วัดขุนแสน อยุธยา : วัดต้นตระกูลราชวงศ์จักรี

วัดขุนแสน อยุธยา : วัดต้นตระกูลราชวงศ์จักรี

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

นสพ. แนวหน้ารายวัน

ในช่วงนี้นอกจากปรากฏข่าวว่าองค์การยูเนสโกจะปลดกรุงศรีอยุธยาออกจากมรดกโลก และข่าวการบุกรุกทำลายโบราณสถาน สถานที่ทางประวัติศาสตร์และแหล่งโบราณคดีในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ค่อนข้างจะมากแล้วยังมีข่าวว่า เจดีย์ใหญ่ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดขุนแสนที่ตั้งอยู่กลางที่ชุมชนตลาดหัวรอ ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก พร้อมที่จะพังลงมาเมื่อไรก็ได้จนเป็นที่เกรงกันว่า หากพังทลายลงมาแล้ว นอกจากจะสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของราษฏรที่อาศัยอยู่โดยรอบเจดีย์แล้ว สมบัติอันมีค่าทางประวัติศาสตร์จะพลอยถูกทำลายลงไปด้วย
วัดขุนแสนเป็นวัดร้างตั้งอยู่ที่ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 58 ตอนที่ 16 วันที่ 16 มีนาคม 2484 ปัจจุบันปรากฏเนินโบราณสถานที่มีเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ตั้งอยู่ 1 องค์ ซากผนังอาคาร 1 แห่ง และพระพุทธรูปหินทรายที่ชำรุดมาก จำนวน 2 องค์ รอบ ๆ เจดีย์เป็นบ้านที่พักอาศัยของราษฏรที่บุกรุกเข้ามาจนชิดเจดีย์ และเนื่องจากองค์ระฆังของเจดีย์ ซึ่งก่อซ่อมในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ก่อไม่เสร็จ มีรอยร้าวขนาดใหญ่ มีบางส่วนทรุดลงจนน่ากลัวว่าจะพังลงมา ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรได้ใช้ลวดสลิงรัดยึดเอาไว้ถึง 4 เส้น
วัดขุนแสนนั้น มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน (2505 : 141) ในแผนดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา ความว่า “แลครอบครัวมอญซึ่งกวาดลงมานั้น ก็พระราชทานให้พระยาราม พระยาเกียรติควบคุมว่ากล่าวด้วย แลพระยาเกียรติพระยารามนั้น ให้อยู่ตำบลบ้านขมิ้นวัดขุนแสน”


สาเหตุที่พระยาเกียรติ พระยาราม ซึ่งเป็นชาวมอญได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรเข้ามารับราชการในกรุงสรีอยุธยานั้น เรื่องมีอยู่ว่าพระเจ้าไงสาวดีทรงดำริว่า สมเด็จพระนเรศวรประกอบไปด้วยพระปัญญาหลักแหลมลึกซึ้ง ทั้งการสงครามก็องอาจกล้าหาญ นานไปเห็นจะเป็นเสี้ยนศัตรูต่อเมืองหงสาวดีจึงคิดกลอุบายมีศุภอักษรไปถึงสมเด็จพระนเรศวรว่า ขณะนี้กรุงบุรรัตนอังวะเป็นกบฏแข็งเมืองต่อหงสาวดี เชิญให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปช่วยการสงคราม สมเด็จพระนเรศวรสำคัญว่าจริง จึงยกพยุหแสนยากรเสด็จไปถึงเมืองแครง และพักอยู่ใกล้อารามของพระมหาเถรคันฉ่อง
พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบก็มีความยินดีที่จะสมคิดแล้ว ได้ตรัสให้พระยาเกียรติ พระยาราม ลงไปรับและหาทางจับสมเด็จพระนเรศวรประหารชีวิตเสียให้จงได้ พระยาเกียรติ พระยาราม ซึ่งเป็นศิษย์ของพระมหาเถรคันฉ่อง ได้แจ้งอุบายของพระเจ้าหงสาวดีให้พระอาจารย์ทราบ พระมหาเถรคันฉ่องซึ่งมีใจกรุราต่อสมเด็จพระนเรศวร จึงได้พาพระยาเกียรติ พระยารามเข้าเฝ้าแจ้งให้ทราบถึงอุบายของพระเจ้าหงสาวดีที่คิดประทุษร้ายต่อสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนเรศวรเห็นว่าพระเจ้าหงสาวดีมิได้ทรงตั้งในทศพิธราชธรรม จึงได้ทรงประกาศอิสรภาพมิยอมอ่อนน้อมต่อกรุงหงสาวดีตั้งแต่บัดนั้น
สมเด็จพระนเรศวรทรงเกรงว่าหากพระมหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติ พระยาราม ยังอยู่ในเมืองแครงต่อไปจะเกิดอันตราย จึงได้พาเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้โปรดให้พระมหาเถรคันฉ่องอยู่วัดมหาธาตุ ส่วนพระยาเกียรติ พระยารามให้อยู่ตำบลบ้านขมิ้น วัดขุนแสน
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 4 ในราชจักรีวงศ์ ) ทรงมีพระอักษรไปถึงเซอร์จอนเบาริ่ง ( 1969 : 62 – 63 ) เล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษของพระองค์เดิมเป็นชาวมอญอยู่ในกรุงหงสาวดี ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา เมื่อตอนสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสระภาพ ท่านผู้นี้คือ กระยาเกียรติ ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดขุนแสน ได้มีลุกหลานสืบต่อมาจนถึงฏกษาปานในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระนารายณ์ได้ให้โกษาปานเป็นราชฑูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศส ต่อมาลุกหลานคนหนึ่งได้รับราชการกับเจ้าพระยาพิษณุโลกเมื่อตอนกรุงศรีอยุธยาแตก และได้รับบรรดาสักดิ์เป็นพระอักษรสุนทรเสมียนตรา พระอักษรเสมียนตรามีลูกหลานหลายคน คนที่ 4 เป็นชาย ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาดลก วึ่งเป็นปู่ของพระองค์ท่าน”
บันทึกของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาถึง ม.ล.มานิจ ชุมสาย ( 2530 : 54 ) บันทึกมีความว่า “ พระยาเกียรติแม่ทัพมอญได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรเข้ามารับราชการกับไทย ลุกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติได้แต่งงานกับเจ้าแม่ดุสิต ซึ่งเป็นพระนางที่มีตำแหน่งสูงในสำนักพระราชวัง เจ้าแม่ดุสิตมีบุตร 3 คน คือ นายเหล้กผู้พี่ใหญ่ คนที่สองเป็นหญิงชื่อแช่ม ต่อมาเป็นท้าวศรีสุดารักษ์ คนที่สามชื่อนายปาน คือคนที่สมเด็จพระนารายณ์ส่งไปเป็นฑูต ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2229.
วัดขุนแสนนี้ก็คงเช่นเดียวกับวัดโบราณทั่ว ๆ ไป ซึ่งคงมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาแต่ไม่ปรากฏหลักฐาน เพิ่งมาปรากฏหลักฐานการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 4 ความปรากฏในประชุมพงศาวดาร ( 2507 : 27 – 28 ) ความว่า “วัดขุนแสนนั้น ทรงพระราชดำริว่า พระบุรพการีของพระบรมจักรีวงศ์ได้ตั้งนิวาสถานอยู่ใกล้เคียง เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้พระยาราชสงครามเป็นนายงานสถาปนาอีกพระอาราม 1 ได้ก่อพระเจดีย์ใหญ่สวมเจดีย์ของเดิม และสร้างพระวิหารหลวง ยังไม่ได้ยกเครื่องบนคงค้างอยู่เพียงนั้น”

จากหนังสือกราบบังคมทูล เรื่องระยะทางเสด็จพระราชดำเนินทรงบวงสรวงอดีตมหาราช ณ พระราชวังกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลที่ 6 ของพระยาโบราณราชธานินทร์ อุปนายกมณฑลอยุธยา ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2464 ความว่า “ เมื่อทรงสถาปนาพระราชวังจันทรเกษมได้ทรงปฏิสังขรณ์และก่ออิฐหุ้มพระเจดีย์ของเดิมขึ้นไว้เพียงองค์ระฆัง กับก่อพระอุโบสถและศาลาโถงไว้อีก 2 หลัง ขุดคูรอบวัดผ่าสันกำแพงเมืองไปออกคลองเมือง 2 สาย แต่การยังมิทันเสร็จก็เสร็จสวรรคต วัดนี้จึงร้างมา ภายหลังมาในรัชกาลที่ 5 เมื่อโปรดให้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นแล้ว มีการที่จะทำถนนรอบกรุง จึงกลับถมคูตรงที่ขุดผ่ากำแพงเมืองทั้ง 2 สายนั้นเป็นถนนเสีย”

ศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่ที่วัดขุนแสน ได้แก่
ก. พระเจดีย์
พระเจดีย์ที่วัดขุนแสนเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นล่างมีขนาดประมาณ 20.00 เมตร สูงประมาณ 2.00 เมตร ชั้นบนมีขนาดประมาณ 16.00 เมตร สูงประมาณ 2.00 เมตร เหนือฐานแต่เดิมคงจะเป็นฐานเจดีย์และมาลัยเถาแต่เนื่องจากได้มีการซ่อมส่วนนี้ โดยใช้อิฐก่อพอกออกมาโดยรอบ มีความหนาประมาณ 2.50 เมตร ก่อสูงขึ้นไปจนเกือบถึงส่วนที่เรียกว่าบัลลังก์ ส่วนที่ก่อซ่อมนี้คือ ส่วนที่แตกชำรุดมาก มีรอยร้าวขนาดใหญ่โดยรอบ บางส่วนทรุดเลื่อนไหลลงมา ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ใช้ลวดสลิงขนาดใหญ่รัดไว้ จำนวน 4 เส้น ส่วนที่เป็นบัลลังก์เป็นของเดิม มีลักษณะเป็นฐานบัวสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นก้านฉัตรและปล้องไฉนซึ่งเป็นส่วนยอดของเจดีย์ ส่วนนี้ชำรุดแตกร้าวเช่นกัน
ข. พระพุทธรูป
พระพุทธรูปที่ปรากฏอยู่ในบริเวณโบราณสถานแห่งนี้ เป็นพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหินทรายอยู่ในสภาพชำรุด เหลือแต่ส่วนฐานทั้ง 2 องค์ จากส่วนที่เหลืออยู่สามารถบอกได้ว่า เป็นพระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก ตั้งไว้ที่ฐานก่ออิฐฉาบปูนที่ราษฏรทำขึ้น ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์เจดีย์
ค. ซากอาคาร
ซากอาคารที่ปรากฏอยู่เป็นส่วนของมุมผนังอาคารก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ขององค์เจดีย์ และไม่ปรากฏส่วนอื่น ๆ ที่จะทำให้บอกไว้ว่าเป็นอาคารประเภทใด
ง. ศาลพระภูมิ
บนมุมฐานเจดีย์ชั้นล่างด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีราษฏรสร้างศาลพระภูมิไว้ 1 หลัง มีขนาดกว้างประมาณ 1.00 เมตร ยาว 1.50 เมตร มุงด้วยสังกะสี ภายในมีรูปหล่อสมัยใหม่ตั้งอยู่ การกำหนดอายุโบราณสถานวัดขุนแสน อาจพิจารณาจากข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนที่ว่า “แลพระยาเกียรติ พระยารามนั้น ให้อยู่ตำบลบ้านขมิ้น – วัดขุนแสน” แสดงให้เห็นว่า วัดขุนแสนนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ( 2112 – 2133 ) และจากรูปแบบของเจดีย์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะเช่นเดียวกับรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆัง ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ( 2034 – 2072 ) จึงอาจกำหนดอายุเจดีย์วัดขุนแสนไว้เป็นเบื้องต้นได้ว่า คงจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21
จากการเข้าไปสำรวจของผู้เขียน ปรากฏข้อสังเกตหลายประการดังนี้
1. วัดขุนแสนนี้เป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญมากวัดหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระทัยเป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าเป็นวัดที่พระบุรพการีของพระบรมจักรีวงศ์ได้ตั้งนิวาสสถานอยู่ใกล้เคียง และได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์แต่ยังบูรณะไม่เสร้จก็เสด็จสวรรค์คตเสียก่อน ต่อจากนั้นไม่มีใครสนใจวัดนี้อีกเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมศิลปากรที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติบ้านเมือง ก็ทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรมไม่บูรณะปฏิสังขรณ์ และปล่อยให้ราษฏรบุกรุกเข้าไปตั้งที่อยู่อาศัยจนแน่นชิดกับโบราณสถานทั้ง ๆ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้วจนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานถึง 54 ปี และที่น่าเกลียดมากคือ ในอดีตนั้นได้ปล่อยให้มีการประกอบธุรกิจทางเพศ ในบริเวณนี้จนเป็นที่เลื่องลือกันโดยทั่วไป และถึงแม้ว่าธุรกิจทางเพศดังกล่าวจะเลิกลาไปนานแล้ว แต่ยังเป็นที่กล่าวถึงจนทุกวันนี้ และเนื่องจากกรมศิลปากรมิได้เห็นความสำคัญของวัดขุนแสนดังกล่าว จึงปรากฏว่าในแผนแม่บทโครงการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ของกรมศิลปากร ซึงคณะรับมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2536 จึงไม่มีรายชื่อวัดขุนแสนอยู่ในกลุ่มโบราณสถานที่จะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์แต่อย่างใด
2. ปัจจุบันเจดีย์วัดขุนแสนอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก และพร้อมที่จะพังลงมา ทางผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ นายบรรจง กันติวิรุฒ ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษและมิได้นิ่งนอนใจ พยายามดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันเหตุอันไม่พึงปรารถนาที่อาจเกิดขึ้น แต่เพราะความสลับซับซ้อนทางด้านตัวบทกฏหมาย กล่าวคือ ตัวโบราณสถานนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535 ส่วนสถานที่ที่โบราณสถานตั้งอยู่นั้น อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการศาสนา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535 และเพราะวัดขุนแสนเป็นวัดร้างที่มีกฏหมายควบคุมอยู่ 2 ฉบับ มีหน่วยราชการดูแลรับผิดชอบ 2 แห่ง ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารและการจัดการหลายประการ จึงทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ได้ดังคำปรารภของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการสัมมนาเรื่องพระนครศรีอยุธยา : นครประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 ณ วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ความตอนหนึ่งว่า “ ถ้าหากปล่อยให้พัง คนก็จะบาดเจ็บล้มตายกันกลางเมือง บ้านเรือน เจดีย์ คนจะบาดเจ็บ ทรัพย์สินจะเสียหาย ถ้าเจดีย์พังทลายลงมา ช่วยการถอนอยุธยาออกจากเป็นมรดกโลกก็จะยิ่งรุนแรงมากกว่าเดิม ขณะนี้ระยะเวลาเดือนเศษ ๆ เกือบสองเดือนแล้วผมยังจัดการเรื่องนี้ไม่ได้”
วัดขุนแสนนั้นนับเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นวัดที่สมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้จัดให้พระยาเกียรติ พระยาราม ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการช่วยเหลือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้รอดพ้นจากความไม่ซื่อตรงของพระเจ้าหงสาวดีทำให้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ผลิกผันไปในการที่ดีงามเกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองเป็นอันมากและที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ในเวลาต่อมาลูกหลานของพระยาเกียรติ พระยารามา ได้สร้างคุณงามความดีในแผ่นดิน เช่น เจ้าพระยาโกษา-ธิบดี ( เหล็ก ) ผู้เป็นกำลังสำคัญในการป้องกันชาติในสมัยพระนารายณ์หรือเจ้าพระยาโกษาธิบดี –
( ปาน ) ได้ทำหน้าที่ราชทูต ไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศฝรั่งเศษสร้างชื่อเสรียงจนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีซึ่งสืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลนี้ ได้ทรงทำประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองเป็นเอนกอนันต์จนถึงปัจจุบัน
จากตัวอย่างที่กล่าวมาได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า วัดขุนแสงนี้มีความสำคัญเป็นอันมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นวัดสำคัญของราชจักรีวงศ์แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก ควรที่พี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ และดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ทันกาล ก่อนที่เจดีย์องค์ใหญ่ที่เป็นประธานของวัดจะพังลงมา
ผู้เขียนมีความเห็นว่า ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีพุทธศักราช 2539 ที่จะถึงนี้น่าที่หน่วยราชการ พ่อค้า ประชาชน จะได้ร่วมมือร่วมใจกันหาทางบูรณะปฏิสังขรณ์วัดขุนแสง ให้กลับสู่สภาพที่สง่างามสมกับเป็นวัดที่สำคัญทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศลและแสดงความจงรักภักดี เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าแนวคิดนี้จะเป็นที่ยอมรับ และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมในที่สุด

เอกสารอ้างอิง

ประชุมพงศาวดาร. เล่มที่ 15 ( ประชุมพงศาวดารภาคที่ 25 – 27 ) . องค์การค้าคุรุสภา , 2507

พระยาโบราณราชธานินทร์. ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประภาส
ทรงบวงสรวงอดีตมหาราช ณ พระราชวังกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลที่ 6.

มานิจ ชุมสาย. “ เรื่องของพระนารายณ์และโกษาปาน”.
สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14. อมรินทร์ พรินติ้ง กรุ๊ฟ , 2530
ศิลปากร , กรม. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน.
คลังวิทยา . 2505.
Bowring , Sir John. The Kingdom and People of Siam. Vol 1 , Oxford University Press , 1969.

16 thoughts on “วัดขุนแสน อยุธยา : วัดต้นตระกูลราชวงศ์จักรี

  1. บ้านอยู่ติดวัดขุนแสนเลยค่ะ สมัยนั้นเค้าทำธุรกิจทางเพศกันคึกคักจริงๆ สร้างบ้านล้อมฐานเจดีย์เลย และมีเพื่อนเป็นลูกสาวของคนในนั้นด้วย จึงวิ่งเล่นที่เจดีย์กันมาตั้งแต่เด็ก โตมาเห็นว่ามีการพยายามบูรณะกันแล้วก็ดีใจ เพราะไม่อยกาเห็นอยุธยาโดนถอนออกจากมรดกโลก และพวกเราสมควรช่วยกันรักษาประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดเราไว้ด้วยค่ะ

  2. อยากจะช่วยก็ช่วยได้…แต่ไม่อยากช่วย นอกจากคนที่เห็นคุณค่าของอยุธยา คนที่อยู่ในอยุธยาจริง ๆ มีไม่เท่าไร นอกนั้นเป็นพวกฉวยโอกาส หรือ ได้โอกาส เข้ามาอยู่ ทำมาหากินกันทั้งนั้น ทำอย่างไรได้…การศึกษาในบ้านเมืองนี้ ไม่ได้เน้นเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเป็นหลักในการนำพาประเทศ มุ่งเน้นเศรษฐกิจและอำนาจเป็นสำคัญ…อะไร ๆ จะเกิดก็ต้องเกิด อย่าไปยึดติด…เลย 🙁 🙁

  3. เคยอยู่บ้านติดกับซ่องที่ว่าเลย แต่บ้านเราเป็นบ้านชาวจีนธรรมดาสมัยที่อยู่ก็นานมากเป็น
    เกือบ 20 ปีแล้วแต่ตอนที่เราอยู่เราเป็นรุ่นหลานเข้าทำเป็นหอพักแหละ
    เคยเข้าไปวิ่งเล่นซ่อนหาในนั้นด้วย ตอนนั้นประมาณ 5 ขวบ เข้าไปแอบ
    อาม่าเจอโดนตีเลย
    อยู่แบบข้างหลังเป็นเจดีย์ มีงูเหลือมตัวใหญ่มากลงเข้ามาในบ้านบ่อย ๆ แหละ
    พึ่งทราบประวัติความสำคัญของวัดนี้ ตอนอายุเข้าเลข 3 จากเว็บนี้
    จำได้ว่าเข้ามีการทำบุญเจดีย์ทุกปีนะคะ เรายังได้กินของไหว้เลย อร่อยมาก

  4. ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ค่ะ
    เพราะเราก็เกิดและโตมากับสถานที่แห่งนี้ค่ะ
    แต่ปัจจุบันไม่มีไฟที่ติดช่วยให้ความสว่างกับเจดีย์แห่งนี้
    ทำให้ตอนกลางคืนค่อนข้างน่ากลัว และยังเป็นแหล่งของบรรดา
    พวกที่ประกอบกิจการในทางผิดกฏหมายด้วยค่ะ
    อยากให้ทางผู้ที่ดูแลสถานที่แห่งนี้เข้ามาช่วยดูแลให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ค่ะ

  5. ผ่านมา ๓0 ปี เพิ่งจะได้รู้ถึงคุณค่าแห่งสถานที่นี้ น่าเศร้าใจที่ลูกหลานไทยเพียงแต่ได้ผ่านไปผ่านมา ไม่มีเรื่องราวบอกชัดถึงประวัติความเป็นมาให้ภาคภูมิใจ เพราะเชื่อว่า ถ้าหากทุกคนรู้เรื่องราวนี้คงจะมีอีกหลายคน ที่รู้ค่าของนครประวัติศาสตร์แห่งนี้ วัฒนะธรรมจารีตประเพณีที่ดีงาม กำลังจะหมดไปจากแผ่นดินไทย เพราะความไม่รู้คุณค่าแห่งประวัติศาสตร์ …ขอบคุณมากนะคะเพราะหาความนี้ไม่ได้จากป้ายของภาครัฐ ล่าสุดเข้าไปเดินเล่นเพราะอยากรู้ประวัติเพิ่มเติม หลังจากได้ข้อมูลมาว่าวังหน้าสมัยอยุธยามีพื้นที่กว้างขวางมากก็เลยคิดว่าวัดนี้มีเจดีย์องค์ใหญ่ น่าจะเป็นวัดสำคัญเป็นแน่ จะสายไปหรือไม่สำหรับการทวงคืนความเป็นวิถีไทยที่งดงามกลับคืนมา อยู่แบบเรียบง่ายแต่งดงาม ตามธรรมชาติที่เหมาะสม ไม่ทำลายพี่น้องไทยด้วยกัน ไม่ทำร้ายธรรมชาติให้ขาดสมดุล…เคยอาศัยอยู่บ้านเช่าข้างองค์พระเจดีย์วัดขุนแสน จำได้ดีกับงูแสงอาทิตย์ตัวใหญ่ที่มาต้อนรับสู่เมืองกรุงเก่า จากนั้นก็ได้ไปอยู่ข้างๆวังหน้า ขอบคุณความทรงจำในวัยเยาว์ที่ทำให้เราได้รู้จักกัน แล้วจะคอยติดตามเรื่องราวต่างต่อไปนะคะ ….ขอบพระคุณอย่างสูง

  6. ไปเทียวได้แล้ว เข้าทางวัดเสนาและจอรถที่ โรงเรียนจีน และเดินอีก20เมตรเป็นวัดเกาคง100ตะรางวาเป็นที่พักเย็นๆสัก10-30นาที และก็เดินทางขวาไปอีก50เมตรกินเตียวไก่ฉีกและอื่นๆ ก้อนถึงหัวโค้งหัวรอ หรือเลยซื่อของที่ตลาดเลยก็ดี

Comments are closed.