การขุดแต่งแหล่งโบราณคดีวัดสังขแท้อยุธยา : บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ

การขุดแต่งแหล่งโบราณคดีวัดสังขแท้อยุธยา : บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

เผยแพร่ใน วารสารทางวิชาการ ราชภัฏกรุงเก่า ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ปีการศึกษา 2537

จากรายงานการขุดแต่งแหล่งโบราณคดีสังขแท้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยรัศมี ชูทรงเดช แห่งภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ 1 ปีที่ 17 ประจำเดือนมกราคม – มีนาคม 2534 มีความตอนหนึ่งว่า “ระหว่างวันที่ 11 – 19 มีนาคมที่ผ่านมา ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ได้นำนักศึกษาโบราณคดีจำนวน 66 คน ออกฝึกปฏิบัติงานภาคสนาม ณ แหล่งโบราณคดีวัดสังขแท้ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” จากข้อความดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นว่า การศึกษาวิชาโบราณคดีในประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้จัดการศึกษาด้านนี้แต่เพียงแห่งเดียวนั้น ตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการผลิตบัณฑิต โดยจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ตรง ได้สัมผัสกับแหล่งโบราณคดีจริง ๆ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพเพียงพอในการที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองทางด้านโบราณคดีต่อไป ซึ่งควรจะได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง
แหล่งโบราณคดีสังขแท้แห่งนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นโบราณสถานที่ปรากฏชื่อในแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินท์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ซึ่งเขียนไว้เมื่อ พ.ศ. 2469 แต่ไม่ปรากฏคำอธิบายใด ๆ และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 60 ตอนที่ 39 ลงวันที่ 20 กันยายน 2486 ซึ่งประกอบด้วย เนินโบราณสถาน 3 เนิน เจดีย์ทรงระฆัง 1 องค์ เจดีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์ 1 องค์ และหอระฆัง 1 หอ ตั้งอยู่ในบริเวณที่คูน้ำล้อมรอบ มีเนื้อที่กว้างประมาณ 85 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร มีทางเข้าทางทิศตะวันออก ด้านที่ทำการของโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ ฯ


แหล่งโบราณคดีวัดสังขแท้นี้ นักศึกษาคณะโบราณคดีได้ฝึกขุดแต่งเนินโบราณสถานที่เป็นซากอาคาร 3 หลัง เพื่อศึกษารูปแบบอาคารและขุดชั้นดินเพื่อตรวจสอบลำดับชั้นทางวัฒนธรรม โดยขุดหลุมที่มุมซากอาคาร อาคารละ 2 หลุม รวม 6 หลุม (ตามแผนผัง) ดังนี้

เนินโบราณสถานหมายเลข 1
หลุมที่ 1 ขุดที่มุมอาคารด้านหน้า ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขุดหลุมกว้างประมาณ 6.00 × 6.00เมตร ลึกประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
หลุมที่ 2 ขุดมุมอาคารด้านหลัง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ขุดหลุมกว้าง 4.00 × 8.00 เมตร ลึกประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
เนินโบราณสถานหมายเลข 2
หลุมที่ 1 ขุดที่มุมอาคารด้านหน้า ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขุดหลุมกว้าง 6.00 × 9.00 เมตร ลึกประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
หลุมที่ 2 ขุดที่มุมอาคารด้านหลัง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มุมเจดีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์ ขุดหลุมกว้าง 5.00 × 10.00 เมตร ลึกประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
เนินโบราณสถานหมายเลข 3
หลุมที่ 1 ขุดที่มุมอาคารด้านหน้า ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขุดหลุมกว้างประมาณ 8.00 × 8.00 เมตร ลึกประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
หลุมที่ 2 ขุดที่มุมอาคารด้านหลัง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มุมเจดีย์ทรงระฆัง ขุดหลุมกว้างประมาณ 5.00 × 13.00 เมตร ลึกประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร รวมเนื้อที่ขุดทั้งหมด 6 หลุม ประมาณ 300 ตารางเมตร
เป็นที่น่าสังเกตว่า ลักษณะการขุดแต่งของนักศึกษาในครั้งนี้ ( พ.ศ. 2533 ) เป็นการขุดที่กระจายหลายจุดทั่วบริเวณ และหลังจากขุดแล้ว ไม่ได้กลบปิดหลุมเพื่อรักษาหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังเหลืออยู่ ในบริเวณยังทิ้งอิฐ กระเบื้อง ฯลฯ ที่ขุดขึ้นมาไว้เกะกะทั่วไป ซึ่งเมื่อเวลาล่วงเลยจนถึงปัจจุบัน ( พ.ศ. 2535 ) บริเวณที่ขุดไว้ก็ค่อย ๆ พังทลายลง การพังทลายนี้มีผลกระทบไปยังฐานของอาคารของโบราณสถานที่ยังเหลืออยู่ ดังนั้นการขุดแต่งแหล่งโบราณคดีดังกล่าว แทนที่จะเกิดประโยชน์ทางด้านการศึกษาตามที่รายงานไว้ กลับดูเสมือนว่า เป็นการขุดที่ทำลายโบราณสถานไปอย่างน่าเสียดาย
การขุดแต่งที่กลับกลายเป็นการทำลายแหล่งโบราณคดีครั้งนี้อาจพิจารณาได้ 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 นักศึกษาที่ลงมือปฏิบัติการขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการขุดแต่งโบราณสถาน จึงคาดไม่ถึงว่าการขุดแต่งที่ไม่ได้กลบหลุมนั้น มีผลกระทบต่อบริเวณที่ขุดและบริเวณโดยรอบอย่างไร ประเด็นที่ 2 เกิดจากผู้ควบคุมการปฏิบัติการของนักศึกษาว่าเข้าใจถึงกระบวนการขุดแต่งที่สมบูรณ์หรือไม่ ได้ตระหนักหรือไม่ว่าการขุดแต่งนี้อาจกลับกลายเป็นการทำลายแหล่งโบราณคดีไปได้ หากขุดแต่งแล้วไม่กลบ และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ หากนักศึกษาที่ได้รับบทเรียนไปในลักษณะเช่นนี้ ย่อมขาดความรู้สึกรับผิดชอบต่อการขุดแต่งแหล่งโบราณคดี ฉะนั้น การที่จะสอนนักศึกษาให้มีจิตสำนึกของนักโบราณคดี ที่เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์โบราณสถานย่อมจะไม่เกิด และคงจะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะผลิตบัณฑิตทางโบราณคดี ที่ขุดดินเพื่อศึกษาแต่ไม่เห็นคุณค่าของโบราณสถาน ความจริงแล้วการศึกษาวิชาโบราณคดีโดยการออกฝึกภาคสนาม เพื่อให้นักศึกษาค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีนั้น จะทดลองขุดตรงไหนก็สามารถศึกษาได้ทั้งสิ้น อย่างน้อยก็ได้ศึกษาถึงกระบวนการขุดแต่ง ตลอดจนสามารถศึกษาชั้นดินต่าง ๆ และตรวจสอบลำดับชั้นทางวัฒนธรรมของผู้คนที่เข้ามาประกอบกิจกรรมในบริเวณนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องขุดในเขตโบราณสถานแต่อย่างใด เพราะโบราณสถานเป็นสมบัติของชาติ เป็นสมบัติส่วนรวม ซึ่งเมื่อถูกทำลายลงไปแล้ว ก็ไม่สามารถนำกลับคืนมาได้อีก สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ การขุดแต่งโบราณสถานนั้น จำเป็นจะต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ทางด้านนี้พอสมควร การใช้โบราณสถานเพื่อการทดลอง กับนักศึกษาที่มีประสบการณ์น้อย ขาดความเชี่ยวชาญในการขุดแต่งนั้น ไม่แน่ใจว่า ผลที่ได้รับจะคุ้มกับคุณค่าของโบราณสถานที่ต้องสูญเสียไปหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ควรดำเนินการในขณะนี้อย่างเร่งด่วนก็คือ
1. จัดการกลบหลุมที่ขุดไว้ให้เรียบร้อย เพื่อจะได้รักษาหลักฐานทางโบราณคดี ที่ยังเหลืออยู่ และช่วยยับยั้งการพังทลายของโบราณสถานเพิ่มขึ้นอีก
2. ทบทวนกระบวนการเรียนการสอนวิชาโบราณคดี โดยมุ่งเน้นการศึกษาหาหลักฐานทางโบราณคดี ตลอดถึงการอนุรักษ์ และสร้างจิตสำนึกทางด้านการอนุรักษ์ และเห็นคุณค่าของโบราณสถานให้เกิดแก่นักศึกษาควบคู่ไปด้วย
3. ถ้าหากยังมีความจำเป็นต้องฝึกภาคสนาม โดยการต้องฝึกในแหล่งโบราณคดีที่มีโบราณสถานตั้งอยู่ จะต้องเน้นในเรื่องความรับผิดชอบ และความรู้สึกหวงแหนสมบัติส่วนรวมของชาติอย่างจริงจัง การฝึกขุดแต่งควรจะได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบ และมีความต่อเนื่องโดยขุดและแต่งให้เสร็จไปในคราวเดียวกัน
4. การร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน คือ คณะโบราณคดี และโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีภาระหน้าที่ร่วมกันควรจะได้มีการติดตามผล เพื่อรักษาเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ เพราะถ้าขาดความชัดเจน ก็จะเป็นปัญหาอย่างที่ปรากฏอยู่ที่วัดสังขแท้นี้
โบราณสถานในกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ถูกขุดค้นทำให้เกิดความเสียหายและพังทลายไปเป็นจำนวนมาก จากพวกมิจฉาชีพที่ค้นหาของมีค่า สำหรับการขุดแต่งที่วัดสังขแท้นี้ เป็นอีกกรณีหนึ่ง ที่สร้างความเสียหายให้แก่โบราณสถานของชาติ ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า เป็นฝีมือของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง
หนังสืออ้างอิง

รัศมี ชูทรงเดช. “การขุดแต่งแหล่งโบราณคดีวัดสังขแท้” ใน วารสารเมืองโบราณ. 1(17) มกราคา – มีนาคม 2534.

Comments are closed.