ่อมแซม ควรจะเอาผู้ที่มี ความรู้ด้านโบราณ สถานมาทำงาน หรือส่วนไหนที่หักกร่อน ชำรุด ก็ซ่อมเฉพาะจุด ไม่ใช่เอาปูนซีเมนต์มาโบกทับ ซึ่งทำเป็นการทำลายคุณค่าโบราณสถานเป็นอย่างมาก เพราะนักท่องเที่ยวที่มาชมโบราณสถานเหล่านี้ ต้องการชมความเป็นของเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มากกว่าจะมาดูของใหม่ที่สวมทับของเก่าไว้”

ด้าน นายเทพมนตรี ลิมปพยอมนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อธิบายว่า ระบบการจัดการท่องเที่ยวในโบราณสถานไทย ไม่สามารถที่จัดการให้สอดคล้องกับต้นทุน โบราณสถาน หลายแห่ง ถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำลายเปิดหน้า ดินเอาปูนสมัยใหม่ไป”โป๊ะ” หลายแห่งถูกทำลายโดย หน่วยงานจ้างเหมาเข้าไปบูรณะ เนื่องด้วยขาดผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ

“ยกตัวอย่าง พระอจนะ ที่วัดศรีชุม ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ยุคสมัยหนึ่งเราเห็นท่านองค์ดำๆ พอมาอีกสมัยหนึ่งขาวๆ เป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขาเห็นว่าท่านดำ ก็เลยเอาแปรงลวดไปขัด เอาน้ำยาไปขัด แล้วบอกว่าน้ำยาจะช่วยเคลือบองค์พระ เพื่อต่อไปจะได้ไม่ดำ แต่ตอนนี้ท่านเริ่มดำเหมือนเดิมแล้ว”

นายเทพมนตรี กล่าวและว่านอกจากนี้โบราณวัตถุของไทยจำนวนมากยังถูกลักลอบขนถ่าย ออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะที่ สวนจตุจักร สามารถเดินหาซื้อเทวรูปโบราณ และมีระบบ การจัดส่งเสร็จสรรพ มีการรับประกันหากไม่ใช่ของแท้ยินดีคืนเงิน 2 เท่า

“ผมเคยถามคนขายซึ่งเป็นฝรั่งว่าทำไมถึงขายโบราณวัตถุได้ เขาก็บอกว่าประเทศยู เงินง้างได้ทุกอย่าง และเมื่อเร็วๆนี้มีโศกนาฏกรรม เกิดขึ้นที่ พิพิธภัณฑ์พระนครมีการซ่อมพระพิฆเนศองค์ที่เก่าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ระหว่างการซ่อมองค์พระพิฆเนศ ได้ล้มลงมาโดยการเคลื่อนย้ายของเจ้าาหน้าที่แต่ไม่เป็นข่าว ประเด็นน่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์พระนครเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวมของทั้งประเทศ หากไปตรวจสอบบัญชีโบราณวัตถเชื่อว่าจะมีของไม่ตรงในบัญชีเยอะมาก”

นายเทพมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า “เดือนเมษายน ที่จะถึงนี้ทางยูเนสโก จะมาตรวจมรดกโลกที่อยุธยา และในที่สุดเราก็อาจจะผ่าน แต่ถามว่าอยุธยามันหมดสภาพไหม หมดสภาพหมดแล้ว ตอนนี้เป็นเมืองที่เลอะเทอะรกรุงรังมาก กฎหมายของกรมศิลปากร ห้ามสร้างอาคารในเขตโบราณสถานเกินสองชั้น แต่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา มีหน่วยงานราชการสร้างที่ทำการตัวเอง 3 ชั้น ยังทำผิดกฎหมายตัวเองเลย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำในการปฏิบัติ”

สำหรับเรื่องการประเมินผลแหล่งมรดกโลกของ จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น เมื่อช่วงปี 2550 มีการจัดทำรายงานเรื่องการติดตามประเมินผลแหล่งมรดกโลกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จากองค์การยูเนสโก โดยเป็นการส่งรายงานประเมินผลทุก 6 ปี ตามข้อบังคับ

จากการตรวจสอบพบว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต้องมีการปรับปรุงและแก้ไข เนื่องจากขาดความสง่างามในการเป็นมรดกโลก เพราะไม่มีการควบคุมผังเมือง มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่มีความสูงเท่ากับหรือสูงกว่าองค์พระเจดีย์สำคัญๆ มีการก่อสร้างอาคารในพื้นที่ใกล้เคียงมรดกโลก และสีของอาคารก็ใช้สีฉูดฉาดจนทำลายทัศนียภาพของ มรดกโลก !!!

ปิดท้ายที่ นายวรณัย พงศาชลากร นักมานุษยวิทยา กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนในการทำลายโบราณสถานของไทย อาทิ ทุ่มเงินกว่า 100 ล้านบาท บูรณะโบราณสถานวัดชัยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในการบูรณะก็ดำเนินการด้วยการนำวัสดุสมัยใหม่ มาสร้างทับของเก่าทำให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ลดลง และหลังจากนั้นก็เปิดให้นักท่องเทียวเข้ามาชม เพียงแค่เก็บค่าเข้าชมไม่มากนัก ซึ่งถือว่าไม่คุ้มกับที่โบราณสถานจะต้องเสียคุณค่าไปหลังจากที่ได้มีการบูรณะและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

โบราณสถาน…เปรียบเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพชน ที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรื่องทางอารยธรรมของประเทศชาตินับแต่อดีตกาล เป็นสิ่งสะท้อนถึงรากเหง้าชนชาติไทย และถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องรักษามรดกของบรรพชนให้คงอยู่คู่ประเทศชาติสืบไป

SCOOP@NAEWNA.COM

วันที่ 27/3/2008

Comments are closed.