แพ้กันแค่รู..ถ่าย

วิสุ์ทธิ์  ตูน  8  พค. 53

a46

แดงจ่อม้วนเสื่อกลับ ‘วีระ’แจงม็อบรอถกรายละเอียด-ไม่กี่วันจบ
ข่าวหน้า 1  วันที่  6 พฤษภาคม 2553 – 00:00

  “มาร์ค” ส่ง “วอลเปเปอร์” การันตี “โรดแม็พ” ไม่เกี้ยเซี้ย อ้างเป็นกุญแจไขไปสู่การแก้ปัญหาโดยไม่ให้เกิดความสูญเสีย เปิดช่องให้ซากศพคืนชีพ พ่วง ปชช.ทั่วไปที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเข้าสู่กระบวนการปรองดอง ยันไม่นิรโทษกรรมคดีอาญา เดินหน้าคดีก่อการร้าย-ล้มสถาบัน ไว้เชิงไม่ระบุวันยุบสภา ให้ไปนับเองก็รู้ว่าระหว่าง 15-30 ก.ย. พร้อมคลอด “พิมพ์เขียว” เร็วๆ นี้ พรรคร่วมฉุนมาร์คข้ามหัว บี้ “เทือก” แก้เขตเลือกตั้ง แกนนำ นปช.ยังงอแงจี้เคลียร์ ปชป.-พธม.เหวงๆ เสนอ 5 ข้อย้อนเกล็ดนายกฯ ก่อนปรองดอง

     ที่กรมทหารราบที่  11 รักษาพระองค์ วันที่ 5 พฤษภาคม นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา  พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคนใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงถึงโรดแม็พที่นายอภิสิทธิ์เสนอเพื่อนำไปสู่ความปองดองว่า ได้รับมอบหมายจากฝ่ายการเมืองให้มาอธิบายข้อเท็จจริงเรื่องของโรดแม็พ หลังจากที่นายกฯ ได้ให้คำตอบทางการเมืองด้วยการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมในกระบวนการปรองดองตามโรดแม็พ 5 ข้อ เพื่อนำประเทศคืนสู่ความสงบและบรรเทาความขัดแย้ง ความแตกแยกที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง

     “ซึ่งมีประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจ และมีบางส่วนเรื่องตั้งคำถามในลักษณะที่ว่า โรดแม็พนี้ทำขึ้นเพียงเพื่อเป็นทางลงให้กับรัฐบาลให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงหรือไม่ ประชาชนบางส่วนตั้งข้อสังเกตเป็นคำถามด้วยว่า รัฐบาลไปสมยอมกับแกนนำผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายโดยไม่มีการรักษาหลักนิติรัฐตามที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ใช่หรือไม่”

     นายศิริโชคชี้แจงว่า ประเด็นแรกที่มองว่าเป็นเพียงแค่ทางลงให้กับรัฐบาลและกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น คำตอบตรงนี้ชัดเจน ไม่ใช่แต่โรดแม็พเป็นกุญแจดอกหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลหยิบยื่นเพื่อไขไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีหลักคิดที่เราไม่อยากให้เกิดการสูญเสียขึ้นในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายใดก็ตาม เพราะทุกคนล้วนแต่เป็นคนไทยทั้งสิ้น คำถามต่อไปทางรัฐบาลจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในภาวะที่ยังมีประชาชนจำนวนมาก ยอมเป็นโล่มนุษย์ให้กับกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยที่ยังไม่สามารถแยกประชาชนเหล่านั้นออกจะอันตรายในที่ชุมนุม

     “ความสูญเสียที่เราไม่อยากให้เกิดในระหว่างที่รัฐบาลเข้าไปบังคับใช้กฎหมายคงไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้ และมีตัวอย่างที่ชัดเจนในห้วงวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่มีชุดดำในกลุ่มผู้ชุมนุมพร้อมอาวุธสงครามในมือและสาดกระสุนใส่ทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างบ้าคลั่ง และนำความสูญเสียไปปลุกระดมกล่าวหาว่ารัฐสั่งฆ่าประชาชน”

     คนใกล้ชิดนายกฯ บอกว่า เราต้องยอมรับความจริงว่าในขณะนี้ประชาชนกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมที่ความรู้สึกโกรธแค้น ถูกปลุกปั่น ถูกปลุกเร้า ถูกยุยงด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนเหล่านั้นมีความเคียดแค้นชิงชังรัฐบาล ทำให้พวกเขาปฏิเสธที่จะรับฟังข้อมูลอีกด้าน และตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์จนถูกแกนนำใช้เป็นเครื่องมือ ปัญหาคือจะทำอย่างไรที่จะแยกประชาชนเหล่านี้ออกจากผู้ก่อการร้าย หนทางที่ดีที่สุดของรัฐบาลคือต้องไม่เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผลของพวกเขา

ไม่นิรโทษฯ คดีอาญา
    “นายกฯ เลยประกาศชัดในโรดแม็พ เพราะรัฐบาลพร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้งภายในวันที่ 14  พ.ย. ซึ่ง 6 เดือนก่อนที่จะให้มีการจัดการเลือกตั้งไม่ใช่เป็นการยืดอายุรัฐบาลในการบริหารประเทศต่อด้วยความเห็นแก่ตัวของฝ่ายการเมืองที่ขาดความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง แต่จะเป็น 6 เดือนที่นายกฯ ต้องการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสมานบาดแผลแผ่นดินที่เกิดจากความแตกแยกอย่างรุนแรง เมื่อเราสามารถแยกผู้บริสุทธิ์ออกจากผู้ก่อการร้าย ให้คนเหล่านั้นหลุดพ้นจากการถูกปลุกปั่นยุยงได้ นายกฯ ประกาศชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมในคดีอาญาจะไม่มีทางเกิดขึ้น แม้แต่รัฐบาลก็จะไม่นิรโทษกรรมตัวเอง พร้อมที่จะให้พิสูจน์ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” นายศิริโชคกล่าว

     นายศิริโชคกล่าวต่อว่า รัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดสร้างความเสียหายใหญ่หลวงกับประเทศชาติ โดยเฉพาะคดีต่างๆ มีความคืบหน้าอย่างมาก สามารถขยายผลเครือข่ายและผู้บงการให้มีการก่อวินาศกรรมว่าเชื่อมโยงถึงใครบ้าง มีนักการเมืองคนไหนเกี่ยวข้องบ้าง รวมทั้งกระบวนการมุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ดีเอสไอได้บรรจุเป็นคดีพิเศษ กำลังทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะกระชากหน้ากากขบวนการที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ

     “ผมขอย้ำว่า มันไม่มีการเกี้ยเซี้ย ไม่มีการสมยอมใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อผู้บริสุทธิ์ไม่ถูกจับเป็นตัวประกัน ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องจับกุมดำเนินคดีกับแกนนำ ซึ่งล่าสุดศาลอนุมัติให้เพิ่มข้อหาก่อการร้ายได้ เมื่อเราสามารถจับกุมคนเหล่านี้ได้ตามหมายจับเดิมที่ออกไปตามความผิด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งนี้ แกนนำผู้ชุมนุมมีสิทธิ์ที่จะมอบตัวเพื่อต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าคนเหล่านั้นเลือกที่จะหนี เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องไล่ล่าเพื่อนำตัวมาลงโทษตามกฎหมาย”

     เขากล่าวอีกว่า การเดินหน้าเพื่อรักษาหลักนิติรัฐใช้กฎหมายมาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความเป็นธรรมในบ้านเมืองมันไม่ง่าย ต้องใช้เวลา หากเราใจร้อน แก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการใช้ความรุนแรงเพื่อจบปัญหานี้ แต่ไปสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าและแก้ปัญหายากมากขึ้น

     “ผมได้อยู่กับนายกฯ ตลอดเวลาในช่วงเวลาวิกฤติของบ้านเมือง ทราบดีนายกฯ มีความทุกข์ใจไม่น้อยไปกว่าพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ และนายกฯ ก็รู้ดีว่ามีหน้าที่และความรับผิดชอบบนตำแหน่งนายกฯ ที่จะต้องแก้ไขปัญหาให้กับบ้านเมือง วันนี้นายกฯ หาทางออกด้วยการสร้างกระบวนการปองดอง  ขอย้ำว่านายกฯ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นการพาประเทศฝ่าจากวิกฤติความขัดแย้งนี้  โดยไม่สร้างปัญหาใหม่มาซ้ำเติมความบอบช้ำของบ้านเมืองอีก ผมเข้าใจว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยเจ็บปวด อึดอัด อัดอั้นตันใจกับการยุบสภาที่หลายคนเห็นว่าไม่ควรเกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่มีการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงข่มขู่ คุกคามสังคมไทย ผมอยากให้เราตั้งสติและมองทางออกที่นายกฯ เสนออย่างรอบด้าน จะเห็นว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่การชุมนุมบนพื้นที่ราชประสงค์ที่สร้างความเครียดให้กับสังคมไทยทั้งประเทศต้องยุติลง  และทุกภาคส่วนต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดอง  เพื่อร่วมกันนำบ้านเมืองออกจากวิกฤติในครั้งนี้ แต่ถ้าการชุมนุมยังไม่ยุติ รัฐบาลก็ไม่มีทางเลือกอื่น  นอกจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเฉียบขาด ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐมีแผนยอมรับและพร้อมที่จะดำเนินการ”

เปิดช่องซากศพคืนชีพ
     ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการปรองดองไม่ได้เป็นการเกี้ยเซี้ยทางคดีอาญา แต่เป็นการนิรโทษกรรมให้กับนักการเมือง รวมถึงนักการเมือง 111 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วยหรือเปล่า นายศิริโชคกล่าวว่า อันนี้ต้องแยกการชุมนุม คือการชุมนุมขณะนี้ขบวนการปรองดองคือเอาคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเข้ามา ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมก็เข้ามาสู่กระบวนการปรองดองครั้งนี้  ส่วนการจะนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองหรือไม่ เป็นโจทย์ที่ต้องพิจารณากัน และนักการเมืองไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดตรงนี้ เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องเป็นผู้กำหนด

     เมื่อถามว่า  มีกระแสข่าวการเจรจากันระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะคืนสิทธิ์ทางการเมือง นายศิริโชคปฏิเสธว่า ไม่มี มีคนวิพากษ์วิจารณ์ วิเคราะห์กัน  เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าโรดแม็พทั้ง 5 ข้อของนายกฯ เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ฉะนั้นนักการเมืองที่ถูกลงโทษก็มีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ถือโอกาสตรงนี้อยากจะเข้ามาสู่กระบวนการปรองดอง 

     ซักว่า  การไม่ได้รับความเป็นธรรมหมายถึงการแก้รัฐธรรมนูญกรณียุบพรรค นายศิริโชคตอบว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น มันถึงขั้นให้เอาทุกคนมาอยู่ในกระบวนการปรองดองก่อน แล้วคนที่มีความรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมมาคุยกันเสร็จแล้วต้องมีบทสรุปให้กับสังคม เพราะวันนี้เราต้องยึดสังคมเป็นหลัก

     “รัฐบาลไม่เจรจากับผู้ก่อการร้ายอยู่แล้ว รัฐบาลมีความชัดเจนว่าต้องการแยกผู้ก่อการร้ายออกจากผู้ชุมนุม ในขณะนี้รัฐบาลยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะยังมีผู้ก่อการร้ายใช้ผู้ชุมนุม เป็นโล่กำบังอยู่ เมื่อเราสามารถเอาผู้ชุมนุมกลับบ้านได้ รัฐบาลก็จะปฏิบัติการขั้นเด็ดขาดกับผู้ก่อการร้ายไม่ว่าจะเป็นใคร” นายศิริโชคกล่าวถึงการเจรจากับ 9 แกนนำ นปช.ซึ่งถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย

     ส่วนที่แกนนำ  นปช.ระบุว่ารอคำตอบสุดท้ายจากรัฐบาลให้กำหนดวันยุบสภาให้ชัดเจนแล้วจะสลายการชุมนุม คนใกล้ชิดนายกฯ บอกว่า ตรงนี้เป็นประเด็นจุกจิก เพราะการที่นายกฯ กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย. ถ้าดูตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้งกำหนดชัด หลังการยุบสภาแล้วต้องมีการเลือกตั้งอย่างน้อยให้เวลา 45 วัน ไม่เกิน 60 วัน ถ้าเราใช้หลักคณิตศาสตร์ บวกลบคูณหารห้วงเวลาในการยุบสภา ถ้าต้องการให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย. การยุบสภาจะเป็นในห้วงเวลาวันที่ 15 ก.ย. จนถึงวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งตรงนี้ตนว่าทาง นปช.สามารถคำนวณได้

     ถามว่าเหตุใดจึงไม่ระบุวันยุบสภา เป็นการซ่อนนัยอะไรหรือไม่ นายศิริโชคยืนยันว่า ไม่มี เพราะการยุบสภาไม่ใช่คิดอยู่ดีๆ ก็ยุบได้ทันที อาจจะมีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้ไม่สามารถที่จะยุบในวันที่ตั้งใจได้  อาจจะมีการเลื่อนออกไปสัก 2-3 วัน ดังนั้นระหว่างวันที่ 15-30 ก.ย.เป็นเงื่อนไขที่เหมาะสม ส่วนเรื่องการผ่านงบประมาณปี 54 ก็เป็นส่วนที่สำคัญ เพราะเศรษฐกิจจะเดินได้ต้องมีงบประมาณ ฉะนั้นต้องคำนึงถึงจุดนี้ไว้ด้วย เพราะรัฐบาลเคยประกาศชัดว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจเข้มแข็ง

     ส่วนท่าทีภายในพรรคประชาธิปัตย์กับข้อเสนอโรดแม็พต่อการนิรโทษกรรมทางการเมือง นายศิริโชคกล่าวว่า  นายกฯ มีความชัดเจนอย่างน้อย 2 เรื่องคือ 1.ไม่มีการนิรโทษกรรมในคดีอาญา 2.เป็นอำนาจนายกฯ ในการยุบสภา ฉะนั้นส่วนอื่นเป็นเรื่องกระบวนการปรองดองกัน

     นายศิริโชคอธิบายถึงพวกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมว่า หมายถึงประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม  นักการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทุกภาคส่วนที่มีความรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเราไม่สามารถที่จะไม่เอาส่วนใดส่วนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการปรองดองได้ เพราะถ้าเรายึดเอาเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง เฉพาะรัฐบาล ก็มีอีกหลายภาคส่วนที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เพียงแต่เขาไม่ได้แสดงสิทธิออกมาชุมนุม ดังนั้นต้องเชิญทุกภาคส่วน

     “คิดว่าในไม่ช้านี้รัฐบาลจะมีพิมพ์เขียว  (บลูปรินต์) ออกมาว่ากระบวนการปรองดองมีอะไรบ้าง ระยะเวลานานแค่ไหน แต่ก่อนอื่นต้องรอคำตอบจากทาง นปช.ให้ชัดเจนก่อนว่าจะยุติการชุมนุมเมื่อไหร่”

     ส.ส.สงขลา  พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ต้องให้เวลากลุ่มแกนนำที่จะพยายามบอกกับประชาชนที่มาชุมนุมว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับบ้านแล้วเข้ามาสู่กระบวนการปรองดอง

     เมื่อถามว่า  รัฐบาลจะทำความเข้าใจกลุ่มที่คัดค้านโรดแม็พอย่างกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มเสื้อหลากสีอย่างไร นายศิริโชคตอบว่า นายกฯ มีความตั้งใจที่จะพูดกับทุกภาคส่วน รวมถึงกลุ่มที่ให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์หรือกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มเสื้อหลากสี เพราะเป็นการเสียสละของทุกภาคส่วน การปรองดองครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่มีใครเลยที่รู้สึกว่าได้ทั้งหมด ต้องมีคนที่ทั้งได้ทั้งเสีย

เสื้อแดงรอกลับบ้าน
     ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง ที่แยกราชประสงค์ ช่วงเช้าได้มีการจัดพิธีวันฉัตรมงคล จากนั้น นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. กล่าวบนเวทีว่า การจัดงานในวันนี้เนื่องจาก นปช.สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายเป็นพระราชกุศล นอกจากนี้ พิธีดังกล่าวที่จัดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อสถาบัน ซึ่งไม่ใช่จะโค่นล้มตามที่ถูกกล่าวหา
     “ขณะนี้ผมรู้สึกว่าทุกคนใกล้จะได้กลับบ้านแล้ว เพราะดูแล้วกลุ่ม นปช.ใกล้จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่เรียกร้อง เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้ออกมาประกาศวันเลือกตั้ง ส่วนเรื่องรายละเอียดก็ค่อยมาว่ากัน การชุมนุมคงอีกไม่นาน แต่ตอนนี้ขอเวลาคุยรายละเอียดอีกนิดหน่อย ให้มีการได้พูดคุยกัน” นายวีระกล่าว

     เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ทวิตข้อความในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ Thaksinlive ว่า “วันนี้เป็นอีกวันมหามงคลยิ่งของพี่น้องชาวไทย คือวันฉัตรมงคล เป็นวันครบรอบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ผมขอร่วมกับพี่น้องไทยกราบพระบาทถวายพระพร ขอจงทรงพระเจริญ สถิตเป็นมิ่งขวัญประชาชนไทยตราบนานเท่านานเทอญ”

     พ.ต.ท.ทักษิณยังได้โพสต์อีกว่า “5 พฤษภาคม เป็นวันที่ครอบครัวผมไม่มีวันลืม และจะเป็นวันที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระกรุณาฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าให้กับผมและคุณหญิงอ้อ นับเป็นเกียรติที่ยิ่งใหญ่สำหรับครอบครัวผม ผมขอถวายรับใช้ราชวงศ์จักรีตลอดชีวิต”

     ด้าน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ปราศรัยว่า อีก 1-2 วันนี้คงจะมีคำตอบเรื่องการยุบสภา ทั้งนี้ ขอบอกพี่น้องประชาชนว่า การยุบสภาอย่าเพิ่งมองว่าเป็นผลสำเร็จ เพราะเป็นแค่อิฐก้อนแรกเท่านั้น การต่อสู้ของ นปช.ยังไม่จบ จะต้องให้ได้เจดีย์หรืออิฐ ดังนั้นต้องทำงานร่วมกันต่อไป สำหรับภารกิจต่อมาหลังจากการยุบสภาคือการเลือกตั้ง ตนไม่ใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย 

     “แต่อยากขอร้องให้ทุกคนเลือกพรรคเพื่อไทยให้ได้  ส.ส.จากการเลือกตั้งเกิน 300 คน และระบบสัดส่วนเกิน 70 คน เพื่อความปลอดภัย และให้ได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะรัฐบาลที่เลือกเข้ามานั้นจะต้องสู้กับ ส.ว.เลือกตั้งและพรรคฝ่ายค้าน”

     ต่อมาเวลา  13.30 นพ.เหวงได้นำญาติวีรชน 18 ครอบครัวจาก 21 ครอบครัวที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. มาแถลงข่าวกับสื่อต่างประเทศและสื่อไทย โดยญาติผู้เสียชีวิตยืนยันว่า การต่อสู้ครั้งนี้เพื่อประชาธิปไตย และยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นคนดีที่ช่วยเหลือคนในภาคอีสาน และขอเรียกร้องให้นายกฯ ออกมาขอโทษที่ฆ่าคนเสื้อแดง และขอให้รับผิดชอบด้วยการยุบสภา    

     อย่างไรก็ตาม  ขณะนี้ได้เตรียมให้ทนายความรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการฟ้องที่ศาลอาญา และศาลอาชญากรระหว่างประเทศ ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามมาตรา 288 และ 289 ตามประมวลกฎหมายอาญา และศาลแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และ ศอฉ. วันที่ 10 พ.ค.

     นพ.เหวงกล่าวอีกว่า ขณะนี้รอท่าทีของรัฐบาล คิดว่า 1-2 วันน่าจะมีข่าวดี ส่วนการประสานงานกับรัฐบาลคิดว่านายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯ และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกฯ คงจะติดต่อกับนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. เพราะเป็นการหารือในทางลับ เพราะมีรายละเอียดที่จะต้องนำมาหารือกันมาก และหากได้ข้อสรุปตรงกันก็คงจะนำมาหารือกับแกนนำ นปช.

     เช่นเดียวกับ  นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนเสื้อแดง ระบุว่า เงื่อนไขของคนเสื้อแดงรอความชัดเจนในวันยุบสภา ซึ่งหากนายอภิสิทธิ์ประกาศวันยุบสภาชัดเจนเราก็จบและกลับบ้านได้

จี้มาร์คเคลียร์ ปชป.-พธม.
     ช่วงค่ำ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. แถลงว่า แนวทางของคนเสื้อแดงต่อแนวทางปรองดองถือว่าจบแล้ว เราตอบรับเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสูญเสียของเจ้าหน้าที่และประชาชน ยืนยันข้อสรุปนี้ไปจนถึงการยุติการต่อสู้ หมายความว่า ถ้าแผนปรองดองเดินหน้า ก็เดินหน้า แต่ถ้าสะดุดหยุดลงเราก็ยืนยันแนวทางสันติไม่เปลี่ยนแปลง ท่าทีของเราที่แสดงออกไปเราประสงค์ให้พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคร่วมรัฐบาลแสดงความชัดเจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก่อน  เราถึงจะศึกษาตามแนวทางของเรา

     “อยากให้นายอภิสิทธิ์นับหนึ่งให้เสร็จก่อน หลังจากมีท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะนายชวน  หลีกภัย ซึ่งคงจะมีข้อสรุปในวันที่ 6 พ.ค.ที่จะมีการประชุมพรรค เช่นเดียวกับการคัดค้านของกลุ่มพันธมิตรฯ ถ้าจบตรงนี้ปุ๊บ เราจะเริ่มนับสองแล้วจะมาประชุมแกนนำของเราเพื่อไปร่วมนับสามกับรัฐบาล” นายณัฐวุฒิกล่าว

     แกนนำ  นปช.ตั้งข้อสังเกตว่า เวลานี้สถานการณ์สำคัญของประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ที่ยุบสภา แต่อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคนในประชาธิปัตย์เคยมีมติไม่แก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์เสนอแนวทางปรองดองซึ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย คงต้องรอดูว่าจะมีมติอย่างไร เชื่อว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญจะมีปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาลอีก จึงเป็นตัวอธิบายว่าการนับหนึ่งของประชาธิปัตย์ยังไม่จบ  เรายังไม่มีการกำหนดยุติการชุมนุม เวทีการต่อสู้ยังมีอยู่ ยังไม่มีการผ่อนคันเร่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแสดงท่าทีปรองดองสมานฉันท์ แต่การปฏิบัติยังมีการคุกคามอยู่  แกนนำ นปช.จะทำการคุยเรื่องการยุติการชุมนุมก็ต่อเมื่อมีความชัดเจนจากนายกฯ ในการกำหนดวันยุบสภาเท่านั้น

     นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ทั้ง 5 ข้อของนายกฯ ไม่ได้เป็นโรดแม็พ แต่เป็นเพียงข้อเสนอที่ยังไม่มีรายละเอียดเป็นรูปธรรม เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องคุยอย่างชัดเจน ประสำคัญคือ การกำหนดวันยุบสภาเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อปี 2549 เอาไว้ว่า รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องร่วมมือกันในการกำหนดวันเลือกตั้ง

     “นอกจากนี้มีข้อสงสัยมากมาย เช่น ถ้ามีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ก่อนยุบสภา และถ้าสรรหานายกฯ ในสภาใหม่ได้นายชวนเป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์จะยังยืนยันให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย.หรือไม่ เช่นเดียวกับคดีความที่อยู่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกรรมการในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อยากถามว่าจะยุติธรรมหรือไม่ เพราะ ศอฉ.มีส่วนร่วมในการวางแผนทำร้ายประชาชนในวันที่ 10 เม.ย.จะให้คนที่มีส่วนทำร้ายประชาชนมาเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ได้อย่างไร” นายจตุพรกล่าว

     นายจตุพรกล่าวอีกว่า การกำหนดวันเลือกตั้งมาจากมิติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 ที่ใช้เวลาประมาณ 105 วันตามกฎหมาย แต่เอาเข้าจริงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องซื้อโลงศพที่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ควรให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำ พวกเราไม่ต้องการถูกหลอกอีกครั้ง     “เหมือนเป็นการกดดันให้คนเสื้อแดงยอมจำนน ยิ่งข่มเหงมากเท่าไหร่การปรองดองจะไม่เกิดขึ้น เราไม่ยอมให้ถูกกดขี่ให้ยอมจำนน นายอภิสิทธิ์ต้องไปดูว่าต้องการปรองดองจริงหรือไม่ 5 ข้อนี้ยังเป็นนามธรรมต้องคุยให้เกิดขึ้นจริง ความชัดเจนต้องปรึกษา กกต.ให้จบ แถลงต่อสาธารณะแล้วค่อยมาว่ากันว่า 5 ข้อจะดำเนินการอย่างไร” นายจตุพรกล่าว

     นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ตอนนี้บรรยากาศยังไม่เหมาะที่จะมีการดำเนินการในเรื่องการปรองดอง เพราะมีสัญญาณหลายอย่างที่ยังเป็นการคุกคามประชาชนอยู่ เช่น พบว่ามีทหารติดอาวุธครบมือประจำการอยู่บริเวณท่าเรือคลองแสนแสบหลายจุดโดยรอบบริเวณที่ชุมนุม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ ได้แก่ 1.ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2.รัฐบาลต้องมีคำสั่งถอนทหารและตำรวจกลับที่ตั้งให้หมด 3.ยุติการใส่ร้ายป้ายสี นปช. 4.ต้องอนุญาตให้เราเปิดสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนแนลและสื่อของเราได้ตามปกติ 5.อย่าสร้างหลักฐานเท็จ ถึงจะมาพูดเรื่องการปรองดอง ภายใต้บรรยากาศแบบนี้จะช่วยให้การเดินหน้าเพื่อสร้างปรองดองทำได้ดีมากขึ้น

     นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่เงื่อนไขเวลากำหนดวันเลือกตั้ง แต่อยู่ที่รายละเอียดที่นายกฯ เสนอเป็นอย่างไร เพราะที่เสนอมาไร้รายละเอียดใดๆ ยกเว้นความชัดเจนวันเลือกตั้ง 14 พ.ย.เท่านั้น นายกฯ มีการหารือตกลงกับใคร แล้วนายชวน หลีกภัย หรือพรรคร่วมรัฐบาล เห็นตรงกันหรือไม่ ต้องนำไปสู่มติของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลด้วย จึงขอให้นายกฯ กลับไปคุยในรัฐบาลให้ชัดเสียก่อน ถ้ายังไม่มีข้อยุติชัดเจนก็ยังเริ่มเจรจาต่อไปไม่ได้

พรรคร่วมฉุน “มาร์ค”
     มีความเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยค่ำวันเดียวกันได้นัดรับประทานอาหารที่โรงแรมโนโวเทล แอร์พอร์ต สุวรรณภูมิ โดยมีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองเข้าร่วม อาทิ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์, นายเนวิน ชิดชอบ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายอนุทิน ชาญวีรกูล แกนนำพรรคภูมิใจไทย, นายพินิจ จารุสมบัติ แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน, นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรครวมชาติพัฒนา, นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

     มีรายงานว่า การพูดคุยเริ่มต้นที่แกนนำพรรคร่วมได้แสดงความสงสัยและไม่พอใจกับท่าทีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงข่าวถึงโรดแม็พ 5 ข้อ และประกาศให้วันที่ 14 พ.ย.เป็นวันเลือกตั้ง เนื่องจากไม่มีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งถือว่าผิดมารยาททางการเมือง และที่ผ่านๆ มานายอภิสิทธิ์ก็ไม่เคยมาพูดคุยในเรื่องต่างๆ มีแต่ให้นายสุเทพมารับหน้าเสื่อเท่านั้น ซึ่งนายสุเทพก็ได้แต่ยิ้มเจื่อนๆ และกล่าวขอโทษแทนนายอภิสิทธิ์

     จากนั้นนายสุเทพก็ได้ชี้แจงขั้นตอนของแผนทั้ง 5 ข้อ ซึ่งแกนนำก็ไม่ได้ติดใจ เพราะถือว่านายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้แถลงผ่านสาธารณชนไปแล้วไป หากจะมาแก้ไขก็คงจะทำอะไรไม่ได้ ส่วนความพร้อมของทุกพรรคในการลงเลือกตั้งนั้น ทุกพรรคต่างพูดกันว่า “พร้อม…แต่ไม่เต็มที่” ซึ่งส่วนใหญ่ก็ประเมินว่าหากมีการเลือกตั้งในช่วงดังกล่าวก็ต้องสู้กับกระแสของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังคงแรงในพื้นที่อยู่

     ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมแกนนำพรรคร่วมได้มอบให้นายบรรหารไปศึกษาดูข้อเท็จจริง โดยจะเน้นไปที่การแบ่งเขตเลือกตั้งให้กลับมาเป็นแบบเดิม คือเขตเดียวเบอร์เดียว
     นอกจากนี้แกนนนำพรรคร่วมรัฐบาลยังได้เสนอแนะให้นายกฯ และนายสุเทพเร่งไปทำความเข้าใจผู้ใหญ่และสมาชิกภายในพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะเรื่องการยุบสภาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงต้องจริงจัง เดินหน้าดำเนินการตามโรดแม็พที่ได้วางไว้ และต้องเร่งหาคนไปประสานทำความเข้าใจกับแกนนำ นปช.อย่างจริงจังด้วย เพราะแม้ว่าแกนนำ นปช.จะขานรับข้อเสนอของนายกฯ แต่แกนนำ นปช.ก็ยังคงปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุมต่อ ไม่เช่นนั้นโรดแม็พอาจจะล้มเหลวได้

7 พ.ค.กก.สมานฉันท์ถกนายกฯ

     นายดิเรก  ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ทำหนังสือขอหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 พ.ค.ในช่วงบ่ายที่รัฐสภา เพื่อพูดคุยแนวทางและข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการปรองดองตาม 5 ข้อเสนอของนายกฯ ทั้งนี้ ต้องการไปรับฟังว่านายกฯ ตั้งเป้าอะไร มีแนวทางอย่างไรให้บรรลุตามเป้านั้น โดยคณะกรรมการฯ จะมีข้อเสนอแนะให้ ซึ่งนายกฯ เคยระบุว่า จะให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มาจากทุกภาคส่วน คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็เห็นด้วย และคิดว่านอกจากจะให้ภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ควรจะมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปร่วมด้วยเพื่อให้เป็นคณะกรรมการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

     ตัวแทน กก.สมานฉันท์ฯ กล่าวว่า นอกจากนี้จะหารือว่าก่อนถึงวันเลือกตั้งจะต้องทำอะไรบ้างตามลำดับความสำคัญก่อนและหลัง จากนั้นวันที่ 8 พ.ค. คณะกรรมการฯ จะไปหารือกับแกนนำ นปช.ว่ามีแนวทางอย่างไร เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจาในรายละเอียดมากขึ้น และเพื่อให้เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วจะได้ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการพูดถึงการคืนสิทธิให้นักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลและ นปช.จะคุยกันเอง 

     “แต่ตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ จะทำตามกรอบ 3 กรอบ ที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เคยเสนอไว้ คือ 1.การปรองดองที่ให้ทุกฝ่ายลดวิวาทะ ลดการใส่ร้าย ไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ 2.การปฏิรูปการเมืองใหญ่ และ 3.การแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ ที่นายกฯ สามารถนำไปใช้และสอดคล้องกับโรดแม็พ 5 ข้อ” นายดิเรกกล่าว

     ส่วนการขอคืนพื้นที่หน้า  รพ.จุฬาฯ พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กล่าวว่า การเจรจาขอคืนพื้นที่การชุมนุมคืนจากกลุ่ม นปช.บริเวณแยกสารสินยังมีอยู่ เนื่องจากเป็นความต้องการของคณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ต้องการให้แนวการชุมนุมพ้นเขตของโรงพยาบาลเพื่อความสบายใจของบุคลากร ก่อนจะเปิดทำการตามปกติ ซึ่งขณะนี้หลังการพูดคุยเบื้องต้นแกนนำ นปช.ให้ข้อมูลว่าต้องการรอดูท่าทีของนายกฯ ก่อนว่าจะยุบสภาวันใดจึงสามารถระบุท่าทีได้  ซึ่งคาดว่าในช่วงเย็นของวันที่ 5 พ.ค.นี้จะได้ข้อสรุปถึงการขอคืนพื้นที่ดังกล่าว

     โฆษก ศปก.ตร.ระบุว่า สำหรับกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 114 กองร้อย ที่จัดส่งเพื่อดูแลความปลอดภัยนั้น ยืนยันจะยังคงตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอยู่เช่นเดิม แม้สถานการณ์การชุมนุมดูจะคลี่คลายไปแล้ว ส่วนรายงานข่าวในพื้นที่ชุมนุมนั้น ขณะนี้ได้รับรายงานว่ายังไม่มีสิ่งใดผิดปกติ เช่นเดียวกับจำนวนผู้ชุมนุมและสถานการณ์โดยรอบที่ทุกอย่างยังคงทรงตัวอยู่เช่นเดิม โดยคาดว่าในช่วง 1-2 นี้ไม่น่าจะมีสถานการณ์อะไรรุนแรงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงรัดกุมอย่างเต็มที่เพื่อความไม่ประมาท.

Comments are closed.