เสือ สิงห์ กระทิง แรด ล่อ ลา

วิสุทธิ์  ตูน  30  มีค 53

ละครการเมือง  (น้ำเน่า)

a20

หน้าหลักนสพ.ฉบับวันนี้
ไทยรัฐออนไลน์วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2553 

9เดือนยุบนานไปแดงไม่รับส่อล้มเจรจาหน3
อภิสิทธิ์ขอนัดใหม่1เมษานปช.ยืนกรานต้อง’15วัน’ฉะกลางวงรัฐบาลซื้อเวลา

ผลเจรจารัฐบาลกับ นปช.วันที่สองล้มเหลว “นายกฯอภิสิทธิ์” ยืนกรานขอเวลา 9 เดือนก่อนยุบสภา ร่ายยาวมีกรอบระยะเวลาจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณและขอเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ “จตุพร” แกนนำนปช.ย้ำหนักแน่นกลุ่มเสื้อแดงให้เวลา 15 วัน ยุบสภา ไม่ยืนยันนัดเปิดเจรจารัฐบาลรอบ 3 “บรรหาร-เทือก” พูดตรงกันอยากให้ยุบสภาสิ้นปี พรรคเพื่อไทยชี้รัฐบาลไม่จริงใจ ส.ส.นัดรวมพลังคนเสื้อแดงต่อสู้ยืดเยื้อ “จาตุรนต์” ซัดนายกฯยื้อเวลาอยากเป็นรัฐบาลนานๆ

หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เปิดเจรจากับตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดงไปแล้วนั้น  ในการเจรจาวันที่ 2 หลายฝ่ายต่างจับตาดูว่าผลการเจรจาของทั้ง 2 จะได้ผลสรุปหรือไม่

“อภิสิทธิ์” บินแต่เช้าเยือนบรูไน

ความเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 29 มี.ค. เวลา 06.30 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร  กองบิน 6 (บน.6) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว. สาธารณสุข และนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางโดยเครื่องเจ็ตแอมแบรย์ของกองทัพบก  ไปยังกรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน เยือนประเทศบรูไนดารุสซาลามอย่างเป็นทางการ และจะกลับประเทศไทยถึงท่าอากาศยานทหาร บน.6 เวลาประมาณ 17.30 น. ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ถามนายอภิสิทธิ์ก่อนออกเดินทางถึงการเจรจากับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงตามที่นัดไว้ในเวลา 18.00 น. วันนี้ (29 มี.ค.) ว่าจะได้ข้อยุติหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า  เดี๋ยวให้นาย กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี คุย

“สาทิตย์” ย้ำรัฐไม่ปฏิเสธยุบสภา

วันเดียวกัน  เมื่อเวลา  09.40  น.  ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร. 11 รอ.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ตลอด 3 ชั่วโมงนั้น  รัฐบาลมองว่า มีความคืบหน้า 3 ประการคือ 1. ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับกรอบการเจรจาร่วมกัน 2. ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ปฏิเสธข้อเสนอการยุบสภา เพียงแต่ต้องเจรจาว่าการยุบสภาควรจะเกิดขึ้นเมื่อไรและควรจะดำเนินการใดๆก่อนยุบสภาหรือไม่ มีรายละเอียด การพูดคุยอีกหลายเรื่อง  ทั้งการมีส่วนร่วมของฝ่ายอื่น และ 3. การเข้าสู่โต๊ะเจรจา เป็นเงื่อนไขไม่มีการเคลื่อนการชุมนุมในลักษณะดาวฤกษ์หรือดาวกระจายไปที่ใด

ยังไม่เปิดช่องกลุ่มอื่นร่วมวงเจรจา

นายสาทิตย์กล่าวว่า  ขณะนี้สื่อต่างประเทศและหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการเจรจาไม่น่าจะมีข้อยุติ แต่รัฐบาลก็ยังมองในแง่ดีว่าการทอดเวลาออกไปเนื่องจากนายกรัฐมนตรีเดินทางไปประเทศบรูไน  จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุมนุมจะได้ฟังความคิดเห็นของสังคม เพราะอย่างน้อยนักวิชาการ 155 คนที่ออกมาเคลื่อนไหว ก็ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าการยุบสภายังคงเกิดขึ้นในทันทีไม่ได้  ส่วนประเด็นที่มีการพูดคุยกันในกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะมีการยกระดับการชุมนุมหากเงื่อนไขยุบสภาใน 2 สัปดาห์ไม่ได้รับการตอบสนองนั้น รัฐบาลเห็นว่าขณะนี้กระแสสังคมตอบรับเรื่องการเจรจาเพื่อหาทางออก หากผู้ชุมนุมจะเคลื่อนไหวอะไร สังคมก็ต้องขอรับฟังเหตุผล  จึงไม่น่าจะเป็นผลดี เมื่อถามว่า หากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะขอเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาด้วย จะทำอย่างไร นาย สาทิตย์ตอบว่า  การเจรจาที่เกิดขึ้นนั้นก็ได้พูดถึงการมีส่วนร่วมของฝ่ายอื่น  เพียงแต่ยังอยู่ในกรอบของกลุ่มผู้ชุมนุมกับทางรัฐบาลอยู่โดยไม่มีส่วนอื่น แต่ก็ต้องคุยกันว่าจะให้ภาคส่วนอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร ขณะนี้กลุ่มพันธมิตรฯก็ยังไม่ได้แสดงจุดยืนอะไรเป็นทางการ

ระบุพรรคร่วมพร้อมยุบสภา

เมื่อถามว่า  นายบรรหาร  ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอว่ารัฐบาลควรยุบสภาภายในสิ้นปี 2553 นายสาทิตย์ตอบว่า  สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลนั้นได้พูดคุยกันตลอด แม้กระทั่งก่อนจะไปเจรจาก็มีการประสาน  และจุดร่วมของรัฐบาลยังเป็นจุดเดียวกัน  เรื่องกรอบเวลาการยุบสภาก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจา และหลายข้อเสนอจากพรรคร่วมรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจะนำไปเสนอในช่วงเย็นวันที่ 29 มี.ค. สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้ประสานกันมาตลอด ก็ยังไม่ได้ยินว่าพรรคการเมืองไหนไม่อยากยุบสภา เมื่อถามว่า  หากการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ รัฐบาลได้คิดแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างไร  นายสาทิตย์ตอบว่า เราจะยึดแนวทางการเจรจาต่อ  เพราะตราบใดที่การชุมนุมยังอยู่ในกรอบกฎหมาย เราก็ไม่มีแนวทางที่จะไปทำอะไร แต่ถ้าการชุมนุมเกินเลยกรอบกฎหมาย เราก็ต้องดำเนินการ ซึ่งเราก็คิดไว้แล้วที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง สำหรับในวันที่ 30 มี.ค. จะมีการประชุม ครม. แน่นอน  เพราะมีหลายเรื่องที่จะต้องหารือ  โดยเฉพาะการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง พื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่จะมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง 2-5 เม.ย.

วอร์รูมวิปรัฐหนุนแนวทางเจรจา

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมวอร์รูมวิปพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นประธานการประชุม เพื่อประเมินสถานการณ์การเมืองหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เจรจาร่วมกับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ที่สถาบันพระปกเกล้า ภายหลังการประชุม นายวิทยาแถลงว่า วิปรัฐบาลทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องว่ารัฐบาลได้กำหนดวิธีการถูกต้องและเหมาะสม เป็นความสง่างามของระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน มีโอกาสเจอกับผู้นำรัฐบาลโดยตรง ถึงแม้เวลาในการหารือจะใช้เวลายืดยาว 3 ชม. อย่างน้อยก็ได้สะท้อนภาพความรู้สึกอารมณ์ของประชาชนโดยทั่วไป ว่ารู้สึกคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง ทำให้เกิดความหวังว่าน่าจะเดินไปสู่เป้าหมายการหาข้อยุติร่วมกันได้

งัดมุกเก่าปัดฝุ่นแก้ไข รธน.

นายวิทยากล่าวว่า ทั้งนี้ วิปรัฐบาลเห็นว่าแนวทางที่นายกฯเสนอเป็นแนวทางเหมาะสม หากจะมีการยุบสภาจะต้องมีช่วงระยะเวลาหนึ่งในการแก้ไขปัญหา 2 ประการ ให้ลุล่วงไปในระดับที่สามารถรับกันได้ คือ 1. ปัญหารัฐธรรมนูญ ที่ทุกพรรคค้างคาใจว่าควรจะกลับมาปัดฝุ่นแนวทางที่เคยตั้งไว้ กับคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นที่ยุติ และ 2. หากยุติแล้ว ทุกฝ่ายก็ควรถอยกลับที่ตั้ง เพื่อให้เกิดบรรยากาศความสมานฉันท์ และเตรียมความพร้อมว่าทุกคนจะเดินเข้าสนามเลือกตั้งอย่างปลอดภัย ไม่ใช่การเลือกตั้งเพื่อรอการปฏิวัติใหม่ สำหรับการประชุมวิปรัฐบาลจะมีการประชุมตามปกติที่รัฐสภา ในการกำหนดวาระการประชุมในวันพุธและพฤหัสบดี และจะมีวาระการประชุมปกติ และอยากเรียกร้องเชิญชวนให้ ส.ส.ฝ่ายค้านทุกท่าน เข้าร่วมการประชุมสภาในวันพุธ ทำให้บรรยากาศภายในสภาเดินได้ ทุกอย่างคลี่คลาย ประชาชนทั่วไปจะได้มีความสุข เพราะใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์ คนเครียดมาพอแล้ว
เชื่อ ส.ส.พท.ไม่อยากยุบสภา

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษก ประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการเจรจาระหว่างรัฐบาลและแกนนำ นปช.ว่า คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศเอาใจช่วย อยากให้การเจรจาประสบความสำเร็จ ข้อเสนอยุบสภาเป็นข้อเสนอที่สุดขั้วเกินไป นปช.ควรรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างรอบด้าน เพราะประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดงเท่านั้น ต้องรับความเห็นนักการเมืองในพรรคต่างๆด้วย และหากมองลึกลงไป ส.ส.เพื่อไทยเองก็ไม่อยากให้ยุบ แต่จำเป็นต้องยุบเพราะเจ้าของพรรคตัวจริงต้องการอย่างนั้น

“เติ้ง” ขอใช้งบฯก่อนยุบสภา

วันเดียวกัน นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่ นปช.เสนอให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 15 วัน ว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายจริงใจต่อกัน รัฐบาลก็ต้องบอกให้ชัดว่าจะทำกติกาว่าจะแก้เมื่อไร แก้อะไร อย่างไร แล้วเมื่อไรจะเสร็จ แล้วจะยุบสภาเมื่อไร ซึ่งอาจจะยุบสภาภายในปีนี้ก็ได้ เพราะถ้ายุบสภาทันทีทันใด คำถามจะเกิดขึ้น เศรษฐกิจกำลังดีอยู่ เงินทุนไหลเข้ามามากกำลังมีความเชื่อมั่น แต่ถ้ายุบสภาตอนนี้เศรษฐกิจจะมีปัญหามากพอสมควร มุมมองจึงแตกต่างกันตรงนี้ ดังนั้น เสื้อแดงต้องโอนอ่อนผ่อนปรนด้วย แต่ถ้าไปรอหมดสมัยในปีหน้าคงจะไม่ทัน แต่ถ้าให้ยุบภายใน 15 วัน ตนเห็นว่ามันเร็วเกินไป เพราะตอนนี้มีปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไข งบประมาณปี 2554 ก็กำลังจะพิจารณา ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะรีรอขอใช้งบประมาณ แต่ถ้ายุบสภางบประมาณก็ต้องเคลื่อนออกไปอีกจะทำให้เกิดความเสียหาย

แก้ รธน.ไม่ต้องทำประชามติ

นายบรรหารกล่าวว่า แก้กติกาก็คือแก้รัฐธรรมนูญ แก้กี่เดือนเสร็จ 3 หรือ 4 เดือน แก้เดือน ก.ย. เดือน พ.ย. เสร็จก็ยุบสภา แต่ที่สำคัญคือต้องจริงใจต่อกัน เมื่อถามว่าจะแก้รัฐธรรมนูญประเด็นไหนก็ยังไม่ชัด นายบรรหารตอบว่า มันมีอยู่แล้วที่เป็นปัญหา รู้กันอยู่ว่าควรแก้อะไรบ้าง แต่มันไม่แก้เท่านั้นเอง กรรมการสมานฉันท์ก็ออกมา 6 ประเด็น จะยึดถืออันนี้ก็ได้ หรือถ้าไม่ จะแก้อะไร กี่ข้อ ก็ยกกันมาอีกก็ได้ การแก้เป็นเรื่องง่ายที่สุด ถ้ามัวมาทำประชามติคงไม่ได้แก้กัน เพราะใช้เวลามาก ต่างคนต่างความคิด และถ้าแก้กันจริง รัฐบาลต้องลงมาเล่นด้วย ไม่ใช่ โยนสภา สมัยตนก็ลงมาเอง ใช้เวลาไม่เกิน 5 เดือน เรื่องการทำประชามติคงไม่จำเป็น เรารู้ปัญหาอยู่แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้นมีปัญหามาก เมื่อถามว่า ประเด็นที่กรรมการบริหารพรรคทำผิดแล้วโทษถึงยุบพรรคนั้นต้องแก้หรือไม่ นายบรรหารตอบว่า ต้องแก้ๆ อันนี้ใช้ไม่ได้ ควรแก้ ถ้าไม่แก้ แล้วเลือกตั้งกันใหม่ก็มีถูกยุบอีก ฝ่ายแดงขึ้นมาพรรคก็ถูกยุบอีก ใครไปร่วมกับฝ่ายแดงก็ถูกยุบอีกเหมือนกัน อย่างนี้ตนคงไม่กล้าเสี่ยงที่จะไปลงเลือกตั้ง

รับเป็นห่วงประเทศถ้าคุยไม่จบ

นายบรรหารกล่าวว่า ตนอยากเสนอว่าแดงไม่ควรกำหนดให้ยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์ มันทำไม่ได้ ฝ่ายนายวีระต้องให้เวลารัฐบาลหน่อย แต่รัฐบาลต้องมีธงว่าจะทำอะไร ซึ่งเมื่อหารือเย็นนี้เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลต้องหารือกับพรรคร่วมว่าจะเอาอย่างไร อาจจะไม่ต้องตอบวันนี้ก็ได้ แต่ต้องมีรูปธรรมว่าจะแก้อย่างไร ยุบสภาเมื่อไร แล้วมาออกทีวี สังคมก็จะยอมรับ แต่ถ้าวันนี้เจรจาแล้วเหมือนเมื่อวาน มันก็หาจุดจบไม่ได้ เมื่อถามว่า ถ้าเจรจากันไม่ได้จะเป็นห่วงอะไร นายบรรหารตอบว่า ห่วงบ้านเมือง ตอนนี้สงสารประเทศชาติมากที่สุด เมื่อก่อนไม่ได้เป็นอย่างนี้ และความจริงถ้าในการเจรจาถ้าอาศัยความประนี-ประนอม มีความจริงใจต่อกันปัญหาก็แก้กันได้ทั้งฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายแดง และเดินหน้ากันต่อไปได้

เปิดใจถูกขู่ยันยังยึดสัจจะวาจา

เมื่อถามถึงกรณีที่เกิดเหตุระเบิดที่หน้าบ้านซอยจรัญสนิทวงศ์ 55-57 เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา นายบรรหาร ตอบว่า ตนถูกขู่อยู่ตลอดเวลา ทั้งทางโทรศัพท์และบนเวทีเสื้อแดง แต่ตนในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย กับพรรคชาติไทยพัฒนาที่มีนายชุมพลเป็นหัวหน้าพรรคนั้นมีสัจจะและวาจา ว่าการร่วมรัฐบาลกับใคร เราจะออกหรือว่าทำอะไรนั้นต้องมีเหตุและผล คือตอนนี้รัฐบาลก็ดีอยู่แล้วในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าพรรคออกไปจะทำให้ ปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่มากขึ้นอีก อย่างที่มีการมาบอกนั้น ตนก็บอกไปว่าอันนี้คงทำอะไรไม่ได้ ได้บอกเขาไปแล้ว

“ชัย” ชี้สัญญาณดีตั้งโต๊ะเจรจา

วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ว่า การเจรจาถือเป็นผลดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง แม้จะยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น เป็นภาพที่ดีที่สุด ที่คู่ขัดแย้งได้พูดคุยกันเพื่อเป็นการหาทางออกให้กับวิกฤติของประเทศ ในนามคนไทยตนต้องขอขอบคุณทั้ง 2 ฝ่าย ที่หันหน้ามาเจรจากันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา สำหรับข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงที่ให้นายกรัฐมนตรียุบสภา ภายใน 2 สัปดาห์นั้น เห็นว่าเป็นอำนาจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลอื่นใด ส่วนจะต้องมีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจยุบสภาหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณากันอีกครั้ง

“มาร์ค” เผยสุลต่านบรูไนหนุนเจรจา

วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ และหารือข้อราชการทวิภาคีแบบเต็มคณะว่า ภาพรวมความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น การหารือต่างๆได้รับการตอบรับในทางบวก มีการพูดถึงความร่วมมือต่างๆ ตนได้หยิบยกสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหารือ และชี้แจงนโยบายของรัฐบาลที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จากนโยบายเดิมที่มีมาก่อนหน้านี้ และขอให้บรูไนให้การสนับสนุน รวมทั้งช่วยทำความเข้าใจกับประเทศสมาชิกองค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ซึ่งได้รับการตอบสนองในทางบวก นอกจากนี้ ตนยังได้เล่าถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยปัจจุบัน และแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกับผู้ชุมนุมไม่ให้เหตุการณ์ทางการเมืองกระทบกับประเทศ ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนทรงแสดงความเป็นห่วง

สถานการณ์ของไทยและทรงเห็นว่าแนวทางการเจรจาเป็นเรื่องดีในการหาข้อยุติ เพราะหากปล่อยให้เหตุการณ์ยืดเยื้อต่อไปอาจจะส่งผลกระทบกับประเทศได้

ตั้งแง่ต้องสร้างสมานฉันท์ก่อนยุบสภา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ 155 นักวิชาการเสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภาภายใน 3 เดือน นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เงื่อนเวลาเป็นเรื่องที่ต้องมาเจรจากัน แต่ไม่ว่าจะยุบสภาวันนี้ พรุ่งนี้ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน จะต้องมาดูเรื่องการปูทางให้เกิดความสมานฉันท์ก่อน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย

ในช่วงบ่าย นายอภิสิทธิ์ได้ไปพบปะกับทีมประเทศไทย และได้ชี้แจงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวตอนหนึ่งกับทีมไทยแลนด์ว่า รัฐบาลจะดูแลไม่ให้สถานการณ์ทางการเมืองมาเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และพยายามแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่ก็ยังคงมีการก่อกวน มีการปาระเบิดทุกวัน ซึ่งสามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้บ้าง ไม่ได้บ้าง รัฐบาลได้เจรจากับแกนนำคนเสื้อแดง และพยายามขีดเส้นว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ วันนี้ก็จะคุยต่อ ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ แต่จะพยายามทำต่อและหาทางออกที่เหมาะสม การจะตัดสินใจอะไร ตนจะต้องฟังจากทุกฝ่าย

“วีระ” ถามนายกฯ ยุบสภา 15 วัน

ต่อมาเมื่อเวลา 18.00 น. ที่สถาบันพระปกเกล้าฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนาย
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ประธานวอร์รูมพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมาร่วมเจรจากับ 3 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นพ.เหวง โตจิราการ เป็นวันที่สองตามที่ได้นัดหมายไว้ ที่ห้องประชุมสภาพัฒนาการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ ตามมาด้วยคณะแกนนำ นปช. ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้แยกกันพักในห้องรับรองเพียงครู่เดียวก่อนที่ทั้งหมดจะเดินทางมาหารือกันที่ห้องประชุมใหญ่ของสภาพัฒนาการเมือง ซึ่งก่อนการเจรจาทั้งหมดได้เปิดโอกาสให้ช่างภาพได้ร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นการเจรจาในวันที่สองอย่างเป็นทางการจึงเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 18.20 น. โดยในลักษณะการหันหน้าเข้าหากันเหมือนวันแรก

นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. ได้กล่าวว่า ไม่ต้องมาเท้าความกันอีกแล้วเพราะจะเป็นการเสียเวลา อยากทราบว่าเมื่อพวกตนได้ยื่นเงื่อนไขให้นายกฯยุบสภาภายใน 15 วันแล้ว ได้ตรึกตรองแล้วนายกฯมีข้อเสนออย่างไร

“อภิสิทธิ์” ขอยืดเวลาออกไปอีก

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจะเลือกตั้งใหม่เพื่อเป็นทางออกให้สังคมต้องมีเงื่อนไขให้มั่นใจว่าจะสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ยุบสภาวันนี้กับยุบสภาอีก 15 วัน ตนไม่เชื่อว่าจะเป็นทางออกให้สังคมและจะนำไปสู่ความสงบ เพราะได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาล กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องเรียนว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา และประชาชนส่วนใหญ่อยากให้มีการยืดหยุ่น หากวาระการเป็นรัฐบาลที่เหลือ 1 ปี 9 เดือน จะให้เลือกตั้งก่อนครบวาระ ตนไม่มีปัญหา แต่อยากให้ช่วยปูทางไปสู่ความสงบก่อนมีการเลือกตั้ง เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ และลดความแตกแยกในสังคม ใช้ระยะเวลาไม่นาน อยากถามว่าพร้อมจะคุยในกรอบนี้หรือไม่ ถ้าบอกว่า 15 วันไม่คุยกันแล้ว ตนก็ไม่มีทางออกที่จะบอกว่าไม่มีทางจะเป็นไปได้ แต่ถ้าสนใจสิ่งที่ตนบอกก็คุยกันต่อ ถ้าไม่สนใจก็ต้องแล้วแต่ท่าน

“จตุพร” ทวงคำพูดนายกฯ เรื่องเก่า

ด้านนายจตุพรกล่าวว่า ขณะนี้มีความเห็นที่แตกต่างกันและนายกฯก็เคยแสดงความเห็นในสมัยเป็นฝ่ายค้านและเคยเรียกร้องให้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช คืนอำนาจแก่ประชาชน เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ไขปัญหา โดยนายกฯกล่าวสวนทันทีว่า ตอนนั้นไม่มีผู้ชุมนุมมาเรียกร้องให้ยุบสภา เวลาจะเปรียบเทียบต้องเอาเหตุผลมาพูด นายจตุพรจึงโต้กลับว่า นายกฯเคยพูดเรื่องคนแสนคน ที่พวกตนเรียกร้องให้นายกฯยุบสภา เป็นเหตุผลที่พวกตนรวบรวมให้นายกฯได้ตัดสิน ยังยืนยันว่าเหตุที่มาเรียกร้องให้ยุบเพราะเชื่อว่านายกฯมาโดยไม่ชอบ ถือเป็นตำแหน่งนายกฯ เป็นลาภที่มิควรได้ เป็นนายกฯ มา 1 ปี 4 เดือนก็มากพอแล้ว จะมาบอกว่าเหลือเวลาอีก 1 ปี 9 เดือนคงไม่ได้ ที่นายกฯบอกว่าได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาลมาแล้วนั้น เป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาลล้วนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะทุกคนคาดหวังว่าเลือกตั้ง 23 ธ.ค.50 จะได้มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่เราก็ไม่สามารถหลุดพ้น คณะรัฐประหารได้ทิ้งรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดนี้เอาไว้

ไม่เชื่อน้ำยาแก้ รธน.สำเร็จ

นายจตุพรกล่าวว่า สาเหตุที่คนเสื้อแดงเกิดขึ้นจำนวนมาก นายกฯมีกลไกรัฐที่สามารถตรวจสอบได้ แต่ที่มาจากทุกแห่งเพราะทุกคนห่วงเรื่องความสองมาตรฐาน ตั้งแต่คนจนถึงปริญญาเอก รู้เรื่องสองมาตรฐานดี ว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลโดยไม่ชอบ กลไกถูกบังคับ ซึ่งตนถือว่าท่านเป็น นายกฯที่นานที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขณะเดียวกัน ยังบริหารงานล้มเหลวในหลายเรื่อง ประเด็นว่าจะแก้รัฐธรรมนูญก่อนยุบหรือยุบก่อนแก้ ขอเรียนว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่มีวันเป็นไปได้ เพราะตลอดที่เป็นนายกฯมีเพียงแค่คำพูดเท่านั้น เคยไปรับปากกับพรรคร่วมรัฐบาลในค่ายทหารว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนายเนวิน ชิดชอบ และนายบรรหาร ศิลปอาชา จนมีการทวงกัน ต่อมาประชาธิปัตย์ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสมานฉันท์ พวกตนไม่เชื่อว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมันสายเกินไปแล้วที่จะพูดเรื่องนี้ และหมดเวลาที่จะพูดนี้ พวกตนไม่ได้เกิดมาเพื่อมีข้อขัดแย้ง แต่มาเรียกร้องเพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ วันนี้นายกฯได้ เปรียบทุกอย่าง พวกตนขอเป็นฝ่ายเสียเปรียบและยอมรับผลการเลือกตั้งโดยดุษฎี เอาผลการเลือกตั้งเป็นตัวตั้งเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

“อภิสิทธิ์” โต้กลับทุกรายละเอียด

ด้านนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยสีหน้าไม่พอใจว่า หลายเรื่องที่พูดล้วนเป็นเรื่องเท็จ ที่กล่าวว่าตนมาโดยมิชอบ ได้เคยเรียนไปแล้วว่าการเลือกนายกฯในปัจจุบันค่อนข้างพิเศษกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำ วันนี้ให้ ส.ส.มีอิสระไม่จำเป็นต้องทำตามมติพรรค เมื่อบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่ชอบแล้วลงเลือกตั้งทำไม ตำแหน่ง ส.ส.ก็เป็นลาภที่ไม่ควรได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราจึงควรมาแก้กติกา วันนี้อยู่ดีๆมาบอกว่าที่เราปฏิบัติและดำเนินการในสภาฯกันมา 2 ปี 2 เดือนไม่ ชอบธรรม จึงเป็นเหตุผลที่แปลกอยู่ เรื่องรัฐธรรมนูญ ตนเป็นคนที่พูดกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจริงว่ารับแล้วแก้ แต่คำว่าแก้รัฐธรรมนูญต้องเข้าใจให้ตรงกัน บางทีเราใช้สิทธิตามใจชอบในบางครั้งก็รับได้ บางครั้งก็ไม่รับ ตรงนี้ก็เรียกว่าสองมาตรฐานเหมือนกัน กรณีรัฐธรรมนูญเรื่องปิดบังทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณและนายประยุทธ์ มหากิจศิริ ในอดีตมีการวิจารณ์กันมาก เรื่องการตัดสินของศาลที่ 2 มาตรฐานเช่นกัน แต่เราต้องดำรงความถูกต้องชอบธรรมของกระบวนการของศาล หากบอกว่าคดีนี้รับได้ คดีนี้ต้องมาต่อต้าน สุดท้ายบ้านเมืองก็ไม่เหลือ เรื่องกู้เงินนอกกรอบงบประมาณเพราะรัฐบาลเห็นว่าต้องทำอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเพราะปีที่แล้วมีแต่คนปรามาส น่าสนใจที่เคยวางกรอบว่าอาจต้องกู้ถึง 8 แสนล้านบาท แต่ทำจริงๆไม่ถึงเพราะจึงได้แบ่งเป็น พ.ร.ก.ส่วนหนึ่งและ พ.ร.บ.อีกส่วนหนึ่ง จึงไม่ใช่การกู้เงินที่มากสุดในประวัติศาสตร์ เพราะสมัยนายกฯทักษิณเคยออก พ.ร.ก.ฉบับเดียว 7 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเจรจาในวันนี้ค่อนข้างตึงเครียด แตกต่างจากการเจรจาวันแรกอย่างเห็นได้ชัดและมีการโต้คารมกันไปมาหลายครั้ง

สวนไม่เชื่อเสื้อแดงจะยุติ

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ขอย้ำอีกครั้งว่าหลักประกันความห่วงใยในการเลือกตั้ง ขอให้ไปสอบถามคนส่วนใหญ่ได้ว่ากี่คนที่เชื่อว่าจะสงบภายใต้บรรยากาศบ้านเมืองแบบนี้ได้ แม้ตนจะเชื่อ 100% ว่า ท่านพยายามควบคุมทุกอย่างได้ แต่ตนไม่เชื่อว่าจะควบคุมได้จริง เหตุการณ์ที่เดือนเมษายนปีที่แล้วตอบได้หรือไม่ว่าแดงแท้แดงเทียม เพราะแกนนำคนเสื้อแดงเป็นคนสั่งให้เสื้อแดงจับตัวตน ที่บอกว่าตนจะเอาทหารล้อมกรอบไม่มีแน่ การสั่งการทุกครั้งให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตของคน แต่ที่ตนถูกกระทำอยากถามกลับบ้างว่าได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพจริงหรือ เพราะแกนนำของท่านมีแต่ประกาศจะเอาชีวิตตน ฉะนั้นถึงบอกว่าอารมณ์ของคนในปัจจุบันมันรุนแรง จึงต้องใช้เวลาในการปรับอารมณ์ ตนบอกเสมอว่าต้องอดทนอดกลั้น แต่ตนไม่สามารถสั่งให้ทุกคนอดกลั้นได้ทั้งหมด แต่ในภาวะที่เราช่วยทำบรรยากาศบ้านเมืองให้สงบต้องช่วยกัน

เสียงแข็ง 15 วันยุบสภาไม่ได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่อยู่ครบวาระได้ ยุบสภาได้ แต่เรามาทำในสิ่งที่ทำให้ทุกคนยอมรับได้ดีกว่าหรือไม่ ยินดีที่จะจัดให้เลือกตั้งโดยไม่อยู่ครบวาระ แต่ต้องบนพื้นฐานว่ามีอะไรที่สังคมต้องทำร่วมกัน นี่คือทางออก ถ้ายืนยันว่าต้องยืนยันภายใน 15 วัน อย่างไรเราก็คงจะมองไม่ตรงกัน และความเชื่อเรื่องการยุบสภาที่พูดกับนายสมัครก็เปลี่ยนไปจากวันนี้ เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว

“หมอเหวง” โวยนายกฯอย่าซื้อเวลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเริ่มเข้าสู่ภาวะตึงเครียด เนื่องจากทั้งนายกรัฐมนตรีและนายจตุพรได้ตอบโต้กันไปมาอย่างไม่ลดละ กรณีคนเสื้อแดงบุกทุบรถนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อเดือนเมษายนปี 52 โดยถึงขั้นที่นายจตุพรต้องชี้หน้าและท้าทายให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีก็ตอบโต้กลับทันที ซึ่ง นพ.เหวง โตจิราการ แย้งว่าอยากเชิญนายกฯกลับมาพูดให้ตรงประเด็น บางเรื่องกรุณาอย่าต่อล้อต่อเถียงทุกเม็ด เพราะเสียเกียรติคุณของนายกฯเอง สิ่งที่จตุพรพูดผิดหรือถูกสังคมจะเป็นผู้ตัดสิน และที่นายกฯบอกว่ายุบสภาหนึ่งวันกับ 15 วันไม่ต่างกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเมื่อมีระบบคิดทางการเมืองแตกต่างกันมันไม่จบ จึงต้องกลับไปสู่คูหาเลือกตั้ง ไม่แน่ใจว่านายกฯเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนเท่าเทียมกัน ต้องใช้สติปัญญาควบคุมอารมณ์ให้ได้ ไม่อยากพูดเรื่องการซื้อเวลา จึงไม่ควรมาพูดเรื่องรัฐธรรมนูญเลย นายกฯเองทำไมจึงไม่เชื่อมั่นกลไกในการเลือกตั้ง

ด้านนายวีระตัดบทว่า ถ้าระยะเวลา 15 วันไม่ไหว นายกฯก็เสนอมาว่าต้องการกี่วันในการยุบสภา

นายกฯระบุชัดยุบสภาปลายปี

นายกฯกล่าวว่า เศรษฐกิจ กติกา และบรรยากาศ ซึ่งเศรษฐกิจไม่มีอะไรเพราะค่อนข้างจะดี หากกติกาจะเริ่มจากการประกาศทำประชามติ แล้วลงมติกัน

ถ้ามีประเด็นใดแก้ไขให้สภาฯดำเนินการ เมื่อกฎหมายต่างๆรับไปแล้วก็จะเป็นกรอบเวลา และทำบรรยากาศ บ้านเมืองให้เป็นปกติ นปช.ตรวจสอบบ้านเมืองได้ ใครทำผิดกฎหมายต้องดำเนินคดี รัฐบาลทำงาน ฝ่ายค้านทำงาน ภาคประชาชนก็ทำงาน 3-4 ปัจจัยคำนวณดูสิ้นปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหา แต่มานั่งดูว่ามีอะไรที่เราต้องทำ ทำให้นายวีระยิ้มและกล่าวตอบว่า ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องของความเชื่อ เสื้อแดงเห็นว่าให้เวลาเท่าใดก็ไม่ใช่ทางออก เรื่องรัฐธรรมนูญคงรอสภาฯไม่ได้แล้วเพราะสภาฯก็พึ่งไม่ได้แล้วในขณะนี้ ส่วนบรรยากาศทางการเมืองสามารถร่วมกันสร้างได้ การเสนอกรอบเวลาจึงถือว่าจะยาวไป ดูนักวิชาการเสนอ 3 เดือนให้นายกฯลองพิจารณาว่ากรอบกติกาไม่ควรยาวนานไปถึง 6 เดือน เพราะแค่ 2 เดือนก็น่าจะทำได้ถ้าทำจริง ถ้านายกฯจะสละอำนาจก็จะถือว่าเป็นเกียรติยศของท่าน

“จตุพร-นายกฯ” ปะทะคารมอีกรอบ

ด้านนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เกรงว่าหากยึดเวลานั้นหากปฏิทินงบประมาณชะงักมันจะมีปัญหา แม้ว่ากฎหมายจะให้ใช้งบประมาณของปีก่อนได้ แต่บังเอิญปีก่อนหน้าเป็นปีที่เจอวิกฤติเศรษฐกิจแรงมาก ถ้าเป็นการฟื้นตัวก็ยังฟื้นตัวอย่างไม่แข็งแรง แต่ละประเทศจึงต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจของตัวเอง ปกติงบประมาณจะต้องจัดทำเพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าจะให้ใช้งบตัวนี้ไปพลางก็จะเดือดร้อนกันมาก เรื่องรัฐธรรมนูญช้าเร็วไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลหรือรัฐสภาจะเอาจริงหรือไม่ วันนี้เอาให้ชัดๆไปเลยให้ประชาชนเป็นคนมัด ไปถามประชามติจากประชาชน คนจะได้สบายใจขึ้น กรอบเวลาก็มาคำนวณกัน ขณะนี้อายุของรัฐบาลเหลืออีก 1 ปี 9 เดือน ถ้ายุบสิ้นปีนี้ก็เหมือนเฉือนทิ้งไป 9 เดือนแล้ว แต่ถ้ามาทำประชามติว่าจะยุบหรือไม่ยุบ ก็จะทำให้วนอยู่ที่เดิมและไม่มีหลักประกันว่าวันข้างหน้าจะเกิดการชุมนุมอีกหรือไม่ นายจตุพรกล่าวแย้งว่า พ.ร.บ.ประชามติกำหนดไว้ว่า ในการทำประชามติในเงื่อนไขพิเศษต้องใช้เวลาถึง 90 วัน หรือไม่เกิน 120 วัน ถ้าเริ่มปฏิบัติวันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะทันเวลา 3 เดือนหรือไม่ เงื่อนไขขณะนี้ไม่เหมือนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงไม่ใช่กรณีพิเศษที่จะเข้าข่ายทำประชามติได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถึงช่วงนี้นายจตุพรได้โต้ตอบกับนายกรัฐมนตรีอย่างมีอารมณ์ ขณะที่ นพ.เหวงกล่าวว่า นักการเมืองฉลาดที่จะสร้างเงื่อนไข เป็นเรื่องของการซื้อเวลา

“ชำนิ-กอร์ปศักดิ์” แจงเหตุ 9 เดือน

นายชำนิจึงพูดขึ้นมาว่า ปัญหาที่นายกฯกล่าวขึ้นมา บางเรื่องเป็นความเชื่อ บางเรื่องก็สามารถทำได้ เชื่อว่าหากทำบรรยากาศจะเป็นไปในทางที่ดี ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า เมื่อท่านบอก 15 วันฝ่ายตนก็ไม่เชื่อ เมื่อฝ่ายตนบอกว่าขอเวลา 9 เดือนฝ่ายท่านก็ไม่เชื่อ ที่เป็นอยู่อย่างนี้ เพราะเราไม่เชื่อกัน ถ้ายังยืนยันว่าต้อง 15 วันก็ไม่ต้องตกลง เพราะทางเรายืนยันว่าทำไม่ได้ ทั้งนี้ ตนดีใจที่นายวีระกล่าวว่า หากเป็นภายใน 3 เดือน ถ้าอยากให้มันจบเพื่อประเทศไทยก็มาลองกันดู มาทดสอบว่าเราเชื่อใจกันได้หรือไม่ มาทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ในช่วง 120 วันกลับไปทำประชามติแล้วมาดูกันว่าใครจะผิดกติกาก่อนกัน

“จตุพร” ตัดบทเลิกเจรจา

ทั้งนี้ การเจรจาดำเนินมาถึงเวลาประมาณ 20.20 น. นายจตุพรจึงได้ตัดบทว่า ถือว่าการเจรจาวันนี้ยังไม่บรรลุข้อตกลงทั้ง 2 ฝ่าย จึงควรยุติการเจรจาไว้เพียงเท่านี้ ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรค่อยมาว่ากัน ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถือเป็นการตัดสินใจของท่านเอง เพราะหากจะไม่มาคุยกันอีกก็ได้ แต่จะทำให้เสียเวลา ในวันที่ 30 มี.ค.

ตนต้องเดินทางไปประเทศบาห์เรน และจะกลับมาในวันพุธนี้ ขอว่าช่วงเวลานี้โปรดอย่านำกำลังมาเผชิญหน้ากัน ขณะที่นายจตุพรก็กล่าวสวนว่า งั้นรัฐบาลจะต้องถอนทหารออกจากวัดและตามสถานที่ต่างๆ ออกทั้งหมด ทำให้นายกฯชี้แจงว่า แม้จะมีกำลังทหารอยู่ แต่พวกเขาก็จะไม่ทำอะไรพวกท่านและประชาชนแน่ เพราะหากตนสั่งให้ทหารทำอะไร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ก็คงไม่ทำ

ย้อนไว้ใจ “ประยุทธ์” ได้หรือ

ขณะที่นายจตุพรถามกลับอีกว่า แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเชื่อใจได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีก็ชี้แจงว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.อนุพงษ์ ก็คงจะไม่ทำเช่นกัน เพราะตนและ พล.อ.อนุพงษ์เห็นตรงกันว่าประชาชนที่มาชุมนุมไม่ใช่ศัตรู ขณะที่ นพ.เหวง กล่าวเสริมว่า หากต้องการให้อยู่ในบรรยากาศของการเจรจา ก็ไม่ควรจะอยู่ในการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ สมควรจะยกเลิกได้แล้ว ซึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวตัดบทว่า อีก 2 วันค่อยกลับมาคุยกันใหม่ ระหว่างที่ตนไม่อยู่ขอให้พูดคุยกันนอกรอบกับนายกอร์ปศักดิ์และนายชำนิไปก่อน ถือว่าฝั่งตนยินดีที่จะให้นัดหมายเมื่อใดก็ได้ ในที่สุดหลังการเจรจาวันที่ 2 ซึ่งใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ในที่สุดก็ยังไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการนัดหมายกันอีกหรือไม่

“อภิสิทธิ์” บ่นเสียดายถ้ายุติเจรจา

เมื่อเวลา 20.30 น. ภายหลังการเจรจา นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลพยายามหาทางออกที่คิดว่าเป็นที่ยอมรับ นำเสนอไปแล้วเบื้องต้นผู้แทนกลุ่มผู้ชุมนุมบอกว่า ยังไม่ยอมรับต้องไปถามผู้ชุมนุมก่อน แต่ถ้าประสงค์จะคุยก็กำหนดไว้วันพฤหัสจะคุยต่อ จุดยืนรัฐบาลเหมือนเดิมไม่มีปัญหา อยู่ที่ว่าคนเสื้อแดงจะยอมรับหรือไม่ ก็ต้องมาว่ากันอีกที เมื่อถามว่าถ้าการเจรจาครั้งที่ 3 ไม่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ก็เสียดาย เพราะคิดว่าจริงๆแล้วคนที่เป็นรัฐบาลพร้อมมารับฟังการพูดคุย และพยายามเสนอทางออก ไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อถามว่า 9 เดือน นายกฯจะยุบสภาแน่นอนใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ยังครับ เพราะผู้ชุมนุมยังไม่ยอมรับ แต่เวลาที่ตนเสนอไปก็เพื่อให้บ้านเมืองสงบ แต่บ้านเมืองจะสงบได้ต้องตกลงกัน 2 ฝ่าย ถ้าตกลงไม่ได้ก็ต้องมาว่ากันใหม่

ยังหวังเสื้อแดงกลับมาคุยใหม่

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนยังเห็นว่าประชาชนจำนวนมากที่ไม่ใช่เสื้อสีอะไร เชื่อว่าเขาต้องการเห็นบ้านเมืองสงบมากที่สุด และต้องการเห็นการพูดคุยด้วยเหตุด้วยผล ดังนั้นวันนี้ไม่ได้ข้อยุติก็น่าจะมาคุยต่อ ซึ่งอยู่ที่ฝ่ายคนเสื้อแดง แต่ถ้ามาเริ่มต้นเจรจากันใหม่อีก เงื่อนไข 9 เดือนก็ต้องพับไป เมื่อถามว่า ถ้าเสื้อแดงยุติชุมนุม นายกฯพร้อมยุบสภาใน 9 เดือนใช่หรือไม่ นายกฯตอบว่า ที่เป็นเงื่อนไขนั้น ตนจะทำมากกว่าการยุติชุมนุมด้วยซ้ำ จะนำเรื่องขุ่นข้องหมองใจต่างๆมาดูทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคดีความที่กล่าวหาว่า 2 มาตรฐาน ก็จะมาไล่กันดู ยินดีทำงานด้วยกันกับภาคส่วนอื่นๆของสังคม ฉะนั้นดีที่สุดคือกลุ่มเสื้อแดงมีปัญหาอยู่ก็น่าจะไปพิจารณา และอีก 2 วันค่อยมาคุยกัน เมื่อถามว่า การชุมนุมยุติ แต่การก่อวินาศกรรมยังเดินหน้าอยู่จะทำอย่างไร นายกฯตอบว่า การก่อวินาศกรรมก็ต้องช่วยกัน

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้เดินทางกลับไปพักผ่อนที่บ้าน ซอยสุขุมวิท 31 โดยมีรายงานว่านายอภิสิทธิ์ได้แอบกลับมานอนพักที่บ้านตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 28 มี.ค.แล้ว

ซัดรัฐบาลหลอกลวงประชาชน

ด้านนายจตุพรให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางกลับว่า ผลเจรจาครั้งนี้สรุปว่าเรามีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นนปช.จะกลับไปขอฉันทามติจากผู้ชุมนุมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และเราจะชุมนุมต่อไป แต่ยังเน้นสันติวิธี และยังยืนยันในจุดยืนเดิมคือให้นายกฯยุบสภาใน 15 วันและคืนอำนาจให้ประชาชน ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนอะไร ต้องเป็นไปตามฉันทานุมัติ รัฐบาลก็ต้องไปหารือพรรคร่วมว่าจะว่าอย่างไร การที่นายอภิสิทธิ์ยื่นเงื่อนไขยุบสภาใน 9 เดือนเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะเป็นได้ยากมากที่จะสามารถแก้รัฐธรรมนูญและปัญหาเศรษฐกิจได้ ก็ขอให้เสียสละเสีย แล้วรัฐบาลหน้าจะมาแก้วิกฤติต่างๆเหล่านี้เองแล้วถ้ายุบสภา เราก็ยุติชุมนุมทันที

ด้านนายวีระกล่าวว่า ยืนยันว่าผลการเจรจาครั้งนี้จะไม่ทำให้ทุกอย่างบานปลายขึ้น เพราะเรื่องบ้านเมืองต้องดีขึ้น ยืนยันว่า นปช.จะไม่ยกระดับไปปิดล้อมสถานที่หรืออะไร เพราะเรายึดมั่นเรื่องสันติเป็นศีล ส่วนที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำเสื้อแดงปราศรัยยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงนั้น

“วีระ” ยอมรับตกลงกันยาก

เวลา 21.15 น. นายวีระ มุสิกพงศ์ เดินทางมาถึงเวทีกลุ่มคนเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศกลับมาเล่าถึงผลการเจรจาว่า ขอยืนยันว่าถึงอย่างไรคนเสื้อแดงต้องยึดหลักว่าความขัดแย้งต้องเจรจากันได้ ตกลงกันไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง การสงครามฝ่ายรบก็รบกันไป ฝ่ายเจรจาก็เจรจากันไป ข้อเสนอของเรายุบสภาใน 15 วัน รัฐบาลไม่อาจยอมรับได้ เมื่อถามรัฐบาลก็ได้รับคำตอบว่าต้องใช้เวลา 9 เดือน ถึงอย่างไรก็เคารพในข้อคิดเห็นรับฟังแต่ไม่เห็นด้วยรัฐบาลเสนอ 9 เดือน เราเสนอ 15 วัน

ก็ยันกันไว้ตรงนี้ก่อน แม้อาจจะมองได้ว่าไม่คืบหน้า แต่ในทางการเมืองก็ถือได้รู้จุดยืนทั้ง 2 ฝ่าย หลังจากนี้จะทำกันอย่างไรเป็นเรื่องที่เราต้องปรึกษากันในคืนนี้ และแนวโน้มข้างหน้าเห็นว่าคงตกลงกันยาก เว้นแต่พี่น้องจะเห็นด้วยกับคนเสื้อแดง และมากันมากขึ้นตามที่เราจะนัดหมายกันในวันข้างหน้าต่อไป

“จตุพร” ย้ำเจรจายุติแล้ว

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ชี้แจงว่า ขอให้สบายใจได้ว่าพวกตนจะไม่เจรจานอกเหนือข้อเรียกร้องที่ประกาศไว้ วันนี้การเจรจายุติลงแล้ว เราต้องมาถามความเห็นพี่น้องว่าจะเอาอย่างไรกันต่อ แต่การต่อสู้ยังต้องมีต่อ เรียกร้องยุบสภาไม่ได้ก็ต้องขับไล่กันต่อไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญมันหมดเวลาไปแล้ว วันนี้ต้องคืนอำนาจด้วยการยุบสภาเท่านั้น จะเป็นราบ 11 หรือที่ใดที่ไม่มีความยุติธรรม ผืนดินไม่กลบหน้าก็ต้องสู้กับอำมาตยาต่อไป เตรียมร่างกายให้พร้อม การศึกใหญ่รออยู่ข้างหน้า เชื่อใครไม่ได้ต้องเชื่อตีนตบของพวกเราเท่านั้น พวกตนไม่มีวันคิดทรยศหรือเป็นอย่างอื่น พวกเราหัวใจเดียวกัน ยาวนานแค่ไหนก็ต้องต่อสู้ พี่น้องที่กลับมาเดินหน้ากลับมาร่วมรวมทัพต่อสู้กันใหม่

ชงแก้ รธน.ก่อนยุบสภาปลายปี

บ่ายวันเดียวกัน ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์(ร.11 รอ.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ว่าคณะทำงานของตนได้สรุปยกร่างเตรียมเสนอต่อนายกฯ ก่อนที่ท่านจะนำไปเสนอในการเจรจาได้ทันที โดยนายบรรหารและหัวหน้าทุกพรรค การเมืองได้เสนอแนวทางคล้ายๆกัน คือ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยึดเอาข้อเสนอ 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ได้เห็นชอบเอาไว้แล้วมาดำเนินการ จากนั้นก็มีการแก้ไขกฎหมายลูก รวมทั้งต้องมีการทำประชามติ มีเรื่องที่ต้องรับฟังความคิดเห็น และมีระยะเวลาตามขั้นตอนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เมื่อผ่านวาระสองต้องเว้นไว้ 15 วัน ถึงจะนำมาลงมติ ทั้งหมดนี้มีกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ตามตารางเวลาคิดว่าทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์คงเป็นช่วงปลายๆปี จากนั้นรัฐบาลก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้ ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าที่เสนออย่างนี้ต้องเป็นข้อเสนอที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเขายอมรับถึงจะได้เดินหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประเด็นอื่นๆอีกที่ต้องนำเสนอให้นายกฯตัดสินใจ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์เองไม่ได้ไปติดขัดในประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ได้ ทำเอาไว้แล้ว

ชี้ไม่มีแผน 2 หากเจรจาเหลว

เมื่อถามว่า ทางกลุ่มพันธมิตรฯไม่เห็นด้วยและจะปลุกระดมคนออกมาต่อต้าน นายสุเทพตอบว่า ได้ติดตามฟังคำแถลงของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ความว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลุ่มคนใดหรือบุคคลใด แต่เขาไม่ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ ของประเทศชาติโดยส่วนรวม ฉะนั้น ไม่มีอะไรที่ขัดแย้งกันเมื่อถามว่า ทางรัฐบาลได้เตรียมแผน 2 เอาไว้อย่างไร หากข้อเสนอที่พรรคร่วมแก้รัฐธรรมนูญแล้วยุบสภาปลายปี ทางกลุ่มเสื้อแดงไม่ยอมรับ นายสุเทพตอบว่า ยังไม่ได้ เตรียมแผนสอง ถ้าผู้ชุมนุมเขายอมรับเรื่องนี้ก็โชคดีไป เราจะได้เดินหน้าทำงานและเริ่มกระบวนการไปได้ แต่ถ้าเขาไม่เอาก็เป็นอันว่าไม่มีข้อเสนอ ถ้าผลการเจรจาเป็นไปด้วยดี ผู้ชุมนุมก็เลิกกลับบ้าน ถ้าตนแก้ไขได้ทันก็จะกลับไปประชุม ครม.ที่ทำเนียบรัฐบาล ถ้าไม่ทันก็ประชุมที่ ร.11 รอ. เมื่อถามว่า หากการเจรจาล่ม ไม่เป็นผล รัฐบาลเตรียมการรับมือเสื้อแดงที่อาจเพิ่มมาตรการความรุนแรงอย่างไร นายสุเทพตอบว่า ตนไม่ค่อยคิดอะไรไปในทางร้าย คิดในทางดีเอาไว้เรื่อย ถ้าเกิดทางร้ายก็ค่อยแก้ไป

ภท.หนุนแก้ รธน.ยุบสภาปลายปี

วันเดียวกัน ที่กระทรวงมหาดไทย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ว่า แนวทางของพรรคภูมิใจไทยคือสนับสนุนการเจรจาพูดคุย เพราะหากมีการปล่อยให้ชุมนุมยืดเยื้อจะเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และต่อสังคมอย่างสูง สำหรับเงื่อนไขของแกนนำผู้ชุมนุมที่ระบุให้ยุบสภาภายใน 15 วันนั้น หากยุบสภาแล้วต้องใช้กติกาเดิมในการเลือกตั้ง คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 50 ที่แกนนำผู้ชุมนุมประกาศบนเวทีตลอดมาว่าไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีที่มาไม่ถูกต้องมาจากเผด็จการ เพราะฉะนั้นหากยุบสภาใน 15 วัน ต้องใช้กติกาที่ผู้ชุมนุมไม่เอาด้วย เพราะฉะนั้นยุบสภาได้ แต่ควรมีการแก้กติกา แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายก่อน แล้วค่อยเลือกตั้ง จึงขอฝากไปยังแกนนำว่าควรจะลองคิดดูอย่างรอบคอบก่อน เอาเหตุผลเป็นตัวตั้ง การยุบสภาเกิดขึ้นแน่นอน แต่ต้องหาจุดให้ตรงกัน โดย สามารถแก้ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ หรือหากจะหยิบยกเอารัฐธรรมนูญ 40 ในหลายประเด็นมาใส่ สามารถทำได้ และสุดท้ายถามประชาชนทำประชามติ และเชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดสามารถจบได้ในปลายปีนี้

พท.ฟันธงเจรจาไร้ข้อยุติ

วันเดียวกัน เวลา 13.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย ได้มีการประชุมคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรค มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรค เป็นประธาน เพื่อหารือถึงสถานการณ์การเมือง ภายหลังการหารือ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ที่ประชุมเห็นว่าการเจรจาระหว่าง นปช.กับรัฐบาลคงไม่ได้ข้อยุติ รัฐบาลไม่ยุบสภา ทั้งที่การเมืองอยู่ในช่วงวิกฤติขัดแย้งรุนแรงมากที่สุด ใกล้ถึงจุดเดือด ไม่มีใคร ยอมฟังใคร รัฐบาลมีอำนาจบริหารประเทศไม่ได้ เป็นรัฐบาลเป็ดง่อย ต่อไปนายกฯจะออกนอกพื้นที่ กทม. ไม่ได้เลย หากไม่ยุบสภา รัฐบาลถึงทางตัน ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว มติตรงนี้จะนำเข้าที่ประชุม ส.ส.ในวันที่ 30 มี.ค. เพื่อกำหนดออกแถลงการณ์แสดงจุดยื่นของพรรคต่อไป

แฉ “อภิสิทธิ์” ถูกบีบให้เจรจา

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ทั้งนี้ได้ทราบข่าวเชิงลึกว่านายกฯถูกพรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรค และผู้นำเหล่าทัพบางคนกดดันให้ไปเจรจา หากไม่ทำตามพรรคร่วมจะถอนตัว เนื่องจากกลัวว่ามือจะเปื้อนเลือดหลังมีกระแสข่าวว่าประชาชนจะลุกฮือบุก ร. 11 รอ. แล้วรัฐบาลจะประกาศกฎอัยการศึก ส่วนกรณีหากรัฐบาลยังไม่ยุบสภานั้น คนเสื้อแดงคงชุมนุมยืดเยื้อ และ ส.ส.ของพรรคต้องทำงานหนัก โดยต้องไปดูแลผู้ชุมนุมพื้นที่ของตัวเอง ส่วนที่ ส.ส. ขึ้นเวทีเสื้อแดงนั้น ต้องระมัดระวังในการปราศรัย เพราะไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ส่วนกรณีที่รัฐบาลประกาศประชุม ครม. วันที่ 30 มี.ค.ที่ ร.11 รอ นั้น ที่ประชุมเห็นว่ารัฐบาลตั้งในค่ายทหาร พอมีปัญหาก็หลบไปในค่ายทหาร และยังประชุม ครม.ในค่ายทหารอีก สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้มาจากประชาชน ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารเหมือนในยุคเผด็จการ เป็นรัฐบาลทหารอุ้ม เสื่อมเสียศักดิ์ศรีของนักการเมือง ทั้งนายกฯ และ ครม.ควรละอาย เปลี่ยนสถานที่ประชุม ครม.เป็นสถานที่แห่งใหม่ที่ไม่ใช่ค่ายทหาร

เตรียมพร้อมชุมนุมยืดเยื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้มีกลุ่ม 9-10-11 ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน อดีตเตรียมทหารรุ่น 10 และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ได้หารือเพื่อประเมินสถานการณ์การเมืองภายหลังจากที่แกนนำ นปช.เจรจากับรัฐบาลนัดแรก ภายหลังการหารือประมาณ 2 ชั่วโมง ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง อดีตโฆษกพรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมสรุปว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะไม่ยุบสภาตามที่มวลชนเสื้อแดงเรียกร้องอย่างแน่นอน ดังนั้น ในฐานะที่พวกเราได้เปิดตัวบนเวทีเสื้อแดงชัดเจนกันหมดแล้ว และมวลเสื้อแดงเดินมาไกลจะต้องเดินหน้าชุมนุมยืดเยื้อต่อไปภายใต้แนวทางสันติ อหิงสา เพื่อเป็นเกราะกำบังไม่ให้รัฐบาลใช้กำลัง อีกทั้งระบบของเราลงตัวหมด ทั้งมวลชนที่ปักหลักอยู่ที่เวทีประจำ มวลชนที่ผลักเปลี่ยนหมุนเวียน และการระดมมวลชน ทุกอย่างลงตัว ทำให้มวลชนปักหลักอยู่ได้เรื่อยๆ ถ้ารัฐบาลเห็นว่าการชุมนุมไม่มีความหมายก็ว่ากันไป

ส.ส.ย้ำการเจรจาแค่ละคร

สำหรับบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถนนราชดำเนิน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้านหลังเวที ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส.ไทยรักไทย จับกลุ่มพูดคุยและวิเคราะห์การเจรจาที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพียงการเล่นละครระหว่างรัฐบาลและแกนนำ นปช.เท่านั้น ไม่มีผลที่จะทำให้การเคลื่อนไหวยุติลง เพราะคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่เคยเชื่อคำพูดนายอภิสิทธิ์อยู่แล้ว ดังนั้นหลังจากนี้ นปช.จะยังคงเดินหน้าจัดตั้งความคิดของคนต่างจังหวัดผ่านสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนลต่อไป ขณะนี้ กระแสม็อบของเสื้อแดงถือว่าจุดติดแล้ว มวลชนสามารถสลับสับเปลี่ยนกำลังกันมาร่วมชุมนุมได้แม้จะยาวนานเป็นเดือนก็อยู่ได้โดยไม่สนใจว่าการเจรจาจะเป็นอย่างไร

“จาตุรนต์” ซัดนายกฯยื้ออยู่ยาว

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ รร.เรดิสัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงถึงการเจรจาระหว่างรัฐบาลและแกนนำ นปช. ว่า เป็นเรื่องดีที่เดินมาถึงจุดของการเจรจา แต่เท่าที่ดูนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังคงไม่ตระหนักถึงภาวะวิกฤติขัดแย้งแตกแยกที่ฝังลึกมายาวนาน ยังคงพูดเชิงโต้วาที หาเสียงกับคนดู หาทางอยู่ต่อไปให้นานที่สุด ซึ่งเท่ากับปล่อยให้วิกฤติยืดยาวออกไป ประเทศชาติเสียโอกาส เพราะรัฐบาลอยู่ไปก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ เกรงจะเกิดภาวะกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ทั้งนี้นายกฯได้พยายามเสนอในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ คือเรื่องของการแก้กติกาให้เป็นที่ยอมรับ เรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ระบุให้ชัดเจนจะแก้เนื้อหาตรงไหน มาตราใด เพื่ออะไร ใช้เวลาเท่าใด และในเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เองไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตราใดทั้งสิ้นจะทำอย่างไร ดังนั้น จึงเป็นการเสนอทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้ มันจึงขัดแย้งในตัว ส่วนข้อเรียกร้องของนักวิชาการให้ยุบสภาภายใน 3 เดือน โดยแก้กติกาก่อนนั้น ส่วนตัวเห็นด้วย แต่ปัญหาคือจะแก้กติกาอะไร  ในเมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้แน่ๆ
3 วันก็รู้แล้ว

แนะยุบสภาแก้วิกฤติดีกว่าทนอยู่

นายจาตุรนต์กล่าวว่า คำถามที่ตามมาคือการยุบสภา จะยุบเร็ว ยุบช้า ถ้ารัฐบาลอยู่ต่อก็เป็นเบี้ยล่างทหาร พรรคร่วม อยู่ต่อไปบ้านเมืองยิ่งเสียหาย สุ่มเสี่ยงทำให้ความขัดแย้งบานปลายรุนแรง ดังนั้น ยุบสภาเร็วๆดีกว่า แม้การยุบสภาจะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็แก้ปัญหาเรื่องรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม กระบวนการยุติธรรม ร่นระยะเวลาเข้ามาเพื่อก้าวพ้นวิกฤติ ส่วนที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอให้ยุบสภาสิ้นปีนั้น ไม่มีเหตุผล ที่จะอยู่ไปเพื่อใช้งบประมาณ กรณีที่มีการเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาตินั้น เป็นไปได้ยากที่สุดมากกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางยอมแน่นอน สำหรับบทบาทของทหารวันนี้นั้น ยังลำเอียงอยู่มาก อุ้มรัฐบาลนี้เต็มตัว แต่ยังดีที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง การที่นายกฯมาเจรจาก็สงสัยว่าเป็นเพราะทหารบอกว่าไม่ไหวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทหารควรออกมาบอกให้ชัดว่าจะไม่ปราบ ประชาชนเด็ดขาด

ปัดข้อหา “ทักษิณ” ตั้งบริษัทดูไบ

ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณตั้งบริษัทลูกอยู่ที่นครรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อรอรับเงินโอนจากประเทศไทย ว่า หลังจากที่ครอบครัวชินวัตรถูกอายัดทรัพย์ ก็มีเพียงกิจการเล็กๆน้อยๆ มีการถอนเงินในส่วนที่ไม่ถูกอายัดไปใช้หนี้สินที่กู้เขามา พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีการนำเงินไปดำเนินธุรกรรมทางการเมือง จ้างม็อบอะไรตามที่นายกรณ์กล่าวหา นายกรณ์มีทัศนคติที่อันตรายเป็นปฏิปักษ์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณชัดเจน ก่อนหน้านี้ก็เคยออกมาแสดงความเห็นว่าควรยึดทรัพย์ อดีตนายกฯทั้งหมด ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่านายกรณ์ไปเอาข้อมูลมาจากไหน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ได้ใช้ตำแหน่ง รมว.คลังไปนำข้อมูลจากหน่วยงานภายใต้สังกัดมาดิสเครดิตหรือไม่ ดังนั้นจึงมอบหมายให้ทีมทนายรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่าจะเอาผิดต่อนายกรณ์ตามมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้หรือไม่

“ประสพสุข” แนะปิดห้องคุย

ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการเปิดเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช.ว่า อย่างน้อยก็เห็นความหวัง ให้ประชาชนได้เห็นทางออกของประเทศ มันเป็นจุดเริ่มต้น แต่การเจรจาที่มีการถ่ายทอดสดมันตกลงกันลำบาก ควรปิดห้องเจรจากันก่อนแล้วมาแถลงภายหลัง เมื่อถามว่า ภาพที่ออกมาแต่ละฝ่ายเป็นการหาเสียงของแต่ละฝ่ายหรือไม่ นายประสพสุขหัวเราะพร้อมกล่าวว่า “อะไรอย่างนั้น อะไรอย่างนั้น” เมื่อถามว่า มองว่าปัจจัยที่จะนำไปสู่การยุบสภาควรมีอะไรบ้าง นายประสพสุขตอบว่า ไม่ได้มองเรื่องปัจจัย แต่มองว่าทำอย่างไรจะเกิดความสงบสุขถาวร หากเกิดความสงบจะทำอย่างไรก็ต้องทำ ข้อเสนอคนเสื้อแดงรัฐบาลต้องรู้ปัญหา รู้ว่าผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นอย่างไร ตอนนี้ต่างชาติจับตามองอยู่ เมื่อถามว่าเสื้อแดงประกาศว่าจะเป็นการเจรจาครั้งสุดท้ายหากไม่มีทางออกวุฒิสภาจะดำเนินการอย่างไร นายประสพสุขตอบว่า วุฒิสภาจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ในการเปิดอภิปรายทั่วไป ให้รัฐบาลมาฟังข้อเสนอแนะติติงเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง เป็นช่องทางที่รัฐบาลจะหาทางออกได้

กลุ่ม 40 ส.ว.ดาหน้าต้านยุบสภา

วันเดียวกัน  เมื่อเวลา  10.00 น.  ที่รัฐสภา  นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานประชุมวุฒิสภา ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เปิดให้มีสมาชิกทำการหารือ โดย ส.ว.ในกลุ่ม 40 ส.ว.ต่างแสดงความเห็นคัดค้านการยุบสภา อาทิ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลที่เปิดใจรับฟัง และเปิดการเจรจา แต่ทั้งนี้ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ตนก็ถือว่าเป็นการเพิ่มความรู้สาธารณะ ส่วนการเจรจานั้นตัวแทนรัฐบาลที่ไปเจรจาถือว่าเป็นตัวจริง แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่ตัวจริง เพราะคนที่บัญชาการยังอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งตนเห็นว่าประเด็นในการเจรจาไม่ควรมีแต่เรื่องการยุบสภาเท่านั้น เพราะมิติปัญหาของสังคมกว้างกว่านั้น และไม่เชื่อว่าการเจรจาจะสามารถแก้ปัญหาได้ การยุบสภาคงไม่ใช่ทางออกของบ้านเมือง ควรให้มีการปฏิรูปบ้านเมืองเกิดขึ้นก่อน

น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า เห็นด้วยว่าทางออกของบ้านเมืองคือต้องเปิดการเจรจา แต่การเจรจาเพื่อนำไปสู่การยุบสภาไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือต้องพิจารณาว่าผลพวงจากการยุบสภาจะเป็นอย่างไร รับประกันได้หรือไม่ว่าปัญหาจะยุติด้วยการยุบสภา  สิ่งแรกที่ต้องกำหนดจะยุบสภาเมื่อไรจึงเหมาะสม นายกรัฐมนตรีต้องตอบให้ชัด

เสนอตั้งคณะ กก.ปฏิรูปประเทศ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การ เจรจาที่เกิดขึ้นไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เชื่อว่าไม่ใช่
จุดจบของความขัดแย้งในสังคมไทย ดังนั้นจึงอยากฝากไปยังรัฐบาลว่าไม่ว่าจะยุบสภาหรือไม่ อยากให้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นเพื่อหาทางออกให้ชาติ เรื่องนี้ก็อยู่ในนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว เพื่อจัดวางระบบการบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการบริหารงานของรัฐบาลก็ผ่านมา 1 ปีกว่าแล้ว รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย ส่วนการยุติปัญหาทางการเมืองที่ล้มเหลวตนอยากฝากรัฐบาลเรื่องเจรจาว่า  หากจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของการชุมนุมก็ทำไป จะไม่ยุบสภาก็เป็นสิทธิของท่าน แต่ไม่ใช่ว่ายังคงบริหารเหมือนประเทศไม่มีวิกฤติอย่าทำเหมือนที่ผ่านมา จะต้องดำเนินการที่แตกต่างไปจากเดิม

“เรืองไกร” ข้องใจมาตรการปิดสภา

ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า  อยากถามว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้
อาศัยอำนาจใดมาบดบังอำนาจตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย  พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล แต่รัฐบาลได้ดำเนินการส่งกองกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามา ขณะที่ ส.ว.กำลังประชุมอยู่ในห้อง เมื่อวันที่ 22 มี.ค. มีการนำรถบด เครื่องมืออุปกรณ์ มาไว้ที่ลานจอดรถ โดยไม่มีการส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนสมาชิก ทั้งที่นายกรัฐมนตรีเก่งในเรื่องการส่งเอสเอ็มเอสมาก แต่ทำไมไม่แจ้งต่อประธานฯและสมาชิกรัฐสภา ทำให้การประชุมของคณะกรรมาธิการในวันที่ 23 มี.ค. ไม่สามารถทำงานได้ เรื่องนี้ถือเป็นการหยามเกียรติและหมิ่นศักดิ์ศรีของรัฐสภา ซึ่งเป็นอำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 3 จึงอยากฝากไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ทำหนังสือตอบกลับมาว่าอาศัยอำนาจตามมาตรา  18  ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงได้อย่างไร

ซัดไม่มีหัวใจ ปชต.จ้องยื้ออำนาจ

ขณะที่นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา ได้เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจำนวน 9 หน้า มาแจกจ่ายแก่ ส.ว.และสื่อมวลชน กรณีที่รัฐบาลสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เข้ามารักษาการณ์บริเวณรัฐสภาและบริเวณโดยรอบรัฐสภา และใช้ลวดหนามและแท่งคอนกรีตปิดกั้นถนน 8 สาย ตั้งแต่บ่ายวันที่ 22 มี.ค. ถึงเย็นวันที่ 25 มี.ค. โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 เพราะคุกคามต่อการทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภา ไม่สนว่ากระทำการทำลายระบอบประชาธิปไตย เพียงเพราะต้องการรักษาอำนาจไว้ให้ยืนยาวที่สุด  การห้ามบุคคลทั่วไปรวมถึง ส.ส. ส.ว.เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวยังมิชอบ เพราะทำโดยพลการก่อนที่ ครม.จะให้ความเห็นชอบตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และยังเป็นการเกินสมควรแก่เหตุ ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถมาทำหน้าที่ได้ และการนำเครื่องกีดขวางมาวางกั้นยังอยู่ในบริเวณพระราชวัง จึงอาจปิดกั้นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจึงเป็นการกระทำไม่สมควรยิ่ง

พธม.ออกแถลงปฏิรูปประเทศ

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 12.30 น. ที่บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสุริยะใส กตะศิลา นายสำราญ รอดเพชร ร่วมออกแถลงการณ์เรื่อง “ปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย ทางออกจากวิกฤติ” โดยนายสุริยะใสอ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ได้มีการเจรจาอย่างเปิดเผย เมื่อวันที่ 28 มี.ค.นั้น พันธมิตรฯ ขอประกาศจุดยืนดังนี้ 1.เห็นด้วยกับการเจรจา แต่การเจรจาเมื่อวานนี้เป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาให้กับคนคนเดียว เพราะแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นไม่ใช่ตัวแทนของคนทั้งประเทศ แต่เป็นเพียงหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น นายกฯจะต้องไม่ยอมรับการเจรจาที่จะกลายเป็นเครื่องมือหรือสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบ ทักษิณ 2.เห็นว่าการยุบสภาไม่ใช่ทางออกของประเทศ แม้การยุบสภาจะเป็นวิถีทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่เห็นว่าข้อเสนอให้มีการยุบสภาของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น เป็นข้อเสนอที่มีวาระซ่อนเร้น เพื่อปูทางไปสู่การฟอกผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ

ประกาศย้ำจุดยืนค้านแก้ รธน.

3.ยืนยันจุดยืนเดิมคัดค้านการรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดให้นักการเมืองบางกลุ่ม ดังนั้น หากนักการเมืองยังจะพยายามที่จะรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อสนองความต้องการส่วนตัว ย่อมจะเป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคมให้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้น หลังการยุบสภา หรือไม่มีการยุบสภาก็ตาม 4.เห็นว่าวิกฤติของประเทศในขณะนี้เป็นวิกฤติขนาดใหญ่ รุนแรงและสลับซับซ้อน จึงจำเป็นต้องรื้อถอนและวางรากฐานโครงสร้างสังคมหรือการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทยอย่างรอบด้าน 5.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายลงโทษกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ประเทศชาติกลับเข้าสู่ภาวะความเป็นปกติสุขโดยเร็วที่สุด และ 6.ขอยืนยันที่จะไม่ซ้ำเติมความแตกแยกของบ้านเมือง แต่ยืนยันที่จะเคลื่อนไหวบนผลประโยชน์ของส่วนรวม และขอให้พี่น้องประชาชนหลีกเลี่ยงการยั่วยุหรือเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมที่อาจนำไปสู่การสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ขอให้ใช้ความอดทนและอดกลั้นอย่างถึงที่สุด  โดยพันธมิตรฯจะนัดประชุมเครือข่ายพันธมิตรฯทั่วประเทศ เพื่อประกาศจุดยืนให้กับประเทศไทยในเร็ววันนี้

แนะตั้ง กก.ทุกภาคส่วนถกปัญหา

ด้านนายพิภพกล่าวว่า รัฐจะต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยการปฏิรูปประเทศ เพื่อสร้างนโยบายของประเทศ และให้นักการเมืองเป็นผู้นำไปใช้หาเสียง ซึ่งเป็นภาระของสังคมที่จะนำพาประเทศฝ่าวิกฤติได้ อาจจะมีการตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อนำทุกภาคส่วนมาหารือถึงทางออกของประเทศ ซึ่งหากรัฐบาลทำไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของพันธมิตรฯที่จะกระทำ ทั้งนี้ ตนมองว่าการยุบสภาไม่ใช่คำตอบของสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็จะต้องตอบให้ได้ ว่า หากไม่ยุบสภาแล้วจะทำอะไรต่อ

ขณะที่นายสมเกียรติกล่าวว่า เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ยุบสภา กลุ่มคนเสื้อแดงจึงเบนเข็มความรุนแรงไปที่พรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่พรรคร่วมก็ต้องการให้รัฐบาลอยู่ยาวจนถึงปีงบประมาณ 2554 เพื่อรองบประมาณที่อาจจะมีการอนุมัติกว่า 2 ล้านล้านบาท

ตปท.เกาะติดสถานการณ์ไทย

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศทั้งเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์ รายงานความคืบหน้าสถานการณ์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ระบุหลายฝ่ายยังคงต้องจับตาว่าผลการเจรจาจะออกมาในรูปแบบใด โดยนายพอล แชมเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศไทย ประจำมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กของเยอรมนี แสดงความเห็นต่อเหตุผลว่าทำไมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องเจรจากับกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งที่ก่อนหน้าไม่เคยแสดงท่าที ชี้อาจเป็นเพราะกองทัพขาดความเป็นเอกภาพในการสนับสนุนนายกฯ  ขณะที่รอยเตอร์เผยแพร่บทวิเคราะห์การเมืองไทย  คาดเดา  “เหตุการณ์”  ที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้  ซึ่งสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมต่อ แต่ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้เนื่องจากขาดทรัพยากรทั้งเงินทุนและเสบียงอาหาร ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะสั้นและระยะกลาง อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกทางการเมืองจะยังมีอยู่ต่อไป ทำให้คนเสื้อแดงอาจระดมพลมาชุมนุมอีก ส่วนสถานการณ์ที่เป็นไปได้ในอันดับต่อมาคือ ทั้งสองฝ่ายหาข้อตกลงกันได้ รัฐบาลยืนยันจะจัดการเลือกตั้งเร็วๆนี้ และกลุ่มเสื้อแดงยอมเลิกชุมนุม ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจที่สุด แต่ผลเสียคือมีโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมประท้วงอีกหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้ขึ้นเป็นรัฐบาล ขณะที่สถานการณ์เลวร้ายสุดคือเกิดความรุนแรงมีผู้เสียชีวิต  แต่มีความเป็นไปได้น้อยเพราะรัฐบาลคุมสถานการณ์อย่างดี