ลูกเล่นนักโต้วาที

วิสุทธิ์ ตูน 10  พค.53 

a47

 

การเมือง
วันที่ 4 พฤษภาคม 2553 13:26หลากทัศนะว่าด้วยแผนปรองดองแห่งชาติ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 แผนปรองดองแห่งชาติของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เกิดความเห็นหลากหลาย บางฝ่ายสนับสนุนและบางฝ่ายคัดค้าน

“ชวน”งง“อภิสิทธิ์”ประกาศเลือกตั้งใหม่14พ.ย.

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอทางออกในการแก้ปัญหาประเทศโดยระบุว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พ.ย.ว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบมาก่อน และก่อนหน้านี้ช่วงที่มีปัญหาตนก็ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาแม้จะมีคนมาขอให้ยุบหรือมาข่มขู่เราก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งตอนแรกตนเข้าใจว่าที่นายกรัฐมนตรีประกาศการยุบภายใน 9 เดือนนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่การประกาศยุบสภาเมื่อคืนวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมานั้นตนไม่ทราบมาก่อนว่าคิดอย่างไรในเรื่องนี้ แต่การจะยุบสภาเมื่อไหร่นั้นเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี คงต้องไปถามรายละเอียดกับนายกรัฐมนตรีเองว่าจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป

กลุ่ม303นักวิชาการหนุนโรดแมปปรองดองแต่ค้านยุบสภา

รศ.หริรักษ์   สูตะบุตร  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มธ. กลุ่ม 303 นักวิชาการ  กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายกฯทั้งหมดแต่ในส่วนของการยุบสภาไม่เห็นด้วยเพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอนว่าทั้งสองฝ่ายต้องการชนะเป็นการเลือกตั้งแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ทั้งนี้หากจะยุบสภาก็ต้องให้แน่ใจว่าหากมีการเลือกตั้งต้องควบคุมให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้นเกินกว่าจะรับประกันอะไรได้

อย่างไรก็ตามหากนปช.มีความหวังดีกับประเทศชาติจริงไม่มีวาระซ่อนเร้นอื่นก็ต้องยอมรับข้อเสนอนายกฯ หากไม่ยอมรับรัฐบาลก็ไม่ต้องถอยอีกแล้ว เพราะขณะนี้ถือว่าถอยเต็มที่ นปช.หากไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ รัฐก็ไม่ควรไปต่อรอง และควรบังคับใช้กฎหมาย

“รัฐบาลถอยไปมากกว่านี้ไม่ได้เพราะหากเช่นนั้นก็หาความเชื่อมั่นไม่ได้ แต่เหตุการณ์ที่หลักสี่ก็อย่างน้อยเห็นว่ารัฐบาลทำอะไรบ้างแต่ ไม่ได้เรียกความเชื่อมั่นมาได้ทั้งหมด ”

“ประสพสุข”หนุนโรดแมปปรองดองปฏิบัติได้จริง 

นายประสพสุข บุ ญเดช  ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงแผนโรดแม็ป 5 ข้อของนายกรัฐมนตรีว่า เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  เป็นโรดแม็ปที่ทุกฝ่าย รวมถึงนปช.น่าจะยอมรับได้  เพราะนายกฯได้ยอมเต็มที่แล้วที่จะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย.นี้  ส่วนตนเห็นด้วยกับ 5 ข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีอย่างยิ่ง และอยากให้ทุกฝ่ายยอมรับข้อเสนอนี้นปช.จะได้ถอยกลับไปดำเนินชีวิตของตนเองตามปกติ ให้ทุกฝ่ายกลับไปปรองดองกันเช่นเคย

เมื่อถามว่าทำไมนายกฯถึงไม่พูดให้ว่ายุบสภาวันไหน  นายประสพสุข กล่าวว่า วันเลือกตั้งสำคัญกว่าวันยุบสภา  ขณะที่จะมีกระบวนการต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่ความปรองดอง ที่จะมาแก้ไขปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม  จากนี้ไปจึงต้องหาคณะกรรมการที่มีความเป็นกลางขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง  ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะนี้ทุกคนอยากรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาจึงต้องมาจากหลายฝ่ายที่มีความเป็นกลางเพื่อทำหน้าที่สืบเสาะหาข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับทราบ

“โคทม” ชี้ เลือกตั้ง 14 พ.ย.เหมาะสม หวัง นปช.เห็นด้วย
นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ในรายการเช้าข่าวข้น ถึงข้อเสนอปรองดองแห่งชาติของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ว่า ถือเป็นแนวทางที่ดี โดยเฉพาะแนวโน้มที่ได้รับการตอบรับจากแกนนำ นปช. มีการนำประเด็นข้อปัญหาที่กำลังเป็นที่ถกเถียงมารวบรวมไว้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น และครอบคลุม รัฐบาลสามารถสรุปแนวทางได้ดี ครอบคลุมข้อเสนอจากนักวิชาการก่อนหน้านี้

ส่วนกรณีหากเป็นไปตามแนวทางและจะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย. นั้น นายโคทม กล่าวว่า ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะรัฐบาลก็ยังเป็นห่วงเรื่องงบประมาณประจำปี อยากจะบริหารงบประมาณให้ครบปีงบประมาณ และเตรียมงบประมาณในปีต่อไปไว้

นายโคทม กล่าวว่า หวังไว้ว่าทางแกนนำนปช.จะเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว อย่างน้อยก็น่าจะรับหลักการ คลี่คลายการชุมนุมไม่ให้ส่งผลกระทบการการจราจรและคนกทม. อาจจะเลื่อยการชุมนุมออกไปก่อนในระหว่างที่มีการหารือใน 5 ประเด็น หรือจะมีการนำเสนอใหม่เพิ่มในช่วงนั้น

นักวิชาการมช.จวกโรดแมพนายกฯ ไม่ชัดเจน-เชื่อทำได้ยาก

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยกรณีการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์โรดแมพ 5 ปรองดอง พร้อมเสนอยุบสภาพเลือกตั้งใหม่วัน 14 พฤศจิกายน 2553 ว่า ข้อเสนอปรองดองทั้ง 5 ข้อนั้นภายในระยะเวลาอันจำกัดในการแก้ไขปัญหาถือว่าเป็นเรื่องที่ควรจะเกิดขึ้น แต่ข้อเสนอดังกล่าวมีปัญหาหลายประการในทางการปฏิบัติ ทั้งการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อว่าในกรอบระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนี้ไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี

รวมถึงการปฏิรูปสังคมให้ปรองดองกัน สมานฉันท์ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน คำถามที่เกิดขึ้นหลังจากนี้คือ หากหลายข้อไม่สามารถปฏิบัติได้ข้อเสนอที่มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน จะยังเกิดขึ้นอยู่หรือไม่ หรือนายกฯ และรัฐบาลชุดปัจจุบันจะยังคงบริหารงานต่อไปจนครบวาระ ผมคิดว่าเราต้องมองว่า 5 ข้อเสนอต้องชัดเจนมากกว่านี้ ต้องระบุให้แน่ชัดว่าข้อเสนอ 5 ปรองดองเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จถึงจะมีการเลือกตั้งใหม่

“ผมเชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่ต้องอยู่ภายใต้ความจริงใจของรัฐบาล ไม่ใช่เป็นการหลอกกันเฉพาะหน้า เช่น ในข้อเสนอให้สังคมมีความปรองดอง หากเสื้อแดงรับข้อเสนอดังกล่าว แต่มีกลุ่มอื่นที่ไม่เห็นด้วยเช่นกลุ่มหลากสีออกมาเคลื่อนไหว แสดงถึงความไม่ปรองดองหรือไม่ ดังนั้นข้อเสนอยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็จะตกไปใช่หรือไม่ ต้องระวังเรื่องนี้เป็นอย่างมาด้วย ผมอยากจะฝากถึงนายกฯ อีกหนึ่งเรื่อง คือ การที่นายกฯ มักพูดเสมอว่าจะไม่มีการต่อรองเจรจาใดๆ ผมไม่เห็นด้วย การเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองเจรจา ถ้านายกห้ามเจรจาแสดงว่าไม่ใช่นักการเมือง” รศ.สมชาย กล่าว

นักสันติวิธีจี้ทุกฝ่ายทำข้อตกลงก่อนยุบสภา

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิจัยอิสระด้านสันติวิธี และอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) กล่าวว่าแผนปรองดองเพื่อแก้ปัญหาการเมืองของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นแนวทางที่ดีและจะช่วยลดระดับอุณหภูมิ และความตึงเครียดทางการเมืองลงได้ก่อนจะเดินไปสู่การออกจากปัญหา แต่จะพ้นวิกฤตอย่างยั่งยืนและถาวรหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามและขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆอีกหลายประการ

นายอัฮหมัด กล่าวต่อว่า สำหรับโรดแมปที่นายกรัฐมนตรีเสนอนั้น ถือเป็นประตูทางออกที่เปิดกว้างเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ก้าวข้ามวิกฤตเฉพาะหน้าในเวลานี้ ซึ่งอย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือวางกรอบเพื่อควบคุมไม่ให้ปัญหาก่อตัวเกิดขึ้นใหม่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากสังคมไทยขณะนี้อยู่ในภาวะบอบช้ำอย่างหนัก ดังนั้นหากมีการยุบสภาแล้วกำหนดการเลือกตั้งจะต้องไม่ให้เกิดปัญหาความวุ่นวายซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ระลอก

“เนื้อหาสาระที่ทุกฝ่ายพูดคุยหารือเพื่อทำความเข้าใจและตกลงร่วมกันคือสิ่งที่ต้องตามดูหลังจากนี้ เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่จะระงับไม่ให้อุณหภูมิของปัญหาต่างๆปะทุขึ้นมาในห้วงเวลาที่จะมีการเดินไปสู่การเลือกตั้ง” นักวิจัยอิสระด้านสันติวิธี กล่าว

Comments are closed.