กรณีปราสาทพระวิหาร : การรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศชาตินั้น จะต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง

กรณีปราสาทพระวิหาร : การรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศชาตินั้น  จะต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง

รศ.  วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์    25   กันยายน  2552

………………………………………….

                ในช่วงนี้ ผมได้มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมของ คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา 2  ครั้ง  ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2552  เป็นการเสวนา  เรื่อง “แผ่นดินเขาพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร บทพิสูจน์ศักดิ์ศรีและอธิปไตยของไทย”  ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306 – 308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 (ตึกวุฒิสภา) และครั้งที่ 2  เมื่อวันอังคารที่  22  กันยายน  2552  เป็นการสัมมนา เรื่อง แสวงหาความจริง : แผ่นดินเขาพระวิหาร 4.6  ตารางกิโลเมตร  ตั้งแต่ กรกฏาคม พ.ศ. 2505 – ปัจจุบัน”  ที่ห้องกมลทิทพ์บอลรูม  ชั้น 2  โรงแรมสยามซิตี้  ถนนศรีอยุธยา  กรุงเทพมหานคร  กิจกรรมทั้ง 2  ครั้ง ดังกล่าว  จัดโดยคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีปราสาทพระวิหาร

                ก่อนอื่น  ผมต้องขอแสดงความชื่นชม  กับคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา  ที่ได้จัดกิจกรรมที่ดี  มีประโยชน์ นี้ มาอย่างต่อเนื่อง  แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจติดตามสถานการณ์และความจริงใจในการแสวงหารากเหง้าของปัญหาที่สำคัญของชาติบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง   ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาและประมวลผลเป็นข้อสังเกต ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการเพื่อรักษาอธิปไตยของไทย ต่อไป  เพราะเรื่องของการสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นประเทศไทยนั้น  เราจะปล่อยปละละเลยไม่ได้เป็นอันขาด 

                ส่วนผลสรุปของการสัมมนานั้น ไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด  เพราะข้อมูลและการตีความข้อกฏหมาย เป็นการตีความจากกลุ่มบุคคลเฉพาะกลุ่ม ยังไม่หลากหลายพอ   เพราะยังมีกลุ่มอื่นที่ไม่เห็นด้วย  แต่ผมมีข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับกิจกรรมทั้ง 2  ครั้ง  ดังนี้

                1.  เนื่องจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน  มีความขัดแย้งกันค่อนข้างสูง  มีการแบ่งแยกกันเป็นพวก เป็นกลุ่มอย่างเด่นชัด  ดังนั้นคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน  วุฒิสภา   น่าจะต้องระมัดระวังบทบาทของตัวเองให้มาก  จะต้องไม่เอนเอียงไปกับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ หรือเข้าข้างกลุ่มที่มีความคิดเห็นสอดคล้องกันตนเอง  แต่ปรากฏว่า  การสัมมนาที่จัดขึ้นมิได้เป็นอย่างนั้น  จะเห็นได้จากเอกสารโครงการสัมมนา  เมื่อวันที่ 22  กันยายน  2552  ที่โรงแรมสยามซิตี้  เราจะพบว่า  แทนที่คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา  ซึ่งมีศักยภาพสูงมาก มีบุคลากร และงบประมาณพอเพียง สามารถจัดสัมมนาเองได้ตามลำพัง แต่กลับไปจัดร่วมกับภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีปราสาทพระวิหาร  ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าเป็นกลุ่มใดพวกใคร   เลยทำให้บทบาทตรงนี้เสียหายไป

                ที่นี้มาดู กลุ่มเป้าหมายของโครงการ  จะเห็นได้ว่า  กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่นกระทรวงการต่างประเทศ  ผู้แทนจากกรมแผนที่ทหาร  ฯลฯ  และกลุ่มต่างๆอีกมากที่อยู่ในภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร   ดังนั้น  จึงไม่ปรากฏรายชื่อของกลุ่มอื่นที่มีความคิดต่าง  เช่นกลุ่มเสื้อแดง  เป็นต้น  ซึ่งความจริงแล้วไม่ควรระบุกลุ่ม เป้าหมาย  ควรกำหนดกว้างๆเพียง  หน่วยงาน องค์กรต่างๆ และประชาชนชาวไทยทั่วไปก็น่าจะเหมาะกว่า

                ตามที่กล่าวมา  จึงเห็นได้ว่า  บทบาทของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน  วุฒิสภา   ในสภาพสังคมที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเช่นนี้  ไม่น่าจะสวยงามนัก

                2  จากการได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 2  ครั้ง  พบว่า  ครั้งแรก ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ  ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 (ตึกวุฒิสภา)  จะมีตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ เช่นจากกระทรวงการต่างประเทศ  ซึ่งดูเหมือนว่าจะถูกกล่าวร้ายไปมากพอสมควร  ดังนั้น  จะเห็นว่า  การสัมนาครั้งที่ 2  ที่โรงแรมสยามซิตี้  ถนนศรีอยุธยา  กรุงเทพมหานคร    ไม่มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมกิจกรรมเลย   แต่จะมาหรือไม่มาก็ถูกกล่าวร้ายไปมากพอสมควรอีกเหมือนกัน

                3.  ผมมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมเสวนาและการสัมมนาในเรื่องต่างๆหลายครั้ง  บรรยากาศโดยทั่วไป  จะเป็นบรรยากาศทางวิชาการ  ที่มีการนำเสนอข้อมูลและข้อคิดเห็นในหลายแง่หลายมุม  มีการอภิปรายเพื่อโน้นน้าวให้สัมมนาสมาชิกได้คล้อยตามสิ่งที่เป็นทัศนะและข้อมูลหลักฐานของตนเอง  และมีการอภิปรายโต้แย้งโดยใช้หลักฐานข้อมูลที่หลากหลาย  สุดท้ายก็จะสรุปหรืออาจสรุปไม่ได้  ก็ต้องว่ากันต่อไปอีก

                แต่ปรากฏว่า  บรรยากาศของการสัมมนาที่โรงแรมสยามซิตี้  ไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น  มีการออกมาพูดโจมตีฝ่ายตรงข้าม อย่างเผ็ดร้อน   มีการโห่ ฮา  เมื่อมีผู้พูดที่แสดงทัศนะไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นของตนเอง  มีการปรบมือให้กับภาพวิดีทัศน์ บุคคลที่เป็นกลุ่มพวกของตัวเอง หรือโห่ ฮา เมื่อได้เห็นภาพบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงข้าม  นอกจากนั้น  ยังมีบุคคลระดับสูง    พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด อันแสดงให้เห็นถึงการขาดวุฒิภาวะของคนที่อยู่ในระดับนั้นด้วย    จึงขอสรุปว่า  การสัมมนา เรื่อง แสวงหาความจริง : แผ่นดินเขาพระวิหาร 4.6  ตารางกิโลเมตร  ตั้งแต่ กรกฏาคม พ.ศ. 2505 – ปัจจุบัน”  เมื่อวันอังคารที่  22  กันยายน  2552  ที่โรงแรมสยามซิตี้  ถนนศรีอยุธยา  นั้น  ไม่ใช่การสัมมนา  แต่เป็นกิจกรรมการร่วมชุมนุม เฉพาะกลุ่ม ที่ต้องการแต่ความสะใจมากกว่า

                อย่างไรก็ตาม  ผมมีข้อเสนอแนะสำหรับเรื่องนี้อยู่  2-3  ประการ ดังนี้

                1.  เกี่ยวกับกรณีขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่เขาพระวิหาร  ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้   คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา  ควรจะเชิญบรรดานักกฏหมาย  ที่มีชื่อเสียง  มาช่วยกันคิด ช่วยกันตีความ ข้อกฏหมาย และสรุปกันให้ได้ก่อนว่า  “การยื่นคำประท้วงคัดค้านไปยังสหประชาชาติและตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจนว่าไทยสงวนสิทธิที่มีหรือพึงมีในอนาคตที่จะดำเนินการเรียกคืนซึ่งการครอบครองปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธี” เมื่อปี พ.ศ. 2505  นั้น  มีอายุความหรือไม่  ถ้ามีอายุความ 10 ปี อย่างที่หลายคนว่า   ก็จะได้เลิกลาเรื่องนี้กันไป  ถ้าไม่มีอายุความ  ก็จะได้มาร่วมกันคิด ค้นหาหลักฐาน เพื่อหาทางนำเอาปราสาทพระวิหาร กลับคืนมาเป็นของเราให้ได้ต่อไป

                2.  เกี่ยวกับพื้นที่ 4.6  ตารางกิโลเมตร ที่อยู่รอบปราสาทพระวิหารนั้น หาข้อสรุปให้ได้ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทยหรือของกัมพูชากันแน่   เอากันให้ชัดเหมือนกัน  ถ้าเป็นของกัมพูชาก็จบ   จะได้เลิกลากันไป  แต่ถ้าเป็นของไทย  คงต้องมาคิดร่วมกันว่า  จะทำอย่างไรจึงจะผลัดดันให้ชาวกัมพูชาที่บุกรุกเข้ามานั้น ถอยกลับออกไปให้ได้

                3.  ความจริงก็คงจะแค่นี้ก่อนให้ได้ข้อสรุปเสียก่อน  แล้วค่อยมาว่ากันใหม่  แต่อดคิดต่อไปไม่ได้ว่า  หากได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร นั้น เป็นของไทย  เราก็จะต้องมาช่วยกันคิดว่า เราจะทำอย่างไรกันดี

                ดังนั้น การเสวนา หรือ การสัมมนาที่จะจัดขึ้นต่อไปโดย  คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา  ก็จะเน้นไปที่การระดมสมองเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  การเชิญประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมก็จะต้องเป็นประชาชนทุกหมู่เหล่า  ไม่มีกลุ่ม ไม่มีพวก  บรรยากาศก็จะมีแต่ความรัก  ความสมัครสมานสามัคคี  การเริ่มต้นก็ต้องไม่มีการพูดถึงเรื่องเก่า  ไม่ต้องพูดว่า  เราได้มาอย่างไร  เราเสียไปอย่างไร  จะไม่โทษคนโน้น โทษคนนี้  มีแต่คิดไปข้างหน้า เพื่อหาช่องทางที่จะดำเนินการเพื่อให้เราสามารถรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนบริเวณนั้นไว้ให้ได้ 

                จริงอยู่ เราอาจจะไม่ค่อยลงรอยกันนัก   แต่เรื่องการรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศชาตินั้น  จะต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง 

                ผมเชื่อว่าถ้างานนี้สำเร็จเรียบร้อย  เราก็จะรักกัน  และเมื่อรักกันแล้ว  ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมาทะเลาะกันอีกต่อไป 

………………….

Comments are closed.