จาก “ปงช้างนบ” มาเป็น “ปงยางคก”

หากมีโอกาสได้ไปนมัสการพระธาตุลำปางหลวง ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางแล้ว สิ่งที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง ก็คือ ควรไปชมวิหารจามเทวี ที่วัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร ด้วย ถึงแม้จะอยู่คนละอำเภอ แต่ก็อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน
วัดปงยางคก (ทิพย์ช้างอนุสรณ์) เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ที่ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากพระธาตุลำปางหลวง ตามทางหมายเลข 1034 เกาะคา – ห้างฉัตร ประมาณ 5 กิโลเมตร ถ้ามาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง ไปทางอำเภอห้างฉัตร วัดจะอยู่ด้านขวามือ มีทางแยกเข้าไปประมาณ 500 เมตร สิ่งสำคัญของวัดนี้คือ วิหารจามเทวี

วัดปงยางคก ตามตำนานพื้นบ้านกล่าวว่า “ประมาณ พ.ศ. 1206 พระนางจามเทวี ราชธิดากรุงละโว้ (ลพบุรี) ได้ยกกองทัพขึ้นมาครอบเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) และราว พ.ศ. 1224 ได้ให้มหัตยศ ราชบุตรองค์หนึ่ง ครองเมืองหริภุญไชย และให้ราชบุตรองค์ที่สอง อนันตยศมาสร้างและครองเมืองเขลางค์นคร (ลำปาง) ราว พ.ศ. 1243 พระนางจามเทวีเสด็จออกจากลำพูนเพื่อมาเยี่ยม อนันตยศ ราชบุตรในนครลำปาง ได้มาถึง ณ ฝั่งน้ำแห่งหนึ่ง เป็นที่รื่นรมย์ จึงสร้างเมืองลำลองพัก ณ ที่แห่งนั้น เมืองนั้นต่อมามีชื่อว่า “เวียงรมณีย์” (ปัจจุบันเป็นคูดินอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอห้างฉัตรไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร) ขณะพักอยู่ที่เวียงรมณีย์นั้น ได้สร้างฉัตรทองคำสำหรับจะนำไปบูชาพระธาตุลำปางหลวง ณ ที่ให้ช่างสร้างฉัตร เรียกว่า บ้างห้างฉัตร เมื่อสร้างฉัตรทองคำเสร็จแล้ว ก็ขึ้นช้างพระที่นั่งเดินไปตามเส้นทาง ณ ที่แห่งหนึ่ง ปรากฎอัศจรรย์ ช้างพระที่นั่งทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงในท่าคารวะ พระนางจามเทวีเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงพักพล ณ ที่นั้น 1 คืน ตกกลางคืนจึงอธิษฐานว่า ณ ที่นี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ปรากฎปาฏิหาริย์ขึ้น ขาดคำพระดำรัสของพระนาง ก็ปรากฎแสงฉัพพรรณรังสี (รัศมี 6 ประการ คือ 1. นิล เขียวเหมือนดอกอัญชัน 2. ปีต เหลืองเหมือนหรดารทอง 3. โลหิต แดงเหมือนตะวันอ่อน 4. โอทาต ขาวเหมือนแผ่นเงิน 5. มัญเชฐสีหงสบาทเหมือนดอกเซ่ง หรือหงอนไก่ 6. ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก) แห่งพระบรมสารีริกธาตุพวยพุ่ง ณ ที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง พระนางเห็นความสำคัญ ณ ที่แห่งนั้น จึงปลูกวิหารจามเทวีรอบจอมปลวกไว้ด้วยมณฑปปราสาท ตลอดจนสร้างกู่ช้างนบไว้หน้าวิหาร ปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ ที่ได้จากลังกาทวีปไว้พร้อมสรรพ ต่อมา ณ ที่แห่งนี้จึงเรียกว่า “ปงช้างนบ” และเพี้ยนมาเป็น “ปงยางคก” )ราชบัณฑิตยสถาน 2530 : 43)
วิหารจามเทวี ปรากฏความในทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากรว่า “สร้างในราว พ.ศ. 2275 ถึง พ.ศ. 2302 อันเป็นระยะเวลาที่พระยาสุลาวฤาไชยสงคราม หรือหนานทิพย์ช้าง ผู้ครองเมืองลำปางเป็นผู้สร้าง และได้กล่าวถึงความสำคัญในฐานะที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากหนานทิพย์ช้าง คือ บรรพบุรุษเจ้า ผู้ครองนครในแคว้นล้านนาสมัยหลัง ที่ร่วมมือกับกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ รวบรวมดินแดนซึ่งเคยเป็นแคว้นล้านนาในอดีต ผนวกเข้ากับดินแดนของเมืองหลวงไทยสมัยนั้นอย่างถาวร ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การที่ประเทศไทยมีขอบเขตการปกครองเป็นประชารัฐเช่นในปัจจุบัน ผลส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของหนานทิพย์ช้างผู้นี้ด้วย” (ราชบัณฑิตยสถาน 2530 : 7)
วิหารจามเทวี สร้างด้วยไม้ ขนาด 5 ห้อง ใช้โครงสร้างระบบม้าตั่งไหม (ตั่งไหม = ไม้ตุ๊กตา) อันเป็นแบบอย่างทั่วล้านนา เป็นวิหารโถงเปิดโล่ง ตลอดยกเว้นห้องในสุด ผนังก่ออิฐฉาบปูนทึบ ฝาด้านหลังสุดมีฐานชุกชีตั้งพระอันดับตลอดแนว ที่ผนังมีภาพเขียน
ภายในพระวิหารเป็นกู่พระเจ้า หรือโขงพระเจ้า ทำเป็นซุ้มโขงมีหลังคาเป็นเรือนยอดประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป
หลังคาพระวิหารเป็นแบบหลังคาลดชั้นช่วงกลางสูงสุด ด้านหน้าลด 2 ช่วง ด้านหลังลด 1 ช่วง ลักษณะการลดช่วงหลังคาระเบียงจะไม่ชิดกันเหมือนวิหารทางภาคกลาง ดังนั้นจึงมีแนวคอสอง นิยมทำเป็นลายตาผ้า (ลูกฟัก ลูกปะกน ก็เรียก) ตลอดแนวด้านแปของวิหาร และส่วนหัวท้ายของคอสองที่ยื่นออกจากตัวอาคาร มักจะเปลี่ยนจากลายตาผ้าเป็นลวดลายอื่น ๆ แกะสลักอย่างสวยงาม มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “แผงแล” ที่ปลายสุดของแผงแลตัวนอกสุดของวิหาร ทำเป็นเสาแกะสลัก ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
จิตรกรรมในวิหาร เป็นภาพเขียนด้วยน้ำรัก (น้ำยางรัก) ปิดทองพื้นสีแดง รูปพระพุทธรูปเทวดา และรูปลายกระถางดอกไม้บูชาพระ โครงสร้างภายในเป็นโครงสร้างเปลือยไม่มีฝ้าเพดาน ยกเว้นโครงจั่ว ที่ทำเป็นแผ่นทึบ แต่คงเป็นระบบม้าตั่งไหม ส่วนที่มองเห็น แต่งลวดลายด้วยน้ำรักปิดทองละเอียดงดงามมาก
พระวิหารจามเทวี วัดปงยางคก ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นวิหารที่นอกจากจะมีรูปแบบโครงสร้างและลวดลายตกแต่งประดับ ที่บ่งบอกลักษณะเฉพาะของศิลปะล้านนาด้วย วิหารหลังนี้ยังเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาตร์ของอาณาจักรล้านนาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ปัจจุบัน กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนวิหารและกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2523 และได้รับการดูแลรักษาจากทางวัดและชุมชนเป็นอย่างดี ทำให้บริเวณโดยรอบ สะอาด เรียบร้อย เป็นแบบอย่างของชุมชนที่มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ ที่ควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง

หนังสืออ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน. วิหารจามเทวี วัดปงยางคก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2530.
วิชาการ, กรม. ลำปาง นครเขลาค์แห่งลุ่มน้ำวัง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2541.

8 thoughts on “จาก “ปงช้างนบ” มาเป็น “ปงยางคก”

  1. เคยไปมาแล้ว สวยงามมาก มีประวัติศาสตรให้ศึกษา และมีสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ มีเงาด้วย เป็นสีอ่ะ งง มากๆ

  2. “ช้างนบ”นบภาษาเหนือคือไหว้หรือพนมมือ ดังนั้นช้างนบคืออาการที่ช้างทรุดเข่าลงหมอบคู้ชูงวงในท่าคารวะ/ช้างหมอบกราบหรือไหว้//ฤชุชัย โปธา ครับ )

Comments are closed.