น้ำดื่มอันตราย

น้ำดื่นอันตราย

รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

สารประชาสัมพันธ์ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 3 วันที่ 25-29 มิถุนายน 2542

ภาพลายเส้น : วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

จากรายงานเรื่อง “เลือกซื้อและบริโภคพืช ผัก และผลไม้อย่างไรให้ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงตกค้าง” โดยฝ่ายชีววิทยาและชีววิทยาประยุกต์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ที่พิมพ์เผยแพร่ในสารประชาสัมพันธ์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 2 ประจำวันที่ 15-21 มิถุนายน 2542 ได้รายงานการศึกษาพืช ผัก และผลไม้บางชนิดที่มีจำหน่ายในตลาดสดหรือวางจำหน่ายทั่วไปในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ โดยการสุ่มตัวอย่าง “จากผัก 11 ชนิด จำนวน 16 ตัวอย่าง คือ ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักกาดขาว หัวผักกาด ผักชี ต้นหอม ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก มะเขือเทศ แตงกวา และผลไม้ 2 ชนิด จำนวน 2 ตัวอย่าง คือ องุ่มและฝรั่ง พบว่า ผักกาดและผลไม้ทุกชนิดมียาฆ่าแมลงตกค้าง แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อย่างไรก็ดี มี 1 ตัวอย่าง ที่เป็นผักคะน้า พบยาฆ่าแมลงตกค้างมากเกินมาตรฐานและอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย”

นอกจากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว ฝ่ายชีววิทยาฯยังได้ให้คำแนะนำในการเลือกซื้อพืช ผัก ผลไม้ ที่เป็นความรู้ มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บริโภค ซึ่งผมรู้สึกชื่นชมยินดีกับหน่วยงานนี้จริงๆ ที่มีความห่วงใยและรับผิดชอบในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีและงดงามควรให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง

แต่จากรายงานของหน่วยงานเดียวกัน เรื่อง “เตือนภัยน้ำแข็งและน้ำดื่มบรรจุขวด-บรรจุถัง” ที่พิมพ์เผยแพร่ในสารประชาสัมพันธ์ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 ประจำวันที่ 7-14 มิถุนายน 2542 ได้รายงานการศึกษาน้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้อต่างๆ ที่มีแหล่งผลิตในเขตอำเภอเมือง และอำเภอใกล้เคียง ของจังหวัดบุรีรัมย์ ในเดือนพฤษภาคม 2542 โดยการสุ่มตัวอย่างน้ำดื่ม จำนวน 7 ยี่ห้อง และรายงานว่า มีน้ำดื่มจำนวน 2 ยี่ห้อ ที่มีแบคทีเรียชี้แนะในปริมาณเกินมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดโรคระบบทางเดินอาหารได้

จากการศึกษาตัวอย่างน้ำที่ 1 (ตามตารางท้ายบทความ) พบว่า จำนวนแบคทีเรียชี้แนะมีปริมาณมากขึ้นจาก 100 ต่อน้ำ 100 ml. ในสัปดาห์ที่ 1 เพิ่มเป็น 6,900 ต่อน้ำ 100 ml. ในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม อันเป็นปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นมากและเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งได้กำหนดไว้เพียง 2.2 ต่อน้ำ 100 ml. เท่านั้น

ผมไม่ทราบว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับข้อมูลนี้ แต่สำหรับผม ผมรู้สึกตื่นตระหนกตกใจเป็นอันมาก เนื่องจากไม่ทราบว่าน้ำดื่ม “ธารา” ซึ่งผมดื่มอยู่เป็นประจำทุกวันนั้น เป็นน้ำดื่ม 2 ยี่ห้อ ที่มีแบคทีเรียชี้แนะเกินปริมาณมาตรฐานตามที่ศูนย์วิทย์ฯ ศึกษาหรือไม่ เพราะศูนย์วิทย์ฯ ไม่ได้ระบุยี่ห้อไว้ และจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้วผมก็ยังหวาดผวาอยู่ ทั้งนี้เพราะยังไม่มีรายงานของหน่วยงานใดๆ ที่ออกมายืนยันให้ผมมั่นใจได้ว่า มีการปรับปรุงคุณภาพของน้ำดื่มที่จำหน่ายในจังหวัดบุรีรัมย์ ให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้

ดังนั้น ผมจึงใคร่ของเสนอความเห็นสักสองประเด็น ดังนี้

1. การเผยแพร่ผลการศึกษาในเรื่องที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง เช่น เรื่องน้ำดื่มดังกล่าว ผู้ศึกษาจะต้องมั่นใจในผลการศึกษาและมีความกล้าหาญทางวิชาการที่จะระบุให้ชัดเจนลงไปว่า น้ำดื่มยี่ห้อใดมีความสะอาดอยู่ในเกณฑมาตรฐาน และน้ำดื่มยี่ห้อใดไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากระบุแล้วกลัวเขาจะฟ้อง ก็อย่าทำรายงานมาเผยแพร่ เก็บไว้อ่านเองเฉยๆ เพราะการเผยแพร่รายงานดังกล่าว มีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนเป็นจำนวนมาก และมีลักษณะของการปกป้องผู้ผลิต มิได้ปกป้องผู้บริโภค คือ กลัวผู้ผลิตจะเสียหาย กลัวตัวเองจะถูกฟ้อง แต่ไม่กลัวผู้บริโภคจะตื่นตระหนกตกใจ

2. หากไม่สามารถระบุยี่ห้องของน้ำดื่มที่ใช้ศึกษาวิจัย จะเนื่องด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็น่าจะแจ้งผลการศึกษาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สาธารณะสุขจังหวัด หรือแจ้งผู้ผลิตน้ำดื่มที่พบแบคทีเรียชี้แนะมาก เพื่อปรับปรุงคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แล้วจึงค่อยเผยแพร่รายงาน

อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะเรียนถามศูนย์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เสียตรงนี้เลยว่า น้ำดื่ม “ธารา” ที่สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ผลิตจำหน่ายจนแทบผลิตไม่ทันนั้น เป็นน้ำดื่มที่สะอาดบริสุทธิ์ตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณะสุขหรือไม่

และหากน้ำดื่ม “ธารา” ที่เราผลิตจำหน่ายให้คนในจังหวัดบุรีรัมย์ ครูบาอาจารย์และลูกหลานของเราได้ดื่มกินกันนั้น มีความสะอาดบริสุทธิ์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ก็ควรจะได้ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางและมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากว่าน้ำดื่ม “ธารา” ของเรา เป็นหนึ่งในจำนวนน้ำสองยี่ห้อที่มีแบคทีเรียชี้แนะอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว อยากถามว่า “ใครควรจะรับผิดชอบ”

2 thoughts on “น้ำดื่มอันตราย

  1. เจ้งไปนานแล้ว น้ำดื่มที่ว่านี้นะ ยังเคลียหนี้สินไม่จบ เพราะอธิการบดีในช่วงนั้นถูกย้ายด่วนไปประจำสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กทม. เรื่องยุ่ง ๆเกิดขึ้นมากมาย จนได้บทความราชภัฏบุรีรัมย์ป่วย สองตอนโดยวิโรจน์ เอี่ยมสุข และโดนแบนไม่ให้ลงวรสารประชาสัมพันธ์ และอาการป่วยของราชภัฏบุรีรัมย์ก็ยังไม่ทุเลา ซ้ำยังระบาดไปยังราชภัฏสุรินทร์ เพื่อนบ้านอีกด้วย โปรดติดตามในเร็ววันนี้ (coming soon) / ตน บุรีรัมย์

  2. เป็นที่น่ายินดีมากๆๆสำหรับวันนี้ที่ผมได้ Search ข้อมูลมาเจอเว็บไซต์ท่านอาจารย์วิสุทธิ์ ซึ่งอาจารย์เคยสอน..สมัยผมเรียน รภ.บุรีรัมย์ กลุ่มไม่ใส่ร้ายแต่ป้ายสี ซึ่งอาจารย์คอยให้คำปรึกษาเป็นอย่างดีมากและวันนี้ก็ได้มาเจอเว็บอาจารย์ ผมก็เข้ามาอ่านและก็ชอบผลงานอาจารย์มากๆๆครับ
    ศิษย์เก่า
    วินิจ เหล่าศรี

Comments are closed.