วัดไชยชุมพล เหยื่อรายต่อไปของกรมการศาสนา และความล่าช้าของกรมศิลปากร

วัดไชยชุมพล เหยื่อรายต่อไปของกรมการศาสนา และความล่าช้าของกรมศิลปากร

รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

เผยแพร่ใน สยามรัฐรายวัน ปีที่ 43 ฉบับที่ 14361 วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคาม 2534

เมื่อปลายปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2534 ได้ตีพิมพ์บทความในคอลัมน์ข้างวัด ซึ่งเขียนโดยประสก เรื่อง “กรมศิลปากรกับคณะสงฆ์จะร่วมมือกันจริงแค่ไหน” โดยในบทความกล่าวถึงอธิบดีกรมการศาสนาออกมาให้ข่าวว่า จะมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์บางมาตราเพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยจะมีการให้ความสำคัญแก่งานอนุรักษ์ในการพิจารณายกย่องพระสงฆ์ ซึ่งได้แก่การตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์ แทนที่จะพิจารณาแต่ผลงานก่อสร้างด้านเดียวอย่างที่เป็นมาแต่ก่อน ในบทความดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า งานอนุรักษ์นั้นมีความละเอียดลึกซึ้ง และเห็นว่าคงจะไม่เป็นการเพียงพอที่จะปลูกฝังงานอนุรักษ์ด้วยการคิดถึงแต่การออกคำสั่ง หรือทำเป็นนโยบายออกมาอย่างที่คณะสงฆ์กำลังกระทำอยู่ แต่งานอนุรักษ์มีความลึกซึ้งเกินกว่าที่จะฝากไว้กับมาตรการในการยกย่องเชิดชูพระสงฆ์ เพราะถ้าคิดกันเพียงแค่นั้น งานอนุรักษ์ของสงฆ์ก็จะฉาบฉวยไร้วิญญาณโดยสิ้นเชิง
การเริ่มต้นในเรื่องนี้ กรมการศาสนากับกรมศิลปากรน่าจะนัดพบกันอย่างจริงจัง หรือถ้าจะให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็น่าจะเป็นการประสานกันระหว่างคณะสงฆ์ ซึ่งได้แก่มหาเถรสมาคม กรมการศาสนาและกรมศิลปากรประสานกันเพื่อจะได้วางแผนร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไป งานอนุรักษ์ก็จะมีเจ้าของรับผิดชอบร่วมกันหลายฝ่าย ฉะนั้นการขยับตัวของคณะสงฆ์ในเรื่องนี้ น่าจะเป็นโอกาสอันดีของกรมศิลปากรในอันที่จะทำอะไร สักอย่าง เพื่อช่วยให้ความคิดอันทันสมัยของวงการสงฆ์ครั้งนี้ เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้


จากการที่ได้สรุปบทความข้างต้นมาให้ทบทวนกันอีกครั้ง เพราะรู้สึกมีความยินดีเช่นเดียวกับคุณประสก ที่อยากจะเห็นสองหน่วยงาน คือ กรมการศาสนาและกรมศิลปากรได้นำเอาความคิดในอันที่จะร่วมมือกันอนุรักษ์ทั้งโบราณสถานและวัดวาอาราม ไปสู่การปฏิบัติจริง ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีประโยชน์สูงสุดแก่ชาติบ้านเมือง แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับความร่วมมือกันสักที มีแต่ข่าวความขัดแย้งระหว่างสองหน่วยงานอยู่เสมอ ๆ ตัว อย่างเช่น กรณีวัดมอญ เป็นต้น
วัดมอญ (น่าจะเป็นวัดสิงห์นารายณ์) เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ในเขตอโยธยาเหนือ และอยู่ระหว่างวัดกุฏีดาวกับวัดมเหยงคณ์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทางกรมศาสนาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ในที่ดินและได้ให้เอกชนเช่าเพื่อทำประโยชน์ แต่ปรากฏว่าในบริเวณดังกล่าวมีโบราณสถาน คือ วัดมอญ ตั้งอยู่ และยังมีซากเจดีย์และเนิน โบราณสถานที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นพระอุโบสถของวัด เพราะได้พบใบเสมาหลายใบ
ในกรณีนี้ ทางกรมศิลปากร ตลอดจนองค์กรเอกชนที่สนใจในเรื่องอนุรักษ์เห็นว่า วัดมอญ เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ มีคุณค่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี ควรจะได้มีการขุดแต่งเพื่อศึกษาละอนุรักษ์เอาไว้ ซึ่งในขณะเดียวกันเอกชนผู้เช่าที่ดินของกรมศาสนาถือว่าได้เช่าที่ดินแล้ว ได้มีการไถถมที่ที่ได้รับสิทธิ์ในการเช่า การไถ กลบดังกล่าวจึงเป็นโอกาสไถกลบวัดมอญไปด้วย ซึ่งปรากฎเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เมื่อเร็ว ๆ นี้ สร้างความสะเทือนใจให้แก่นักอนุรักษ์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป
สิ่งสำคัญที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในขณะนี้ก็คือ วัดไชยชุมพล โบราณสถานที่ตั้งอยู่ในป่าละเมาะทางด้านทิศเหนือของวัดมอญ ซึ่งเกรงกันว่าจะถูกไถกลบทิ้งในไม่ช้านี้ เพราะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
จากการที่ได้เข้าไปสำรวจโบราณสถานวัดไชยชุมพล ปรากฎว่าเป็นวัดเก่าแก่ พบฐานเจดีย์ขนาดใหญ่ 1 ฐาน เนินโบราณสถาน 2 เนิน เข้าใจว่าเป็นพระอุโบสถและพระวิหาร รอบ ๆ บริเวณเนิน พบเศษกระเบื้องเชิงชาย ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหลายชิ้น จากหลักฐานที่ปรากฎพอจะสันนิษฐานเป็นเบื้องต้นไว้ก่อนว่า วัดไชยชุมพลคงมีอายุอยู่ในราวสมัยอยุธยาตอนต้นต่อเนื่องกับสมัยอโยธยา ซึ่งเป็นทราบกันดีอยู่แล้วว่า เนื้อที่บริเวณนั้นทั้งหมด เป็นเขตเมืองอโยธยา เมืองโบราณที่ปรากฎมีมาก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่ตำบลหนองโสน เมื่อปี พ.ศ. 1893
จากตัวอย่างกรณีวัดมอญนี้ จะเห็นว่าเกิดขึ้นจากการทำงานที่ขาดการประสานงาน และความร่วมมือกันระหว่างสองหน่วยงานคือ กรมการศาสนาและกรมศิลปากร ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานทั้งสองอยู่ในกระทรวงเดียวกัน ซึ่งถ้าหากยังทำงานกันอยู่ในลักษณะนี้ ไม่ช้าไม่นาน โบราณสถานอันเป็นสมบัติของชาติก็คงจะค่อย ๆ ถูกทำลายไปจนหมด นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่เพิ่งได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกในปีนี้ ก็คงจะต้องถูกยกเลิกไป เพราะไม่สามารถรักษาสภาพความเป็นนครประวัติศาสตร์เอาไว้ได้ และเมื่อถึงเวลานั้น พวกเราจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน
ตอนนี้ก็อยากจะป่าวประกาศให้ทราบทั่วกันว่า โบราณสถานของชาติ โดยเฉพาะวัดร้างต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นที่ทุ่งขวัญ ทุ่งแก้ว ทุ่งประเชด หรือที่สำเภาล่ม ฯลฯ กำลังถูกแอบไถกลบทิ้ง เพื่อใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพราะกรมการศาสนาที่มุ่งแต่จะหาประโยชน์จากที่ดินโดยไม่คำนึงถึงโบราณสถานที่อยู่บนที่ดินเหล่านั้น ในขณะเดียวกัน กรมศิลปากรซึ่งมีหน้าที่ดูแลโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในที่ดินของกรมการศาสนา ก็ต้องคอยเฝ้าดู เผลอเมื่อไรก็ถูกไถกลบทิ้ง ทำงานแบบแมวไล่หนู อยู่อย่างนี้ไม่ช้าโบราณสถานก็หมด ตอนนี้ไม่ว่าเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรหรือนักอนุรักษ์ได้ยินเสียงรถไถก็สะดุ้งผวาไปตาม ๆ กัน เพราะกลัวโบราณสถานจะถูกไถทิ้ง
ก็อยากจะขอร้องให้กรมการศาสนาได้หันมาสนใจโบราณสถานหรือวัดวาอารมกันบ้าง ร่วมไม้ร่วมมือกันดูแลรักษาสมบัติของชาติ มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลกได้ดำรงอยู่ต่อไป ส่วนกรมศิลปากรเองก็น่าจะใจกว้าง ไม่หลงตัวเองว่ามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์แต่เพียงผู้เดียว ได้หาทางประสานร่วมมือกัน ทั้งกรมการศาสนา หน่วยงานในท้องถิ่น โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีโบราณสถานตั้งอยู่ ตลอดจนประชาชนที่อาศัย อยู่ใกล้โบราณสถาน จะได้ช่วยกันดูแลให้มรดกอันมีคุณค่าเหล่านี้ให้ลูกหลานได้มีโอกาสชื่นชม ในความเจริญรุ่งเรืองของชาติในอดีต ทำอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ
————

Comments are closed.