วัดพระศรีสรรเพชญ์ : สุสานกษัตริย์อยุธยา

วัดพระศรีสรรเพชญ์ : สุสานกษัตริย์อยุธยา

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

บทนำ
พระมหากษัตริย์ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทรงมีพระราชนิยมในการสร้าง ศาสนสถาน ซึ่งได้แก่ วัดวาอารามต่าง ๆ เสมอมา วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างนั้น เรียกว่า พระอารามหลวง จึงปรากฏพระอารามหลวงมากมายหลายแห่ง ทั้งในและนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อาทิเช่น วัดพุทไธสวรรย์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม เป็นต้น พระอารามหลวงเหล่านี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ซากปรับหักพังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นประจักษ์พยาน แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมืองในอดีตได้เป็นอย่างดี พระอารามหลวงที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ตลอดสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้แก่ “ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ”
วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้องอยู่ที่ ต. ประตูชัย อ. พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมเคยเป็นพระบรมมหาราชวังของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา แต่ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ ทางด้านทิศเหนือของพระราชวังองค์เดิมติดกับแม่น้ำลพบุรี และถวายพระบรมมหาราชวังองค์เดิมให้เป็นวัด ซึ่งได้แก่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ความสำคัญในอดีตนั้น เทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในกรุงเทพมหานคร คือเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีถือน้ำระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น วัดนี้ปรากฏพระมหาธาตุเจดีย์องค์ใหญ่สามองค์เรียงกันจนถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของวัดพระศรีสรรเพชญ์นั้น อาจแบ่งออกได้เป็นสองช่วง คือ ช่วงแรกในฐานะเป็นพระบรมมหาราชวังและช่วงหลังในฐานะเป็นพระอารามหลวง
1. ในฐานะเป็นพระบรมมหาราชวัง
ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง ( 1893 – 1912 ) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 1893 และทรงโปรดให้สร้างพระที่นั่งขึ้น 3 องค์ คือ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพยนต์มหาปราสาท และพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท ณ ตำบลหนองโลม
ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร ( พ.ศ. 1912 – 1913 และ 1931 – 1938 ) ปรากฏชื่อพระที่นั่งมังคลาภิเษกเพิ่มขึ้นอีก 1 องค์ และในรัชกาลพระบรมราชาธิราชที่ 2 ( พ.ศ. 1967 – 1991 ) ปรากฏพระที่นั่งตรีมุขอีก 1 องค์ แต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏตำแหน่งของพระที่นั่งดังกล่าวมานั้นเลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพระที่นั่งเหล่านั้นสร้างด้วยเครื่องไม้ ซึ่งอาจถูกไฟไหม้หรือพังทลายสูญหายไปหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ปรากฏพระที่นั่งจอมทอง 1 องค์ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระวิหารหลวง แต่ไม่พบหลักฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นพระที่นั่งองค์ใดองค์หนึ่งตามที่กล่าวนานมาแต่ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งจอมทองในสมัยหลัง
2. ในฐานะพระอารามหลวง
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ( 1991 – 2031 ) ได้ถวายพระบรมมหาราชวังเป็นวัด ต่อจากนั้นมาไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างใด ๆ ขึ้นอีก จนกระทั่งถึง รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ( 2034 – 2072 ) ทรงโปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้น 2 องค์ องค์แรกสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดา (องค์ด้านทิศตะวันออก) องค์ที่สอง สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ( 2031 – 2034 ) พระเชษฐาธิราช ส่วนองค์ที่สาม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (2072 – 2076) เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 อันเป็นพระราชบิดาของพระองค์
เมื่อปี พ.ศ. 2042 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้โปรดให้สร้างพระวิหารหลวงขึ้นองค์หนึ่งทางด้านทิศตะวันออกของพระเจดีย์ และต่อมาในปี พ.ศ. 2043 ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ ประดิษฐานพระวิหารหลวง พระราชทานนามว่า “ พระศรีสรรเพชญ์”
พระวิหารหลวงนี้” นอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์แล้ว ข้างหลังพระศรีสรรเพชญ์ มีฐานชุกชีใหญ่อันหนึ่งว่าเป็นที่เก็บพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ของหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้พระพุทธองค์ก็ได้เคยประดิษฐานอยู่ในวิหารนี้” ( หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ . 2511 : 28 )
ส่วนที่ท้ายจระนำของพระวิหารหลวงยังใช้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ เช่น พระบรมอัฐิของสมเด็จพระเพทราชา ดังความปรากฏในพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ ( 2512 . 235 ) ความว่า “ ณ เดือน 5 ปีมะแม ตรีศก ศักราช 1063 (พ.ศ. 2244 ) จึงให้เชิญพระบรมศพขึ้นบนพระมหาพิชัยราชรถ แห่แหนเป็นกระบวนไปเข้าพระเมรุมาศ มีการมหรสพและพระสงฆ์ 10,000 สดับปกรณ์ครบ 3 วัน ตามอย่างทุกครั้ง แล้วถวายพระเพลิง เชิญพระอัฐิใส่พระโกศน้อยแห่เป็นกระบวนเข้าบรรจุไว้จระนำพระวิหาใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ์”

การบูรณะปฏิสังขรณ์
การบูรณ์ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชญ์นั้น คงจะได้กระทำต่อเนื่องกันมาตลอดสมัยอยุธยา ซึ่งปรากฏฐานในพงศาวดาร 2 ครั้ง ครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ( 2172 – 2199 ) ปรากฏหลักฐานของพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม ) ( 2512 : 235 ) ความว่า “ในปีที่สร้างพระนครหลวงนั้น ( พ.ศ. 2174 ) ก็สถาปนาพระศรีสรรเพชญ์เสร็จแล้วทำการฉลอง มีมหรสพเป็นอเนกประการ” และครั้งที่สองในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ( 2275 – 2301 ) โดยโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมขุนเสนาพิทักษ์ ( เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ) ปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ. 2284 ปรากฏในพงศาวดารฉบับเดียวกัน ( 2512 : 259 ) ความว่า “ ครั้งพร้อมกันเห็นสมควรพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้เจ้าฟ้ากรมขนเสนาพิทักษ์ ดำรงฐานะอุปราชโดยประเพณีแล้ว ทรงพระกรุณาสั่งกรมพระราชวังให้ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้นใหม่”
ในปี พ.ศ. 2475 ราชบัณฑิตสภา ( ต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมศิลปากร ) ได้ทำการขุดสถูปองค์ทิศตะวันออกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2475 โดยขุดหลังจากที่สถูปองค์นี้ถูกลักขุดแล้ว แต่ไม่พบพระโกศบรรจุอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หากได้พบสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุกับศิลปวัตถุอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก (หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ . 2511 : 28)
ในปี พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดศรีสรรเพชญ์ เป็นโบราณสถานของชาติโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 ประกอบด้วยเจดีย์ 38 องค์ วิหาร 1 หลัง โบสถ์ 1 หลัง หอระฆัง 1 หอ มณฑป 3 หลัง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้ดำเนินการขุดสมบัติกรุในเจดีย์ พบพระพุทธรูปและเครื่องทองมากมาย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2499 ทางราชการจึงได้บูรณะพระเจดีย์สามองค์ขึ้นใหม่ ( กรมศิลปากร . 2533 : 14 )

ศิลปกรรม
วัดพระศรีสรรเพชญ์นั้น ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก การวางผังเป็นแบบซ้ายขวาเท่ากัน มีพระมหาธาตุเจดีย์สามองค์เป็นประธานของวัด โดยมีระเบียงคตล้อมรอบ ด้านหน้าพระมหาธาตุเจดีย์มีพระวิหารหลวงขนาดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ ด้านซ้ายพระวิหารหลวงเป็นพระวิหารที่ประดิษฐานพระโลกนาถ ส่วนวิหารด้านขวาของพระวิหารหลวงเป็นวิหารที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปรางปาลิไลยก์ ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวนออกเฉียงใต้ของพระวิหารหลวง ตรงหน้าพระวิหารหลวงมีหอระฆัง 1 หอ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งพระที่นั่งจอมทอง บริเวณรอบ ๆ ติดกับกำแพงแก้ว มีเจดีย์รายสลับกับพระวิหารรายขนาดเล็กโดยรอบอาคารต่าง ๆ ที่กล่าวมาปัจจุบันมีสภาพปรักหักพังเป็นส่วนใหญ่

ศิลปกรรมที่สำคัญ
1. พระมหาธาตุเจดีย์
ได้แก่พระเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นประธานของวัดทำเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานไพทีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อกันว่า ฐานไพทีนี้คงเป็นฐานพระที่นั่งต่าง ๆ เมื่อคราวสถาปนากรุงศรีอยุธยา ลักษณะของเจดีย์ประกอบด้วยฐานเชียงกลมซ้อนกันสามชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ 1 ชั้น รองรับมาลัยเถาเหนือชั้นมาลัยเถาเป็นฐานปัทม์อีกชั้นหนึ่ง ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงลังกาที่นิยมสร้างกันในสมัยสุโขทัย เหนือองค์ระฆังเป็นบนลังก์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสทำเป็นฐานปัทม์ ระหว่างปล้องไฉนซึ่งเป็นส่วนยอดกับบัลลังก์มีเสาหานรองรับแกนก้านฉัตร ข้างองค์พระเจดีย์ทำเป็นซุ้มทิศทั้งสี่ทิศ มีบันไดทางขึ้นเหนือซุ้มประดับด้วยเจดีย์ทรงกลม ซึ่งคงได้รับอิทธิพลของศิลปะสมัยศรีวิชัย ระหว่างองค์พระเจดีย์มีพระมณฑปองค์ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ตัวอาคารยังปรากฏส่วนของผนังอยู่บ้างส่วนอีกสององค์เหลือแต่ส่วนฐาน
พระสถูปองค์ด้านทิศตะวันออก ซึ่งราชบัณฑิตสภา ได้ขุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2475 นั้น ได้พบพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุไว้ในสถูปถึง 7 ชั้น คือชั้นที่ 1 นอกสุดเป็นสถูปหิน ในเข้าไปชันที่ 2 เป็นเบ้าหิน ชั้น 3 – 4 เป็นสถูปสำริด ชั้น 5 เป็นสถูปเงิน ชั้น 6 เป็นสถูปทอง ชั้น 7 เป็นสถูปแก้วผลึก ภายในองค์สถูปแก้วเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ( หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ . 2511 . 28)
รอบพระเจดีย์ทังสามองค์นี้มีระเบียงคต ซึ่งหักพังเหลือแต่ฐานราก ภายในระเบียงคตเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้นประทับนั่งเรียงกันเป็นแถว ปัจจุบันเหลืออยู่ให้เห็น 3 องค์
2. พระเจดีย์ราย
พระเจดีย์รายรอบวัดพระศรีสรรเพชญ์นั้นเป็นที่สำหรับบรรจุอัฐิของเจ้านายในพระราชองค์ มีพระอัฐิบรรจุไว้ทุกองค์ (เฉลิม สุขเกษม. 2514 . 107) ลักษณะของพระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงลังกาทั้งหมด มี 4 องค์ ที่แตกต่างไปจากองค์อื่น ๆ คือมิซุ้มทิศ ได้แก่องค์มุมกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก 2 องค์ และมุมกำแพงด้านทิศตะวันตก 2 องค์ พระเจดีย์เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นรูปแบบของเจดีย์กลมในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งสร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 1991 – 2172
3. พระวิหาร
ในวัดพระศรีสรรเพชญ์มีพระวิหารทั้งวิหารหลวงและวิหารราย แต่ส่วนใหญ่มีรูปแบบโครงสร้างลักษณะเดียวกัน คือใช้เสากลมขนาดใหญ่ รับน้ำหนักโครงหลังคา ใช้ฝาผนังก่ออิฐหนารับน้ำหนักชายคา และใช้เสานางเรียงรับน้ำหนักชายคาปีกนก ซึ่งเป็นรูปแบบของอาคารที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนพระวิหารที่มีลักษณะแตกต่างไปจากนี้ ได้แก่ วิหารจตุรมุข ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหลังของพระเจดีย์สามองค์ คือ ทางด้านทิศตะวันตก มุขทั้งสี่ของพระวิหารจตุรทิศประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง นอน ยืน เดิน อันเป็นอิทธิพลการสร้างพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย ที่แพร่กระจายลงมาในช่วงนี้
ตรงกลางพระวิหารจตุรทิศ ปรากฏซากสถูป 1 องค์ ข้าง ๆ สถูปทั้งสี่ด้าน ทำเป็นช่องบรรจุอัฐไว้หลายช่อง ซึ่งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระบรมราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงเอาแบบอย่างมาสร้างพระเจดีย์ทองขึ้นที่วัดมหาธาตุ อันเป็นวัดที่พระองค์ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ในกรุงเทพมหานคร และวัดมหาธาตุนี้เคยมีนามว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์มาก่อน (บริบาลบุรีภัณฑ์ . 2511 : 28)
4. พระอุโบสถ
พระอุโบสถนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับพระวิหาร ปรากฏใบเสมาแกะสลักจากหินชนวนขนาดใหญ่หนา รูปใบเสมาไม่มีลวดลาย เป็นแบบที่พบตามพระอุโบสถที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นทั่วไป
5. หอระฆัง
หอระฆังเป็นหอระฆังก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารหลวง
6. พระพุทธรูป
6.1. พระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างเมื่อปี พ.ศ. มีความสูง ตั้งแต่พระบาทถึงพระรัศมี 16 เมตร พระพักตร์ยาว 2 เมตร กว้าง 1.50 เมตร พระอุระกว้าง เมตร ใช้ทองสำริดหนัก 58,000 ชั่งหล่อเป็นแกน ภายนอกหุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง ( ประมาณ 171 กรัม ) คราวเสียกรุงเมื่อ พ.ศ. 2310 นั้น พม่าได้ใช้ไฟเผาลอกทองคำองค์พระศรีสรรเพชญ์จนหมด คงเหลือส่วนที่ทำด้วยสำริด เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอัญเชิญพระศรีสรรเพชญ์มาที่วัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพมหานครเมื่อปี 2332 นั้นทรงเห็นว่าชำรุดมากเกินกำลังที่จะซ่อมให้ดีได้ จึงโปรดให้สร้างพระมุมองค์ใหญ่องค์หนึ่ง ในวัดพระเชตุพน ฯ ( คือองค์กลางในเจดียใหญ่ทีเรียงกัน 3 องค์ ) แล้วเชิญพระศรีสรรเพชญ์เข้าบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์นั้น ถวายนามว่า พระเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ ซึ่งยังปรากฏให้เห็นอยู่ในพระวิหาร ( หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ . 2531 . 254 )
6.2. พระโลกนาถ แต่เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านทิศเหนือของพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารด้านทิศตะวันออก วัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพมหานคร
พระโลกนาถเป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย สูง 10 เมตร ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายหันฝ่าพระหัตถ์ข้างหน้า พระหัตถ์ข้างขวาห้อยลงมาแนบพระวรกาย เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนกลางต่อจากสมัยตอนต้นหรืออู่ทอง ปรากฏอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย เชื่อกันว่าพระโลกนาถคงมีพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระศรีสรรเพชญ์ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในระยะใกล้เคียงกัน ตัวอย่างพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนต้นอีกองค์หนึ่ง คือพระมงคลบพิตรซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารมงคลบพิตรข้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ด้านทิศใต้
7. พระที่นั่งจอมทอง
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมสามหลังแผด ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันดูแต่ส่วนผนังของอาคารภายในมีพระพุทธรูปหินทราย ( ชำรุด ) ประดิษฐานอยู่สองสามองค์

บทสรุป
จากการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาและรูปแบบศิลปกรรมภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ครั้งนี้ มีข้อค้นพบข้อคิดเห็นบางประการ ดังนี้
1. วัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นพระอารามหลวงแห่งเดียวในกรุงศรีอยุธยา ที่เคยดำรงฐานะเป็นพระบรมมหาราชวังมาก่อน ฉะนั้น ภายในบริเวณวัดยังปรากฏพระที่นั่งจอมทองเหลืออยู่ 1 องค์ และเชื่อแน่ว่า ตลอดจนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น คงใช้วัดนี้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ฯ เสมอมาเพราะอยู่ติดกับพระมหาราชวัง
2. การก่อสร้างวัดที่ใช้พระมหาธาตุเจดีย์ทรงลังกาสามองค์เรียงกันเป็นประธานของวัด เพิ่งปรากฏที่วัดแห่งแรกในสมัยอยุธยา
3. การสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เช่น พระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ และพระโลกนาถ ตลอดแบบเจดีย์ทรงลังกาที่ปรากฏอยู่ในบริเวณวัดทั้งหมด ไม่มีเจดีย์เหลี่ยมหรือพระปรางค์เลย แสดงให้เห็นว่าวัดพระศรีสรรเพชญ์นี้ เป็นศูนย์รวมของอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่แพร่กระจายเข้ามาสู่ราชสำนักของกรุงศรีอยุธยา ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงลัทธิลังกาวงศ์ หรือหินยาน ที่มีอิทธิพลค่อนข้างสูงในช่วงนั้น
4. การวางผังอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนรูปแบบอาคารที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งหมดอาจเชื่อได้ว่าวัดพระศรีสรรเพชญ์นี้สร้างขึ้นเสร็จเรียบร้อย ต่อเนื่องในคราวเดียวกันแต่อย่างไรก็ตาม พระวิหารที่ตั้งอยู่หลังพระเจดีย์สามองค์ ลักษณะของอาคาร รูปแบบของกรอบประตูหน้าต่างที่ปรากฏเหลืออยู่ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าคงสร้างหรือซ่อมขึ้นใหม่ในสมัยหลังอย่างแน่นอน และบริเวณด้านหลังของวัดนี้ การวางตำแหน่งขององค์เจดีย์บางองค์เริ่มจะขาดระเบียบแล้ว
5. อาจกล่าวได้ว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์นั้นเป็นสุสานของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเพราะเท่าที่ปรากฏหลักฐานในพงศาวดาร พระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ไม่น้อยกว่า 8 พระองค์ บรรจุไว้ที่วัดนี้ เช่น พระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สมเด็จพระเจ้าปราสาทอง สมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเจ้าเสือ และสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
จึงเห็นได้ว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์นั้นเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญ เป็นศูนย์รวมความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนชาวไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซากปรับหักพังที่ปรากฏอยู่นั้น นอกจากจะเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดีแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ได้คิดว่า ยามใดที่ประชาชนในชาติมีความสมัครสมาน รู้รักสามัคคี ก็สามารถรังสรรค์ศิลปกรรมที่เพียบพร้อมไปด้วยสุนทรียะ แต่ยามใดที่ประชาชนในชาติแตกความสามัคคี ประเทศชาติบ้านเมืองก็จะย่อยยับพังทลายลงอย่างน่าอเนจอนาถใจ

หนังสืออ้างอิง

เฉลิม สุขเกษม . “กรุงศรีอยุธยา” อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัย ของพระยา โบราณ ราชธานินทร์ เรื่องศิลปและภูมิสถานอยุธยาและจังหวัดพิจิตร. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์
สามมิตร. 2514.
บริบาลบุรีภัณฑ์ , หลวง.”วัดพระศรีสรรเพชญ์” พระราชวังและโบราณสถานในจังหวัด พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักนายรัฐมนตรี, 2511.
. เรื่องโบราณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ , 2531.
ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 39 ( ภาคที่ 64 ) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา , 2512.
ศิลปากร, กรม. แผนแม่บทนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักงานพิมพ์ สมาพันธ์ , 2533.
. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน. กรุงเทพ ฯ :
คลังวิทยา , 2514.

69 thoughts on “วัดพระศรีสรรเพชญ์ : สุสานกษัตริย์อยุธยา

  1. ตามมาอ่านงานเขียนของอาจารย์ครับ เพราะเข้าใจง่ายและได้ความรู้หลายด้าน

  2. ต้องการรู้รายละเอียดเกี่ยวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์แบบลึก เพื่อใช้ในการบรรยายสอบมัคคุเทศก์
    เนื้อหาภาษาไทย
    ขอบคุณค่ะ

Comments are closed.