มีอะไรไหม ท

วิสุทธิ์ ตูน  13  มีนาคม  2552

โสภณแจงย้ายบินไทยได้ประโยชน์
โพสต์ทูเดย์ วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552 13:30

โสภณตอบกระทู้สดย้ายการบินไทยไปสุวรรณภูมิ ลั่นเป็นเรื่องที่เจ้าตัวเสนอมาเองเพื่อลดรายจ่าย เชื่อได้ประโยชน์

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งกระทู้ถามนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ถึงกรณีการย้ายเที่ยวบินของสายการบินไทยจากสนามบินดอนเมืองไปสุวรรณภูมิในวันที่ 29 มี.ค.ระหว่างการประชุมสภาว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการสนองตอบนโยบายสนามบินเดียวและจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมากที่ต้องสิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายรวมถึงผลกระทบด้านมลภาวะกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ

“เหตุใดกระทรวงคมนาคมจึงไม่ทำตามคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ไอเคโอ) ที่เสนอผลการศึกษาว่าหากใช้นโยบายสองสนามบิน นั้นสนามบินสุวรรณภูมิจะต้องสร้างรันเวย์เพิ่มขึ้นอีกเพียง 1-2 เส้นก็จะเพียงพอ ขณะที่การใช้สนามบินเดียวทำให้ต้องสร้างรันเวย์เพิ่ออีก 3-6 เส้น ต้องเวนคืนที่ดินอีก 9 พันไร่ เหตุใดจึงไม่คำนึงถึงการประหยัดงบประมาณในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ ”นายสามารถ กล่าว

ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า ในวันที่เข้ารับตำแหน่งการบินไทยก็ประสบวิกฤตสภาพคล่องอย่างที่ไม่เคยเป็นมาในอดีต  จึงให้ผู้บริหารการบินไทยไปทำเวิรค์ช็อปภายใต้นโยบาย 2 เรื่องคือ 1.จะแก้วิกฤตการบินไทยอย่างไร และ2.จะให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นฮับหรือไม่ ซึ่งทางการบินไทยก็เสนอมาว่าจะต้องลดรายจ่ายและสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งการย้ายการบินไทยไปสุวรรณภูมิก็เป็นข้อเสนอมาเพื่อลดรายจ่าย

“การบินไทยให้เหตุผลว่าการประกอบธุรกิจในสนามบินดอนเมืองมีรายเดือนละ 50 ล้านบาท ตกปีละ 600 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายปีละกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งผมก็ยืนยันว่าตัวเลขระดับนี้ยังไม่มีเหตุผลที่จะต้องย้าย แต่ทางการบินไทยได้อธิบายเพิ่มเติมว่าการมีสนามบิน 2 แห่งที่อยู่ห่างกัน 18 กิโลเมตรนั้นเมื่อเครื่องบินไปทางภาคอิสานจะไม่สามารถเลี้ยวขวาได้ทันที ทำให้ต้องวนเครื่องอีก 4 นาที เสียค่าน้ำมันคราวละ 3 หมื่นบาท รวมแล้วปีละกว่าร้อยล้ายบาท”นายโสภณกล่าว

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่กัปตันทั่วประเทศรู้ดีว่าการขึ้นลงนั้นไม่เป็นธรรมชาติเพราะมีจุดตัดในอากาศประมาณ 20 จุด ซึ่งจะส่งผลในเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นหากต้องการจะให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นฮับนั้นเราต้องดูแลความปลอดภัยด้วย ส่วนผลกระทบในด้านมลภาวะต่อประชาชนนั้นขณะนี้ทอท.ได้มีมาตรการแก้ปัญหารองรับไว้สำหรับ 70 เที่ยวบิน แต่ขณะนี้มีเพียง 40 เที่ยวบินเท่านั้น

ส่วนที่มีการถามกันว่าการย้ายไปสุวรรณภูมิต้องทำการขยายเฟสสองและสร้างรันเวย์อีก 5 หมื่นล้านบาทนั้นก็ไม่ต้องสร้างเพิ่มเติมเพราะปัจจุบันสุวรรณภูมิมีเครื่องขึ้นลง 40 เที่ยว สามารถรับได้อีก 70 เที่ยว ดังนั้นสามารถอยู่อีก 10 ปีจึงจะสร้างเฟสสอง ส่วนการสร้างรันเวย์นั้นถึงไม่ย้าย การบินไทยไปก็ต้องสร้างอยู่ดีเพราะเราจำเป็นต้องปิดรันเวย์หนึ่งช่องเพื่อซ่อมแซม ดังนั้นเมื่อปิดรันเวย์ก็ต้องสร้างรันเวย์ที่สามขึ้นมา ซึ่งรันเวย์ที่สามนั้นก็สามารถรองรับได้อีก 10-20 ปี

นายโสภณ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่การบินไทยอธิบายจนนำไปสู่การตัดสินใจให้ย้ายคือ วันนี้ผู้โดยสารในประเทศที่สุวรรณภูมิมี 4 แสนคน ขณะที่ดอนเมืองมี 1-2 แสนคน แต่ต้องแข่งขันกันสามราย คือการบินไทย นกแอร์ และวัน ทู โก ขณะที่สุวรรณภูมินั้นแอร์เอเชีย ครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าการบินไทยไม่ย้ายไปสุวรรณภูมิจะสู้แอร์เอเชียไม่ได้ และอัตราการใช้เครื่องการบินไทยที่ดอนเมืองมีความจุเพียง 70%ต่อเที่ยว แต่ที่สุวรรณภูมิมีความจุต่อเที่ยวถึง 90%

“การย้ายไปสุวรรณภูมิจะทำให้การบินไทยได้ประโยชน์เพราะจะลดรายจ่าย และยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับว่ารัฐบาลจะมีนโยบายใช้สนามบินเดียวหรือไม่ เพราะดำริของนายกฯชัดเจนว่าต้องศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อนจะตัดสินใจเพราะเป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งกระทรวงคมนาคมต้องนำเสนอข้อมูลต่อรัฐบาลต่อไป การย้ายการบินไทยนั้นเป็นไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายเท่านั้น ซึ่งจะได้ทั้งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยและการบินไทย จึงจำเป็นต้องให้ย้าย ซึ่งจะมีการย้ายในวันที่ 29 มี.ค.นี้”นายโสภณกล่าว

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ได้ยื่นกระทู้ถามด่วนต่อนายกรัฐมนตรี กรณีนโยบายในการบริหารท่าอากาศยานเดียว โดยใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นหลัก และให้สายการบินต่าง ๆ ย้ายออกจากสนามบินดอนเมืองในวันที่ 29 มี.ค.นี้ โดยมีข้อสงสัย 3 ประการ คือ 1 .การที่รัฐบาลมีนโยบายการบริหารท่าอากาศยานเดียว โดยการย้ายจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม จะมีข้อครหาว่าเพื่อสร้างความชอบธรรมในการนำไปเป็นเงื่อนไขให้กับการดำเนินการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิขั้นที่สองหรือไม่

2 .ปัญหาความไม่พร้อมของสนามบินสุวรรณภูมิได้มีการแก้ไขอย่างไร ขณะที่มีผู้ร้องเรียนว่า รถเข็นสัมภาระภายในสนามบิน ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ทำสัญญาจ้าง บริษัท ไทยแอร์พอร์ต กราวด์ เซอร์วิสเซส (แท็กส์) ในการให้บริการรถเข็นสัมภาระ 9,034 คัน ในอัตราเดือนละ 6.3 ล้านบาท ทั้งนี้มีรถเข็นนหายไปถึง 6 พันคัน และไม่มีการแก้ไขปรับปรุงจนมีผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อนจากภาวะดังกล่าว เหตุใดจึงไม่มีการแก้ไขเรื่องนี้

และ3. การที่มีนโยบายให้บริษัท การบินไทย จำกัด ย้ายกลับไปที่สนามบินสุวรรณภูมิทั้งหมด โดยอ้างว่าสามารถลดภาระค่าใช้จ่าย เป็นเงินปีละ 640 ล้านบาทนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และอยากทราบว่ารัฐมีทิศทางในการแก้ปัญหาการขาดทุนสายการบินแห่งชาติได้อย่างไร

Comments are closed.