วัดชัยวัฒนาราม : ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

วัดชัยวัฒนาราม : ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

สยามอารยะ ปีที่ 2 ฉบับที่ 20 สิงหาคม 2537 : 75 – 79

บทนำ
ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีพระราชนิยมในการสร้างศาสนสถาน ซึงได้แก่วัดวาอารามต่าง ๆ โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาหรือสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิของวงศ์สกุล และบางครั้งเป็นการสร้างเนื่องในเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ จนถือเป็นพระราชประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา พระราชนิยมดังกล่าวได้แพร่หลายไปสู่ข้าราชบริพารและพสกนิกรทั่วไป ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2516 : 15) ได้ทรงนิพนธ์ถึงเรื่องนี้ว่า “ในกรุงศรีอยุธยานั้นมีการสร้างวัดเป็นจำนวนมากทั้งวัดหลวงและวัดราษฎร์ จนเป็นคำกล่าวกันในสมัยรัตนโกสินทร์ว่า เมื่อครั้งบ้านเมืองดีเขาสร้างวัดเป็นลูกเล่น ที่จริงนั้น คือใครตั้งวงศ์สกุลได้เป็นหลักฐาน ก็สร้างวัดเป็นอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิธาตุของวงศ์สกุล มักสร้างเจดีย์ขนาดเขื่อง 2 องค์ไว้ข้างหน้าโบสถ์ เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุหรือต่อบิดาองค์หนึ่ง มารดาองค์หนึ่ง ส่วนสมาชิกในสกุลนั้น เมื่อใครตายลง เผาศพแล้วก็สร้าง สถูปเจดีย์ขนาดย่อมลงมาเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุรายไปรอบโบสถ์เรียกกันว่าเจดีย์ราย ครั้นถึงเวลานักขัตฤกษ์เช่นตรุษสงกรานต์พากันออกไปทำบุญให้ทานอุทิศเปตพลี ที่วัดของสกุล พวกชั้นเด็ก ๆ ได้โอกาสออกไปด้วย ก็ไปวิ่งเล่นในลานวัด เมื่อเวลานักขัตฤกษ์เช่นนี้ จึงเกิดคำที่กล่าวว่าสร้างวัดให้ลูกเล่น”

ความนิยมในการสร้างวัดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาทั้งขององค์พระมหากษัตริย์ และประชาชนในกรุงศรีอยุธยาทั่วไป ซึ่ง มานิจ ชุมสาย (2523 : 6) ได้รวบรวมความคิดเห็นของชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการ หรือทำมาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาจากเอกสารต่าง ๆ ไว้ในบทความประกอบการสัมมนาประวัติศาสตร์อยุธยา ณ วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2523 เกี่ยวกับเรื่องราวของวัด ความว่า “ในเมืองมีวัดประมาณ 500 วัด (จากแยร์แวส) วัดสวยงามมีเจดีย์สูงยอดแหลมประดับทอง เวลาถูกแสงแดดเป็นประกายสะท้อนบาดนัยต์ตาไปจนระยะไกลจนถึง 2 และ 3 ไมล์ (จากแอมมิลตัน) วัดใหญ่ ๆ มีพระพุทธรูปจำนวนมาก วัดหนึ่งมีรูปจัสตุรัส 4 อัน แต่ละอันมีพระพุทธรูป 100 องค์ แต่ละองค์ใหญ่เท่าตัวคน บางองค์ทำด้วยทองคำ บางองค์ทำด้วยทองแดงและทองเหลือง บางองค์เป็นเงินและบางองค์ทำด้วยอิฐและปูน วัดหนึ่งมีพุทธรูปกะว่าในกรุงมีทั้งสิ้น 4000 องค์ (จากกลานิอุส) ในจำนวนวัดที่มีมากมายและกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเขตกำแพงเมืองและนอกเขตกำแพงเมืองนั้น วัดที่มีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของกรุงศรีอยุธยานั้นได้แก่ วัดชัยวัฒนาราม หรือที่ชาวต่างชาตินิยมเรียกว่า Golden Pagola

ประวัติความเป็นมา
วัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 24 แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2172 – 2199) ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ปราสาททอง สร้างขึ้นตรงบริเวณที่เคยเป็นบ้านของพระพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2173
การก่อสร้างวัดนั้นมีหลักปรากฎในพงศาวดารหลายฉบับ ดังเช่นฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (2512 : 111 – 112) ได้กล่าวไว้ความว่า “ในศักราช 992 ปีมะเมียศก (พ.ศ. 2173) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นผ่านถวัลยราชพิภพกรุงเทพทวารดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน และที่บ้านพระพันปีหลวงนั้นพระเจ้าอยู่หัวให้สถาปนาสร้างพระมหาธาตุเจดีย์มีพระระเบียงรอบและมุมพระระเบียงนั้น
กระทำเป็นทรงเมรุทิศเมรุรายอันรจนาและกอบด้วยพระอุโบสถและพระวิหารการเปรียญ และสร้างกุฏิถวายพระสงฆ์เป็นอันมาก เสร็จแล้วให้นามชื่อ วัดชัยวัฒนาราม เจ้าอธิการนั้นถวายเป็นนิรันดรมิได้ขาด”
ในสมัยที่พระเจ้าปราสาททองทรงครองราชย์อยู่นั้น ได้ทรงเสด็จมาที่วัดนี้เสมอ ๆ ดัง ปรากฎ หลักฐานตามพงศาวดาร ดังนี้
เมื่อปีกุน จ.ศ. 997 (พ.ศ. 2178) เสด็จพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าลูกเธอฝ่ายใน ได้เนื้อในท้องเผาไม่ไหม้สงสัยต้องคุณ
เมื่อปีชวด จ.ศ. 998 (พ.ศ. 2179) เสด็จออกไปปฏิบัติพระสงฆ์ ณ วัดนี้ ในวันปัณรสีเพ็ญเดือนแปด (วัน 15 ค่ำ เดือนแปด)
เมื่อปีมะแม จ.ศ. 1005 (พ.ศ. 2186) โหรทำนายว่าจะเกิดเพลิงไหม้ในพระราชวัง มีรับสั่งให้ ขนของในพระราชวังออกไปอยู่ ณ วัดนี้ (สังข์ พันธโนทัย. 2526 : 120)
วัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดขนาดใหญ่ มีความสำคัญมาตลอดสมัยอยุธยาตอนปลาย ปรากฎชื่อในพงศาวดารต่อมาอีกหลายครั้ง เช่น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275 – 2301) วัดนี้ใช้เป็น ที่พระราชทานเพลิงศพและฌาปณกิจศพข้าราชบริพารและพระบรมวงศานุวงศ์หลายครั้ง ดังนี้
ณ ปีมะแม โทศก จ.ศ. 1112 (พ.ศ. 2293) กรมหมื่นอินทรก็ถึงแก่พิราลัย ให้ตั้งถวายพระเพลิง ณ วัดชัยวัฒนาราม
ครั้นปีระกา เบญจศก จ.ศ. 1112 (พ.ศ. 2293) กรมหมื่นอินทรก็ถึงแก่พิราลัย ให้ตั้งถวายพระเพลิง ณ วัดชัยวัฒนาราม
ครั้นปีระกา เบญจศก จ.ศ. 1115 (พ.ศ. 2296) เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ป่วยเป็นลมอัมพาต 4 เดือนเศษถึงอนิจกรรม พระราชทานให้ใส่โกศใส่ชฏาเรียกว่า พระศพ ฌาปนกิจ ณ วัดชัยวัฒนาราม (พันจันทนุมาศ (เจิม). 2512 : 226 – 267) นอกจากนั้นยังเป็นสุสานฝังศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาลซึ่งถูกพระราชอาญาสิ้นพระชนม์ ปรากฎความตามพงศาวดาร ดังนี้ “ณ เดือน 6 ปีกุน สัปตศก จ.ศ. 1117 (พ.ศ. 2298) ……ให้นาบพระนลาฏเจ้าฟ้าสังวาลนั้นให้เฆี่ยนยกหนึ่ง 30 ที อยู่ 3 วัน ก็ถึงแก่พิราลัย กรมพระราชวัง (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์) นั้นเฆี่ยนอีก 4 ยก เป็น 180 ก็ดับสูญสิ้นพระชนม์ จึงให้นำเอาศพไปฝัง ณ วัดชัยวัฒนารามทั้งสองพระองค์ (พันจันทนุมาศ (เจิม). 2512 : 268 – 271)
วัดชัยวัฒนารามปรากฎชื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) ครั้งสุดท้ายใน สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พ.ศ. 2301 – 2310) ก่อนเสียกรุง ในฐานะเป็นค่ายทหาร และคงเป็นค่ายทหารที่เข้มแข็งพอสมควร เพราะกว่าพม่าจะตีค่ายแตก ก็ต้องใช้เวลาถึง 9 คืน ความปรากฎใน พงศาวดาร ดังนี้ (2512 : 293-295) “….ฝ่ายข้างในกรุงเกณฑ์กันไปตั้งค่ายที่วัดชัยวัฒนาราม และ อีกตอนหนึ่งความว่า ….ฝ่ายพม่าก็ยกมารบค่ายวัดชัยวัฒนาราม 9 คืนก็แตก”
ตั้งแต่นั้นมาวัดชัยวัฒนารามก็ถูกลืม ปล่อยทิ้งไว้ให้จมอยู่ในป่ารกชัฏ ไม่ปรากฎความสำคัญอีกต่อไป จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดนี้สองครั้ง คือเมื่อ พ.ศ. 2420 และเมื่อ พ.ศ. 2444
ชื่อของวัดชัยวัฒนารามมีปรากฎอีกครั้งใน คำอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ ในฐานะที่เป็นท่าเรือจ้าง ดังความต่อไปนี้ (2514 : 39) “ด้านชื่อประจิมทิศ เรือจ้างบ้านชัยข้ามออกไปวัดไชยราม (วัดชัยวัฒนาราม) หนึ่ง เรือจ้างวังหลังออกไปวัดลอดฉอง (วัดลอดช่อง) หนึ่ง เรือจ้างด่านข้ามออกไปกษัตราหนึ่ง เรือจ้างข้ามออกไปวัดธาระมาหนึ่ง ด้านชื่อประจิมทิศ มีเรือจ้าง 4 ตำบล”
ในปัจจุบัน วัดชัยวัฒนารามมีสภาพเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งทิศตะวันตกของเกาะ เมืองพระนครศรีอยุธยา ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นวัดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเช่นเดียวกับวัดสำคัญอื่น ๆ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

ศิลปกรรม
สิ่งก่อสร้างในวัดที่กล่าวไว้ในพงศาวดาร ในเขตพุทธาวาสนั้น ยังปรากฎให้เห็นอยู่บางส่วน โดยเฉพาะพระมหาธาตุเจดีย์ซึ่งสร้างเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดปรางค์ หรือที่นิยมเรียกกันว่าพระปรางค์ ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ สูงประมาณ 35.00 เมตร ตั้งอยู่บนบานทักษิณสี่เหลี่ยมจตุรัส มีบันไดทางขึ้นไปยังเรือนธาตุทุกด้าน แต่มีทางเข้าคูหาปรางค์ทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ภายในคูหาปรางค์ แต่เดิมอาจจะประดิษฐานองค์พระพุทธรูป แต่ปัจจุบันไม่ปรากฎมีอะไรเหลืออยู่ ที่มุมฐานทักษิณมีเจดีย์ทรงปราสาทยอดปรางค์ขนาดเล็กตั้งอยู่ทั้ง 4 มุม ถัดออกไปเป็นระเบียงคตล้อมรอบ มีเมรุทิศประจำทุกทิศ จำนวน 4 องค์ และเมรุรายหรือเมรุมุมจำนวน 4 องค์ ประจำอยู่ที่มุมระเบียงคตทุกด้าน ภายในเมรุนั้นประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นทรงเครื่องใหญ่ ปางมารวิชัยเมรุละ 1 องค์ สวนเมรุรายหรือเมรุมุม ภายในคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปแบบเดียวกัน เมรุมุมละ 2 องค์ รวมเป็น 12 องค์ และไม่ปรากฎว่ามีองค์ใดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ผนังด้านนอกของเมรุทิศและเมรุราย ประดับด้วยภาพปูนเป็นแบบนูนสูง เรื่องพระพุทธประวัติ แต่ได้หักหายไปจนเกือบจะหมดแล้ว เหลือตัวอย่างที่พอเป็นแบบอย่างได้ คือ เมรุรายองค์ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพนูนสูงที่ยังปรากฎเหลืออยู่ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงฝีมือการปั้นปูนที่ประณีตงดงามของช่างแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความเด่นชัดของรูปแบบงานปูนปั้นในสมัยอยุธยาตอนปลายได้อีกด้วย ภายในระเบียงคต แต่เดิมมีหลังคาแต่หักพังหมดแล้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ตั้งเรียงกันเป็นแถวโดยรอบ มีทั้งหมด 120 องค์ เป็นที่น่าสังเกตว่าพระพุทธรูปเหล่านี้ไม่ปรากฎว่า มีพระเศียรเหลืออยู่แม้แต่องค์เดียว
ระหว่างปรางค์ประธานกับระเบียงคตเป็นลานกว้าง สามารถเดินได้รอบองค์ปรางค์ ทางด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าของปรางค์ประธาน ซึ่งหันหน้าลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยานั้น นอกระเบียงคตเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันเหลือแต่เพียงฐานสูง บนฐานชุกชีมีพระพุทธรูปหินทรายเหลืออยู่ 2 องค์ ปรากฎว่าไม่มีพระเศียรเหลืออยู่เช่นกัน ปัจจุบัน (พ.ศ. 2537) กรมศิลปากรได้ต่อเศียรขึ้นใหม่แล้ว) ตรงมุมด้านหน้าของพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของเจดีย์ย่อมุมใหญ่ด้านละ 1 องค์ เจดีย์ดังกล่าวมีลักษณะ แบบเดียวกับเจดีย์ศรีสุริโยทัย วัดสวนหลวงสบสวรรค์ ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แต่ส่วนยอดระหว่างบัลลังก์กับปล้องไฉนนั้น ตามหลักฐานภาพถ่ายเดิมไม่มีเสาหาน ในการบูรณะโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2533 ได้มีการเพิ่มเสาหานลงไป ไม่ทราบว่าเพื่อจุดประสงค์อะไร
ทางทิศเหนือด้านนอกระเบียงคต ปรากฎซากเจดีย์ และเหลือเจดีย์ทรงระฆัง 1 องค์ เชื่อกันว่า เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศและเจ้าฟ้าสังวาล ถัดออกไปนอกกำแพงแก้วชั้นใน มีเจดีย์ ทรงปราสาทยอดปรางด์ขนาดเล็ก 1 องค์ มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า มีบันไดทางขึ้น ปรางค์องค์นี้ยัง เหลือลวดลายปูนปั้นประดับตกแต่งอยู่บ้างเล็กน้อย ด้านหลังทางตะวันตก เป็นเขตสังฆาวาส ไม่ปรากฎสิ่งก่อสร้างเหลืออยู่ รอบบริเวณวัดมีซากฐานกำแพงแก้วล้อมรอบ

ความสำคัญ
อาจกล่าวได้ว่า วัดชัยวัฒนารามเป็นโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์ทรงอำนาจและสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ จึงเป็นวัดที่มีความสำคัญต่อเนื่องมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ความสำคัญดังกล่าวสามารถสรุปได้ดังนี้
เป็นวัดที่สร้างขึ้นบริเวณบ้านเดิมของพระพันปีหลวง ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระองค์ผู้สร้าง การสร้างวัดในบริเวณบ้านเดิมนี้ เป็นประเพณีที่กระทำสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ตัวอย่างเช่น สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงสร้างวัดพุทไธสวรรย์ ที่ตำหนักเวียงเหล็ก บริเวณที่ประทับเดิมของพระองค์ หรือพระเพทราชา ทรงสร้างวัดบรมพุทธารามที่ย่านป่าตอง (อยู่ในวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา) อันเป็นพระนิเวศน์เดิมของพระองค์
วัดชัยวัฒนารามนี้เป็นพระอารามหลวง เป็นวัดประจำรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง หรืออาจถือเป็นวัดประจำราชวงศ์ปราสาททองก็เป็นได้ เพราะปรากฎว่าในราชวงศ์นี้ไม่ได้สร้างวัดขนาดใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาอีกเลย
วัดชัยวัฒนารามนับเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม โดยหันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก ในขณะเดียวกันก็หันหน้าลงสู่แม่น้ำด้วยลักษณะเช่นนี้สามารถประสานคติความเชื่อเรื่องแม่น้ำของชาวพุทธในกรุงศรีอยุธยาได้อย่างดี เกี่ยวกับคติความเชื่อเรื่องแม่น้ำนั้น เชื่อกันว่า ขณะที่พระพุทธองค์ตรัสรู้พระสัมโพธิญาญ ทรงหันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำ ฉะนั้น เวลาสร้างวัด สร้างพระอุโบสถ พระวิหาร หรือพระพุทธรูป จะหันหน้าไปทางแม่น้ำ ตัวอย่างเช่น พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ ริมคลองสระบัว หันหน้าลงสู่แม่น้ำลพบุรี แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อในเรื่องแม่น้ำ ส่วนคติความเชื่อเรื่องทิศนั้น เชื่อกันว่า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้นั้น ทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก การสร้างวัด สร้างพระอุโบสถ พระวิหารหรือพระพุทธรูป จึงนิยมสร้างให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก คติความเชื่อเรื่องทิศนี้ยังเป็นที่นิยมกันจนถึงปัจจุบัน
สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ตลอดจนพระพุทธรูปและลวดลายปูนปั้น ประดับตกแต่งต่าง ๆ ในวัดชัยวัฒนารามนี้ มีคุณค่าทางด้านความหมาย มีความเด่นชัดทางด้านศิลปวัฒนธรรม การสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัดนั้น ถือเป็นการหันกลับมานิยมคติความเชื่อเดิมที่ได้รับอิทธิพลของขอมอีก ซึ่งความนิยมในการสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัดนั้น นิยมสร้างกันในสมัยอยุธยาตอนต้น ตัวอย่างเช่นการสร้างปรางค์วัดราชบูรณะ โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การสร้างปรางค์ประธานของวัดชัยวัฒนารามนี้ มีลักษณะที่แตกต่างจากเดิมเล็กน้อย ในเรื่องการวางผัง เพราะได้มีการนำเอาคติการสร้างเขาพระเมรุ อันเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาลแบบที่ขอมสร้างปราสาทในเมืองพระนครหลวงมาผสมผสาน ทั้งนี้ก็เนื่องจากในรัชกาลนี้ อาณาจักรอยุธยาได้แผ่อำนาจทางการเมืองเข้าไปยังเมืองพระนครหลวงของขอม จึงเอาแบบอย่างศิลปกรรมของขอมโบราณมาสร้างไว้ที่ปราสาทนครหลวง หรือวัดนครหลวงริมแม่น้ำป่าสัก บนเส้นทางเสด็จทางชลมาคไปนมัสการพระพุทธบาท (ศรีศักร วัลลิโพดม. 2533 : 25)
การถ่ายแบบของศิลปขอมโบราณนั้น มิได้หมายความว่า คัดลอกเอามาทั้งหมด แต่ได้มีการผสมผสานศิลปกับสถาปัตยกรรมอยุธยาจนเกิดรูปแบบที่เหมาะสม มีความสง่างามทั้งในเรื่องส่วนสัด และองค์ประกอบ ตลอดจนลวดลายตกแต่ง แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าประสาททองนั้นทรงมีความรู้ความเข้าใจในศิลปะ มีความละเอียดอ่อนในเรื่องของศิลปะ และมีสุนทรียะอยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะทรงให้ความสนใจในเรื่องของความงาม มีความพิถีพิถันในเรื่องฉลองพระองค์เป็นพิเศษ ดังข้อความในพงศาวดาร ฉบับ วัน วลิต พ.ศ. 2182 (2523 :136) ความว่า “ทรงฉลองพระองค์สวยงามสีฉูดฉาด”

บทสรุป
หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อปี พ.ศ. 2310 โบราณสถานและวัดวาอารามถูกปล่อยปละละเลย ทิ้ง ไว้ให้รกร้างว่างเปล่า วัดชัยวัฒนารามนั้นจมอยู่ในป่ารกชัฏ เป็นที่หลบซ่อนของพวกเหล่ามิจฉาชีพ และถูกรื้อทำลายเพื่อขุดค้นหาของมีค่า มีการรื้อกำแพงเมืองเพื่อนำอิฐไปขาย ไม่มีใครสนใจหรือเห็นคุณค่า ไม่ว่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดีอีกต่อไป
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา ทางราชการได้หันมาสนในบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการขุดแต่งโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น วัดมหาธาตุ วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นต้น แต่วัดชัยวัฒนารามก็ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่นอกเกาะเมือง นอกเขต อุทยานประวัติศาสตร์ การบูรณะก็กระทำเฉพาะเท่าที่จำเป็น ทั้งยังขาดการดูแลเอาใจใส่ โบราณวัตถุสถานจึงถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก
ในปัจจุบัน วัดชัยวัฒนารามเป็นวัดหนึ่งในจำนวนหลาย ๆ วัด ที่สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรถึง 4 ครั้ง ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน คือครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2534 ครั้งที่สอง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2534 ครั้งที่สามนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปเมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2534 และครั้งสุดท้ายเมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2534 โดยตามเสด็จพระราชดำเนินไปพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงความสนพระทัยที่มีต่อวัดชัยวัฒนาราม และความสนพระทัยดังกล่าวได้รวมไปถึงโบราณสถานต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย
การที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ความสนพระทัยโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพิเศษนั้น นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะได้เห็นการบูรณะปฏิสังขรณ์และการอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานที่จะได้กระทำกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เปรียบเสมือนแสงเทียนที่กำลังจะดับมอดลง ได้ถูกจุดขึ้นให้เกิดประกายสุกใสโชติช่วงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ภาพของวัดชัยวัฒนารามที่ปรากฎให้เห็นในปัจจุบัน เป็นภาพของโบราณสถานที่สง่างาม มีพลังของการสร้างสรรค์ความงามทางศิลปะ และพลังของความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ มีสัดส่วนและลวดลายปูนปั้นประดับอ่อนช้อยงดงามกลมกลืนกันอย่างเหมาะสม ในยามที่พระอาทิตย์ใกล้อัศดง ความงามจากแสงสีทองที่ลูบไล้ พื้นผิวอันมีเสน่ห์ของอิฐและปูน ยอดปรางค์ที่สูงตระหง่านลดหลั่นกันลงมา สร้างความประทับใจไหลหลงจับจิตจับใจเป็นอย่างยิ่ง ไกลออกไปเป็นบ้านช่องที่อยู่อาศัยของผู้คนในระแวกนั้น สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ช่วยเสริมสร้างความมีชีวิตจิตใจให้แก่โบราณสถานแห่งนี้อย่างแท้จริงสมแล้วที่สถานที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนครประวัติศาสตร์ มรดกโลกทางวัฒนธรรม ที่ควรแก่การภาคภูมิใจของประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง
อิบปูนป่นสูญหาย เคยละลาย ลงโลมดิน
ไร้คนมายลยิน แทบสูญสิ้น เหลือเพียงนาม
พระบารมีทรงแจ่มชัด ชุบ “วัดชัยวัฒนาราม”
ห้มลังเมลืองตาม อดีตทองผ่องอำไพ
ปลื้มเอย เคยปลื้มปรางค์ อารามร้างพิเลิศพิไล
จะฟูฟื้นคืนมาใหม่ สู่ผองไทย..ตราบนิรันดร์.

บรรณานุกรม

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ. “มูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศไทย” ศิลปะไทย รวม
บทความทางศิลป. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2516.
กองบัญชาการทหารสูงสุด. พระราชพิธีสมโภชพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา.
กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้งกรุ๊ฟ, 2534.
เฉลิม สุขเกษม. “กรุงศรีอยุธยา” อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉับของพระยาโบราณ
ราชธานินทร์ เรื่องศิลปและภูมิสถานอยุธยาและจังหวัดพิจิตร.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์
สามมิตร, 2514.
โบราณราชธานินทร์, พระยา. อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณ
ราชธานินทร์ เรื่องศิลปและภูมิสถานอยุธยาและจังหวัดพิจิตร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์
สามมิตร, 2514.
ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 39 (ภาคที่ 64) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม).
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2512.
มานิจ ชุมสาย. บทความประกอบการสัมมนาประวัติศาสตร์อยุธยา. อยุธยา : วค.พระนครศรีอยุธยา,
2511.
วัน วลิต. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2182. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ประสานมิตร, 2523.
ศิลปากร, กรม, พระราชวังและโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์
สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2511.
ศรีศักร วัลลิโภดม. “พระนครศรีอยุธยาในฐานะราชธานี” ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา.
กรุงเทพฯ : อัลลายด์พรินต์เตอร์ส, 2533.
สังข์ พันธโนทัย. พระเจ้าปราสาททอง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2526.

Comments are closed.