เจดีย์อนุสรณ์การทำยุทธหัตถี ปี พ.ศ. 2135

เจดีย์อนุสรณ์การทำยุทธหัตถี ปี พ.ศ. 2135
อยู่ที่ไหน

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

สยามอารยะ ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2537 : 4 – 6

จากบทความเรื่อง “เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่อยุธยาไม่ใช่สุพรรณบุรี” โดยเทพมนตรี ลิมปพยอม ในสยามอารยะ ปีที่ 2 ฉบับที่ 13 ประจำเดือนมกราคม 2537 นั้น กล่าวได้ว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างกล้าหาญในฐานะของนักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง โดยการนำเสนอข้อมูล ที่ยืนยันถึงความจริงที่อาจถูกมองข้าม หรือปล่อยปะละเลยขาดความใส่ใจที่จะพิสูจน์ เพราะมักจะคิดกันว่า สิ่งเดิมที่ปรากฎอยู่จนกลายเป็นความเชื่อ ทางวิชาการนั้นแม้จะมีข้อมูลใหม่ ซึ่งอาจจะมีหลักฐานข้อเท็จจริงที่สามารถสนับสนุนอ้างอิงได้ ก็เสียเวลาเปล่าที่จะนำเสนอ เพราะจะไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่จำเป็นต้องขุดคุ้ยให้เกิดความวุ่นวาย แต่ในฐานะนักประวัติศาสตร์หรือนักอะไรก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรจะมีความรับผิดชอบ จำเป็นจะต้องใส่ใจในภูมิปัญญา ศึกษาค้นคว้าให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นั้น ๆ นำเสนอต่อสาธารณชนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงเห็นว่าการที่คุณเทพมนตรี ลิมปพยอม นำเสนอข้อมูลดังกล่าว มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ของชาติเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งน่าจะดีกว่าการหลงอยู่ในความเชื่อ ภาคภูมิใจต่อข้อสรุปเก่า ๆ หรือขลาดกลัวในการนำเสนอสิ่งที่มีหลักฐานสามารถพิสูจน์ได้ เพราะถือกันว่าการนำเสนอความจริงนั้นเป็นหัวใจของนักประวัติศาสตร์


แต่อย่างไรก็ตาม จากบทความที่อ้างถึงดังกล่าว ผู้เขียนเองมิได้เห็นคล้อยตาม ไปด้วยในทุกประเด็น บางประเด็นมีความเห็นที่แตกต่างและบางประเด็นก็เห็นสอดคล้องและได้เสริมให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่น่าจะเป็นเช่นนั้น
ในประเด็นแรก ผู้เขียนออกจะเห็นด้วยตามหลักฐานที่อ้างถึงว่า การทำสงครามระหว่างไทยกับพะโคหรือพม่าในปี พ.ศ. 2135 นั้น กระทำกันที่กรุงศรีอยุธยา มิใช่ทีดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งนี้เพราะว่าในช่วงนั้น พระนเรศวรได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระมหากษัตริย์อยุธยา พระราชบิดาของพระองค์ให้เป็นแม่ทัพยกทักไปปราบกัมพูชา ดังข้อความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต พ.ศ. 2182 (2523 : 89) ความว่า “พระเจ้าแผ่นดินสยาม ไม่ทรงสามารถอดทนต่อการกระทำที่ผิดของกัมพูชาได้อีกต่อไป จึงทรงรวบรวมกองทัพซึ่งไม่เพียงแต่หยุดยั้งทักเขมรเท่านั้น แต่จะรบเอากัมพูชาเป็นเมืองขึ้นเช่นที่เคยเป็นมาในอดีตให้ได้ หลังจากที่ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสพระนเรศเป็นแม่ทัพแล้ว พระองค์จึงส่งกองทัพหน้าควบคุมโดยขุนพลหลายคนเดินทางโดยทางบกไปยังกรุงกัมพูชา ทรงตั้งพระทัยให้กองทัพพระนเรศเป็นทัพหลังไปสมทบอีกสองสามวัน” จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ช่วงนั้นพระนเรศวร มิได้อยู่ในกรุงศรีอยุธยา แต่เสด็จยกกองทัพไปปราบกัมพูชา และต่อมาเมื่อทราบข่าวศึกพะโคก็ได้เสด็จกลับมา ดังข้อความในพงศาวดารฉบับเดียวกัน (2523 : 90) ความว่า “ดังนั้นพระนเรศ จึงทรงงดแผนการณ์ที่จะยกทัพไปที่พรมแดนระหว่างไทยและกัมพูชา และทรงเรียกทักพหน้ากลับเพื่อมาช่วยเสริมกำลังต้านทานทัพของพระมหาอุปราชา พระเจ้าแผ่นดินพะโค ยกแสนยานุภาพมา กรุงศรีอยุธยา พระนเรศเสด็จยกทัพกลับมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่ง (ซึ่งยังมีซากปรากฎอยู่จนทุกวันนี้) ชื่อว่า แกรง (Crengh) หรือหนองสาหร่าย เพื่อจะพบกับกองทัพพะโค”
จากข้อความที่ว่า พระนเรศเสด็จยกทัพกลับมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า พระนเรศวรมิได้ยกกองทัพไปสุพรรณบุรี เพราะถ้ายกกองทัพไปสุพรรณบุรี จะต้องใช้คำว่าเสด็จยกทัพไปถึง แทนที่จะใช้คำว่าเสด็จยกทัพกลับมาถึง ประเด็นนี้จึงอาจสรุปได้ว่ากองทัพพะโค และกองทัพไทยมาพบกันที่วัดร้างแห่งหนึ่ง ที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นบริเวณใด แต่คงไม่ใช่ที่ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรีอย่างแน่นอน
ประเด็นที่สอง ตามที่บทความดังกล่าวสรุปว่า เจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวร โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีเมื่อปีพุทธศักราช 2135 (คริสต์ศักราช 1592) จึงได้แก่เจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ทุ่งภูเขาทอง (ทุ่งลุมพลี) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพิริยะ ไกรฤกษ์ ได้นำเสนอแนวคิดนี้มาก่อนแล้วในบทความเรื่อง การปรับเปลี่ยนอายุเวลาของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา (ภาคสอง) ใน สยามอารยะ ปีที่ 2 ฉบับ 12 ธันวาคม 2536 แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นการสรุปที่เร็วเกินไป ถึงแม้นว่าผู้เขียนบทความทั้งสองจะอ้างหลักฐานของแกมป์เฟอร์ความว่า “พระเจดีย์ภูเขาทอง (Pyramid Pukhathog) ใกล้กรุงศรีอยุธยา (Juthia) สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการที่ชาวสยามมีชัยชนะต่อชาวหงสาวดี (peguans) และได้รับอิสระภาพกลับคืนมา” (Engebert Kaempfer. 1987 : Flg 13) ก็ตาม แต่หลักฐานดังกล่าวก็มิได้ระบุว่า ชาวสยามที่มีชัยชนะต่อหงสาวดีนั้น เป็นชัยชนะในปี พ.ศ. 2135 แต่อย่างใด ส่วนหลักฐานคำให้การชาวกรุงเก่าที่กล่าวว่า “ในเวลาเมื่อพระเจ้าหงสาวดียังประทับอยู่ที่พระนครศรีอยุธยานั้น ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง ที่ตำบลทุ่งภูเขาทอง ขนานนามพระเจดีย์นั้นว่า เจดีย์ภูเขาทอง ยังปรากฎอยู่ทุกวันนี้ (ศิลปากร. 2515 : 89) กลับเป็นหลักฐานที่ผู้เขียนบทความไม่ยอมรับซึ่งความจริงแล้ว ในประเด็นนี้ถ้าพิจารณาถึงรูปแบบของฐานเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นรูปแบบของฐานเจดีย์แบบมอญนั้น ควรได้รับการพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าเจดีย์องค์นี้จะได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้งในสมัยหลัง แต่โครงสร้างของฐานเจดีย์คงมิได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก และอีกประการหนึ่ง การทำสงครามในสมัยอยุธยานั้น ใช้ช้างเป็นพาหนะสำคัญ ฉะนั้น เมื่อเกิดการสู้รบ คงจะต้องมีการชนช้าง หรือทำยุทธหัตถี ซึ่งคงจะเกิดขึ้นเป็นปกติ และหลังจากได้รับชัยชนะแล้ว อาจจะสร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า ชัยชนะในแต่ละครั้งนั้นมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ดังนั้นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะหรือที่เรียกว่าเจดีย์ยุทธหัตถี คงจะมีมากกว่าหนึ่งแห่งตามแต่ความสำคัญของการสงครามนั้น ๆ และเนื่องจากการทำยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีความสำคัญต่อชาติบ้านเมือง เพราะเป็นการกอบกู้เอกราชและประกาศอิสระภาพ ฉะนั้นจึงได้มีการสร้างเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ การสร้างเจดีย์ดังกล่าว อาจจะสร้างไว้ ณ สถานที่ทรงกระทำยุทธหัตถี หรืออาจจะเป็นที่หนึ่งที่ใดที่มีความเหมาะสม ดังนั้น จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า เจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์นี้ เป็นเจดีย์องค์ใด ซึ่งอาจจะเป็นเจดีย์ที่วัดภูเขาทอง เจดีย์ที่ วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจดีย์ที่ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี หรือเจดีย์ที่หนึ่งที่ใดก็ได้
ประเด็นที่สาม ในบทความดังกล่าว ถึงแม้ว่าผู้เขียนบทความจะไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่า สมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราชา ทรงทำยุทธหัตถีกันที่ทุ่งภูเขาทอง แต่ข้อความในบทความหลาย ๆ แห่งพยายามจะชี้ให้เห็นว่า วัดร้าง ที่วัน วลิต เรียกว่า แกรง (Crengh) หรือหนองสาหร่ายนั้น คือทุ่งภูเขาทองหรือทุ่งลุมพลี เป็นสถานที่กระทำยุทธหัตถี ซึ่งในประเด็นที่ผู้เขียนออกจะไม่เห็นด้วย เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กรุงศรีอยุธยามากเกินไป ทั้งนี้เพราะกรุงศรีอยุธยานั้น คงมิได้มีกำแพงเมืองเฉพาะแต่กำแพงที่มีแม่น้ำสามสาย คือ แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักล้อมรอบเมืองเท่านั้นคงจะมีกำแพงชั้นนอก นอกออกไปอีกดังเช่นกำแพงเมืองโดยทั่ว ๆ ไปในอดีตตามที่ราชบัณฑิตยสถาน (2526 : 41) ได้อธิบายไว้ดังนี้ “สิ่งที่คู่กับกำแพงเมืองคือ คูรอบกำแพงเมือง เช่น กำแพงเมืองและคูเมืองเชียงใหม่ กำแพงเมืองหลวงบางแห่ง มีกำแพงเมือง 3 ชั้น เช่น กำแพงเมืองสุโขทัย ฯลฯ” ฉะนั้น ตามพงศาวดารพม่าฉบับอูกาลาที่กล่าวว่า “พระนเรศวรจำต้องถอยร่น และตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) เห็นจอมทัพอยุธยาเพลี่ยงพล้ำร่นถอย ก็กวัดแกว่งของ้าวขับช้าง นำรี้พลตามติดเข้าตีช้างองค์นเรศวร เมื่อถอยถึงคูพระนคร ก็รีบนำทัพเข้าภายในอาศัยพระนครนั้นตั้งรับ” (สุเนตร ชุตินทรานนท์. 2535 : 27) คำว่าคูพระนครนั้น คงมิได้หมายถึงแม่น้ำสายใดสายหนึ่งที่ล้อมรอบเกาะอย่างแน่นอน เพราะการออกไปต่อสู้กับศัตรูตรงบริเวณที่ด้านหลังเป็นแม่น้ำกว้างใหญ่นั้น เป็นชัยภูมิที่เสียเปรียบในทุกด้าน การที่กองทัพ ซึ่งประกอบด้วยทหารเป็นจำนวนมากและต้องข้ามแม่น้ำกว้างใหญ่ในการถอยทัพนั้น นับว่าเป็นอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ในประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเป็นว่า สถานที่ที่กระทำยุทธหัตถีกันนั้นน่าจะอยู่ไกลออกไป แต่จะเป็นที่ใดนั้นคงต้องตรวจสอบกันอีก ไม่น่าจะเป็นที่ทุ่งภูเขาทองอย่างที่เจ้าของบทความอยากจะให้เป็น ประเด็นสุดท้าย ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นประเด็นที่จะขจัดความคิดเห็นที่แตกต่างกันว่า เจดีย์ยุทธหัตถีนั้นอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี หรืออยู่ที่จังหวัดอยุธยา ทั้งนี้ ถ้าหากได้พิจารณาดูตามหลักฐานที่ผู้เขียนบทความอ้างถึง ซึ่งได้แก่เอกสารของฮอลันดาชื่อ The Short History of the Kings of Siam ซึ่งเขียนโดย Jeremias Van Vliet (1975 : 80) ความว่า “พระเจ้าแผ่นดินพะโค กำลังยกพลพยุหยาตรามาล้อมกรุงศรีอยุธยา” พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว ความว่า “มหาพยุหยุทธนาครานี้ ได้ต่อยุทธกันใกล้พระนครศรีอยุธยา” (นราธิปประพันธ์พงศ์. 2517 ซ 281 – 282) และพงศาวดารพม่าฉบับ อูกาลา ความว่า “ทัพมหาอุปราชานั้นเคลื่อนมาถึงกรุงศรีอยุธยา ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3” (สุเนตร ชุตินทรานนท์. 2535 : 26)
จากหลักฐานดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นอย่างค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า สงครามยุทธหัตถีในปี พ.ศ. 2135 ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชานั้น ได้เกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน ไม่ใช่สุพรรณบุรีอย่างที่เข้าใจกัน ส่วนเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ ในการทำยุทธหัตถีหรือเจดีย์ยุทธหัตถีจะตั้งอยู่ที่ใดนั้น ยังเป็นปัญหาอยู่ ส่วนเจดีย์ภูเขาทองก็ดี เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคงก็ดี เจดีย์ที่สุพรรณบุรีก็ดี ล้วนเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์การทำสงครามระหว่างพม่ากับไทยแทบทั้งสิ้น แต่เจดีย์องค์ใดจะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในสงครามปี พ.ศ. 2135 นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องหาคำตอบกันต่อไป
จากแนวคิดและหลักฐานตามที่แสดงมานี้ จึงสามารถระบุถึงความเห็นที่สอดคล้องกับ ผู้เขียนบทความ “เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่อยุธยาไม่ใช่สุพรรณบุรี” เพราะการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่านั้น หลักฐานชี้ให้ เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาค่อนข้างแน่นอน แต่ส่วนองค์เจดีย์อนุสรณ์นั้น ยังไม่ปรากฎหลักฐานใด ๆ ที่ระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเจดีย์องค์ใด ตั้งอยู่ในบริเวณใดแห่งกรุงศรีอยุธยา เรื่องนี้คงจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะท้าทายเหล่าท่านผู้กล้าแห่งวงการประวัติศาสตร์ไทย ได้มีการศึกษากันอย่างจริงจัง เพราะได้มีนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่จุดชนวนขึ้นแล้ว ไม่แน่ว่าข้อเท็จจริงใหม่ ๆ อาจจะพลิกปูมประวัติศาสตร์ไทยให้ตื่นตลึงกันอีกครั้งก็เป็นได้

เอกสารอ้างอิง

กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์, สมเด็จ.พงศาวดารพม่า เล่ม 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2507.
เทพมนตรี ลิมปพยอม. “เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่อยุธยาไม่ใช่สุพรรณบุรี”, สยามอารยะ. 2(12) : 21 – 32 , 69 – 72 ; ธันวาคม 2536.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม. อักษร ก. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2526.
วัน วลิต. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2182. แปลโดยวนาศรี สามนเสน. กรุงเทพฯ : แสงรุ้งการพิมพ์, 2523.
ศิลปา กร, กรม. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับ หลวงประเสริฐอักษรนิติ์, กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2515.
สุเนตรชุตินทรานนท์. “เมียนนา-สยามยุทธโนเมียนมายาสะวิน”, เอเซียปริทัศน์. 13(3) : 18 – 34 ; กันยายน – ธันวาคม 2535.
Engebert Kaempfer. A Description of the Kingdom of Siam. Bangkok : White Orchid Press, 1987.
Jeremias Van Vlite. The Shot History of the Kings of Siam. Translated by Leonard Andaya Bangkok : The Siam Society, 1975.

5 thoughts on “เจดีย์อนุสรณ์การทำยุทธหัตถี ปี พ.ศ. 2135

  1. 🙄 ผมเชื่อตามหลวงพ่อฤๅษีลิงดำวัดท่าซุ่งเล่า(อ้างถึง)เจดีย์แห่งนี้อยู่ที่หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี หลวงพ่อธุดงธ์มาที่แห่งนี้แล้วเล่าว่า”เจดีย์เเห่งนี้สมเด็จพระนเรศสร้างไว้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในการทำสงครามยุทธหัตถีและเล่าอีกว่าภายในเจดีย์ฝังเครื่องศัตราอาวุธไว้ 😯

  2. เชื่อหลวงพ่อฤๅษีลิงดำแห่งวัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ดีกว่า 😈 “ข้อคิดนะใครจะเขียนประนามประเทศตัวเองต้องเขียนเข้าข้างตัวเองดีตลอด หรือว่าไม่จริง คุณลงประวัติตัวเองก็ต้องเขียนว่าดีตลอด ไม่มีใครเขียนประวัติตัวเองด้านเลว ยกตัวอย่าง ดูงานที่นั้น เรียนจบที่นั้น ไม่มีใครลงไปว่า ไปดูงานแล้วไปหาน้องหนู เที่ยว อาบอบนวด กินเหล้า เล่นไพ่ ประวัติศาสตร์ก็เหมือนกันต้องเขียนแต่ด้านดี เข้าข้างตัวเองไว้ก่อน หรือว่าไม่จริงใครกล้าลงประวัติ ความเลวของตัวเองมีไหม ไปงานศพเสือร้าย ปล้น จี้ ข่มขืน เขายังไม่ลงเลย ลงแต่ดีดี สาธุ 👿

  3. หลวงปู่โง่นเชื่อเรื่องพระพี่นางพระสุพรรณกัลยา แต่ประวัติศาสตร์ไม่เขียน คนยังเชื่อแล้ว หลวงพ่อฤๅษีลิงดำรู้มานานแล้วเกี่ยวกับเจดีย์ยุทธหัตถี อยู่ที่สุพรรณบุรี นักประวัติศาสตร์ บางคนชอบโยงไปที่อื่น เขาเชื่อกันมาตั้งแต่ รัชกาลที่6 ขออภัย เอาส่วนไหนมาคิด ยิ่งสร้างความแตกแยก

  4. เชื่อหลวงพ่อฤๅษีลิงดำเช่นเดียวกัน แต่ท่านบอกมากกว่านั้นไม่ใช่หรือ ว่าที่ชนช้างกันน่ะเป็นที่กาญจนบุรี ไม่ใช่สุพรรณบุรี

    รบกันที่เมืองกาญจน์จริงๆ อ่านได้ในหนังสือ พ่อสอนลูก ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ

Comments are closed.