จิปาถะ เรื่องสั้น โจรปล้นเงินเดือน (ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง)

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม  2564

จิปาถะ  เรื่องสั้น โจรปล้นเงินเดือน (ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง)

10

มีนา จัน ในฐานะที่ถูกสมมุติให้เป็นนางแต้ม รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยสารขัณฑ์  ได้บรรยายคำฟ้องจำเลยทั้ง 9 คนว่า โจทก์มีฐานะเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยสารขัณฑ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและ รักษาการอธิการบดี อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร และเป็นผู้นำหรือผู้บังคับบัญชาของอาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัย มีหน้าที่รับผิดชอบมหาวิทยาลัย

การที่จำเลยทั้ง 9 คน นำป้ายผ้าไปติดไว้ที่รั้วมหาวิทยาลัย โดยมีเจตนาใส่ความโจทก์ต่อประชาชนทั่วไปที่เห็นป้ายประกาศ ที่ระบุข้อความกล่าวยืนยันถึงตัวโจทก์ที่ตำแหน่งอธิการบดีและรักษาการอธิการบดี

การกระทำของจำเลยทั้ง 9 คน เป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยข้อความในป้ายประกาศแปลความได้ว่า โจทก์เป็นผู้บริหารที่ทุจริต คดโกงแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ใช้อำนาจหน้าที่บริหารโดยไม่มีหลักนิติธรรม ไร้คุณธรรม ฉ่อราษฏร์บังหลวง  ทำให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกิดความสับสนและเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง  ทั้งๆที่ความจริงแล้วโจทก์บริหารงานภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อประโยชน์สูงสุดของมหาวิทยาลัยสารขัณฑ์ การกระทำของจำเลยทั้ง 9 ดังกล่าว เป็นการใส่ความโจทก์ ต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่จะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง  และเนื่องจากโจทก์ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และรักษาการอธิการบดี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฏหมาย การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วย”

มีนา จัน บอกว่า อยากจะชี้ให้เห็นประเด็นที่สำคัญในคำฟ้อง และเนื่องจากไม่ได้เรียนกฏหมาย จึงของดไว้  แต่ คม หักศอก ไม่ยอม บอกว่า กฏหมายเป็นเรื่องของการตีความ การแสดงความคิดเห็นคงไม่เป็นไร ถูกผิด เป็นเรื่องธรรมดา มีนาจัน จึงชี้ประเด็นให้เห็น ดังนี้

1.คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ เดือนกันยายน 2562 ซึ่งนางแต้มได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีจำเลยทั้ง 9  ที่ สภ. สารขัณฑ์แล้ว แต่พนักงานสอบสวนดำเนินการล่าช้า จึงประสงค์จะดำเนินคดีด้วยตนเอง หลังจากเวลาผ่านไปแล้วกว่า   6  เดือน แสดงให้เห็นเจตนาและความมุ่งมั่นที่จะเอาผิดกับจำเลยทั้ง 9 อย่างชัดเจน ทั้งๆที่จำเลยทั้ง 9 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา

2. นางแต้มอ้างว่า นางมีฐานะเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยสารขัณฑ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและ รักษาการอธิการบดี อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 กย. 60  หลังจากรักษาการแทนมาครบ 180 วันแล้ว นางไม่มีฐานะเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยสารขัณฑ์, ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและรักษาการอธิการบดีแล้ว ตามคำพิพากษายก ของศาลสารคามบุรี นางจึงไม่น่าจะมีสิทธิ์เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยในการฟ้องคดีนี้ได้

3.ป้ายผ้าที่จำเลยทั้ง 9 เขียน มิได้มีข้อความที่นางแต้ม ระบุว่า “ข้อความกล่าวยืนยันถึงตัวโจทก์ที่ตำแหน่งอธิการบดีและรักษาการอธิการบดี” แต่ในข้อเท็จจริง ข้อความในป้ายผ้า มีแต่คำว่า “อธิการ” ซึ่งตำแหน่งดังกล่าว ไม่ปรากฏอยู่ใน พรบ.มหาวิทยาลัยสารขัณฑ์ พ.ศ. 2547 แต่อย่างใด   อนึ่ง คำว่า “อธิการ” ในป้ายผ้านั้น มิได้มี  ไปยาลน้อย (ฯ) เครื่องหมายที่เขียนไว้หลังคำที่รู้กันโดยทั่วไป หรือรู้กันระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง โดยละส่วนหลังไว้ เมื่ออ่านออกเสียงจะต้องอ่านส่วนที่ละไว้ด้วยจึงจะถือว่าอ่านถูกต้อง ตามแบบแผน ฉะนั้นคำว่า อธิการ ตามหลักภาษาไทย  อ่านว่า อธิการ เท่านั้น  จะอ่านว่าอธิการบดี หรือ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยสารขัณฑ์ ย่อมไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนการอ่าน”

เพื่อให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คำว่า “อธิการ” ภาษาอังกฤษใช้ director ; headmaster ; abbot ; superior   ส่วนคำว่า อธิการบดี ภาษาอังกฤษใช้ : chancellor ; president of a university ; rector of a university/college …. เอาแค่นี้ก่อนนะ เดี๋ยวจะยาวไป ไม่มีใครอ่าน”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *