วัดโคกแสง : สถานที่หลบภัยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์

วัดโคกแสง : สถานที่หลบภัยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์

รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

สยามอารยะ ปีที่ 3 ฉบับที่ 26 มีนาคม 2538 : 104 – 108

บทนำ
ในสมัยอยุธยา วัดมิได้เป็นเพียงศูนย์รวมทางด้านจิตใจของชาวเมืองเท่านั้น แต่วัดยังเป็นสถานที่ในการศึกษา เป็นสถานที่ประกอบพิธีและราชพิธีต่าง ๆ และในบางครั้งยังใช้เป็นสถานที่หลบภัยทางการเมืองอีกด้วย เนื่องจากในมัยอยุธยานั้น มีปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในระหว่างญาติพี่น้องในราชวงศ์เดียวกัน หรือราชวงศ์เก่าที่สูญเสียอำนาจ และราชวงศ์ใหม่ที่อาจมีอำนาจมากขึ้น การที่พระบรมวงศานุวงศ์หลบหนีออกไปทรงผนวช จึงเป็นวิธีหลบภัยทางการเมืองวิธีหนึ่งที่ทำให้สามารถรักษาชีวิตของตนไว้ได้
วัดที่ปรากฏหลักฐานว่าเป้นสถานที่หลบภัยทางการเมืองที่สำคัญวัดหนึ่ง คือ วัดโคกแสง ซึ่งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ( พ.ศ. 2256 – 2298 ) รัตนกวีเอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศใช้เป็นที่ทรงผนวช เพื่อหลบหนีภัยจากพระราชบิดาของพระองค์เอง

วัดโคกแสง
วัดโคกแสง หรือวัดชุมแสง (ร้าง) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง (วังโบราณ) และอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ริมถนนนเรศวรด้านทิศเหนือ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดโคกแสง เป็นวัดที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใดแต่ชื่อวัดมีปรากฏในพระราชพงศาวดากรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ( 2514. 612 – 613 ) ความว่า “ ครั้ง ณ เดือนเจ็ด ปีเถาะ สัปตศก พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เสด็จเข้ามาอยู่วัดโคกแสงเวียนมาเยี่ยมพระเจ้าอยู่หัวเนือง ๆ วันหนึ่งเวลาเพลาค่ำพระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักษ์ให้พระองค์ชื่น พระองค์เทศ โอรสออกไปเชิญเสด็จกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ว่า มีพระราชโองการให้เชิญเสด็จไป กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์สำคัญว่าจริง ก็เสด็จมาขึ้นหน้าพระชัยเข้าไปถึงในที่ประตูที่กรมขุนเสนาพิทักษ์แอบประตูอยู่ ฟันด้วยพระแสงดาบถูกจีวรสังฆาฏิขาดหาเข้าไม่ กรมขุนสุเรนทร พิทักษ์วิ่งเข้าไปข้างใน
กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จเข้าไปที่พระเจ้าอยู่หัวประชวร ทอดพระเนตรเห็น ตรัสถามว่า เป็นไรผ้าสังฆาฏิจึงขาด กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถายพระพรว่า กรมขุนเสนาพิทักษ์หยอก ครั้นกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรลาออกมา กรมหลวงอภัยนุชิต พระชนนีกรมขุนเสนาพิทักษ์เสด็จตามไปอ้อนวอนว่า ถ้าพ่อมิช่วยก็เห็นน้องจะตาย กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ว่า จะช่วยได้ก็แต่ กาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยพระอรหันต์ กรมหลวงอภัยนุชิตได้สติขึ้น ก็เสด็จเข้าไปทรงพระวอ ซ่อนพากรมขุนเสนาพิทักษ์ออกทางประตูฉนวนไปให้ทรงผนวช ณ วัดโคกแสง อยู่ด้วยกรมขุน สุเรน ทรพิทักษ์นั้น พระเจ้าอยู่หัวให้ค้นหาไม่พบ ได้แต่พระองค์เทศ พระองค์ชื่นก็ให้ประหารเสียด้วยท่อนจันทร์” ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า วัดโคกแสงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา คือเป็นที่หลบภัยของเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์หรือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ( กุ้ง ) ซึ่งเป็นกวีเอกของชาติ ให้รอดพ้นจากภัยการเมืองในสมัยนั้น หลังจากนั้นชื่อวัดโคกแสงก็ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารอีกเลย
วัดโคกแสงในปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 60 ตอนที่ 39 วันที่ 20 กรกฏาคม 2486

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐสุริยวงค์ กรมพระราชวังวรมหาเสนาพิทักษ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับสมเด็จพระพันวัสสาใหญ่กรมหลวงอภัยนุชิต ประสูติเมื่อปีพุทธศักราช 2256 ณ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) หรือ วังจันทรเกษม กรุงศรีอยุธยา และสิ้นพระชนม์เพื่อปีพุทธศักราช 2298 เนื่องจากได้รับพระราชอาญาโบย รวมพระชนมายุได้ 42 พรรษา
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ทรงเป็นกวีเอกในสมัยอยุธยา บทพระนิพนธ์กาพย์เห่เรือ กาพย์เห่เรื่องกากี กาพย์ห่อโครงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโครงนิราศธารทองแดง นันโทปนันทสูตรคำหลวง ฯลฯ ผลงานที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นอัฉริยะ มีความรู้เรื่องศาสนาขนบธรรมเนียมประเพณี กฏมณเฑียรบาลต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้นเป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังเชี่ยวชาญทางด้านศิลปกรรม โดยได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าให้เป็นแม่กองดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน พระที่นั่ง
ต่าง ๆ เช่น การบูรณะพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ วัดพระราม เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศน์ทรงเป็นศิลปินที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านทัศนศิลป์ และโสตศิลป์
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศน์ได้รับพระราชอาญาครั้งแรก จากการลอบปรงพระชนม์กรมขุน สุเรนทรพิทักษ์ โอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และได้ทรงหลบภัยโดยการหนีไปทรงผนวช ณ วัดโคกแสง ต่อมาได้ลาผนวชออกมาปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยสถาปนาให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่สุดท้ายได้รับพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ สมเด็จตำหนักกลาง พระสนมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ศิลปกรรม
ในปัจจุบันวัดโคกแสง อยู่ในสภาพปรักหักพังปรากฏพระมหาธาตุเจดีย์ทรงระฆัง 1 องค์ เนินโบราณ 1 เนิน พระพุทธรูปปูนปั้น 1 องค์ นอกนั้นเป็นชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. พระมหาธาตุเจดีย์
พระมหาธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นประธานของวัด เป็นเจดีย์กลมทรงระฆังก่อด้วยอิฐถือปูน ฐานของพระเจดีย์ชำรุดมาก ไม่สามารถบอกได้ว่ามีลักษณะเช่นไร องค์ระฆังเป็นแบบเดียวกับพระเจดีย์ทรงกลมวัดใหญ่ชัยมงคล ที่นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนกลางทั่วไป เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์ทำเป็นฐานบัวลูกฟัก 8 เหลี่ยม ระหว่างบัลลังก์และปล้องไฉน ไม่ปรากฏเสาหานคงมีแต่ก้านฉัตร
2. เนินโบราณสถาน
ด้านหน้าพระมหาธาตุเจดีย์ เป็นเนินโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 13.00 เมตร ยาวประมาณ 15.00 เมตร บนพื้นเนินปรากฏเสาฐานอาคาร เป็นเสากลมเส้นผ่าศูนย์กลาง .70 เมตร จำนวน 4 ฐาน แต่ไม่พบหลักฐานที่บอกได้ว่าอาคารหลังนี้เป็นพระอุโบสถหรือพระวิหาร จากฐานเสากลมที่ปรากฏบนเนินโบราณสถานทำให้มั่นใจได้ว่ารูปแบบของอาคารบนเนินโบราณสถานแห่งนี้ ใช้เสากลมขนาดใหญ่รองรับโครงสร้างหลังคา และใช้ผนังก่ออิฐหนารองรับชายคา ซึ่งเป็นรูปแบบอาคารที่นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนต้นและตอนกลางมีลักษณะเช่นเดียวกับพระวิหารรายทั่วไปในวัดพระศรีสรรเพชญ์

3. พระพุทธรูป
พระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานอยู่บนฐานสูง บนเนินโบราณสถานด้านทิศตะวันตก ด้านหน้าพระมหาธาตุเจดีย์ ขนาดพระพุทธรูปหน้าตักกว้างประมาณ 3.00 เมตร หันพระพักต์ไปทางทิศตะวันออก มีพุทธลักษณะของพระพุทธรูปที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยา ที่มีสัดส่วนงดงาม น่าเสียดายที่พระพุทธรูปองค์นี้เหลือแต่ เพียงพระชานุและพระวรกายเท่านั้น ส่วนแขนและพระเศียรหักหายไป
4. ศิลปวัตถุอื่น ๆ
ศิลปวัตถุอื่น ๆ ที่พบได้แก่ ส่วนพระโสนีของพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่ 1 องค์ ส่วนพระวรกายของพระพุทธรูปหินทรายขนาดเล็ก 1 องค์ เศียรพระพุทธรูปหินทรายพอกด้วยปูนชำรุดมาก 2 เศียร

บทสรุป
จากการสำรวจศึกษาสภาพของวัดโคกแสงในปัจจุบัน พ.ศ. 2537 วัดอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก มีประชาชนบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านพักอาศัยหลายครอบครัว และได้ขนอิฐของวัดไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นเป็นจำนวนมาก ส่วนรูปแบบศิลปกรรมซึ่งได้แก่ซากอาคารบนเนินโบราณสถาน และเจดีย์ทรงระฆัง ตลอดจนพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่ มีรูปแบบที่น่าจะกำหนดอายุคร่าว ๆ ไว้เป็นเบื้องต้นก่อนว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง หรือในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 22 แต่อย่างไรก็ตามการขุดแต่งทางโบราณคดี คงจะทำให้พบหลักฐานทางด้านศิลปกรรมและประวัติศาสตร์ จนสามารถกำหนดอายุที่แน่นอนได้ แต่เท่าที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน ถือได้ว่า วัดโคกแสงเป้นวัดสำคัญวัดหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศน์ รัตนกวีเอกในสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ทรงผนวชที่วัดนี้เพื่อหลบหนีภัย สมควรที่จะได้มีการขุดแต่งอนุรักษ์ไว้ทั้งรูปแบบศิลปกรรม สถานที่ทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนช่วยรักษาความเป็นนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในฐานะมรดกโลกของมวลมนุษยชาติเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาต่อไป

หนังสืออ้างอิง

เทพมนตรี ลิมปพยอม. เจ้าฟ้าธรรมธิเบศน์ ( กุ้ง ) เป็นทั้งชู้เป็นทั้งกบฏ. อยุธยา : ชมรมอนุรักษ์
โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. 2536.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน . กรุงเทพ ฯ : คลังวิทยา ,
2514.

13 thoughts on “วัดโคกแสง : สถานที่หลบภัยของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์

  1. เห็นด้วยกับแนวคิดที่เสนอให้มีการขุดแต่งอนุรักษ์วัดนี้ครับ

  2. ขออนุญาตเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยนะครับว่า ผมพยายามสืบหาอยู่อีกวัดหนึ่งซึ่งได้แก่”วัดยอดเกาะ” ที่เจ้าฟ้า(พระ)นเรนทร์เคยประทับจำพรรษาอยู่ก่อนหน้าที่จะเสด็จเข้ามาประทับ ณ วัดโคกแสง(หรือชุมแสง) เนื่องจากอยู่ใกล้พระราชวังหลวงและเสด็จเข้าไปเยี่ยม”พระเจ้าอา”ซึ่งทรงพระประชวรได้สะดวกกว่า แต่ก็ยังไม่ได้เค้าได้เงาเลยครับ

Comments are closed.