นิรโทษกรรม

วิสุทธิ์ ตูน 15 กุมภาพันธ์ 2552

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11297 มติชนรายวัน

ดันพ.ร.บ.นิรโทษฯเข้าสภา พท.ยื่น18ก.พ.

”เพื่อไทย”เตรียมเสนอร่าง กม.นิรโทษกรรม ยื่น ปธ.สภา 18 ก.พ. ให้พ้นผิดอาญา-แพ่ง-ปกครอง ในทุกคดีการเมือง ใครถูกจับต้องปล่อยตัวทันที แถมคืนสิทธิทางการเมืองด้วย

“พท.”เผยร่างกม.นิรโทษกรรม

พรรคเพื่อไทย (พท.) เดินหน้าเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม อภัยโทษและล้างมลทินให้กับบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน 2549

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ… ประกอบด้วย 3 ส่วน โดยส่วนแรก เป็นบันทึกวิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. เนื้อหาบางส่วนระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันเหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ประชาชนเกิดการแบ่งแยกทางความคิดอย่างรุนแรง จนมีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงของชาติ สมควรสร้างความปรองดองแห่งชาติโดยการนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลใดๆ ที่ได้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับการต่อต้านการบริหารราชการแผ่นดิน การต่อต้านการยึดอำนาจ การปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หรือการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินกิจการทางการเมือง

”ถ้าการกระทำความผิดนั้นได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมให้รวมถึงผู้กระทำทั้งในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งในทางอาญา ทางแพ่งและทางปกครอง ถ้าผู้กระทำดังกล่าวถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างการดำเนินคดีให้ปล่อยตัวไปโดยเร็ว”

ให้พ้นผิดหมดแถมคืนสิทธิการเมือง

ส่วนที่สองเป็นเป็นบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่าง พ.ร.บ. โดยมีเนื้อหาเพิ่มการนิรโทษกรรมให้แก่ความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2551 และการกระทำก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ได้รับผลกระทบจากองค์กรที่เกิดจากการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

ส่วนที่สาม เป็นร่าง พ.ร.บ. มี 5 มาตรา โดยมาตรา 3 ระบุว่า ให้นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่มีความผิดตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือหลังวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากองค์กรที่เกิดจาก คปค. ในความผิดเกี่ยวกับ (1) การต่อต้านการ บริหาราชการแผ่นดิน (2) การต่อต้านการยึดอำนาจการปกครองประเทศ (3) การปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ (4) การปฏิบัติหน้าที่ใน คตส.และการที่บุคคลหรือคณะบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจาก คตส. (5) การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าระงับปราบปรามหรือสลายการชุมนุมของกลุ่มบุคคล ตาม (1) (2) ส่วน (6) การที่บุคคลหรือคณะบุคคลที่บริหารราชการแผ่นดินและตามประกาศ คปค.ฉบับ 30

ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงผู้กระทำทั้งในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งในทางอาญาและทางแพ่งและทางปกครอง หากผู้นั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง ให้คืนสิทธิทางการเมืองแก่ผู้นั้นด้วย

สำหรับ มาตรา 4 การนิรโทษกรรมสร้างความปรองดองแห่งชาติตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนมาตรา 5 ให้นายกฯรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้

@ เตรียมเสนอปธ.สภา18ก.พ.

นายสุรชัย เบ้าจรรยา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวยอมรับว่า จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่สภาจริงในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ จะขอมติที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ก่อนเปิดให้ ส.ส. ร่วมลงชื่อเสนอประธานรัฐสภา ตามมาตรา 142 (2) ซึ่งต้องใช้เสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 คน จากนั้นวันที่ 18 กุมภาพันธ์ จะยื่นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อประธานรัฐสภาทันที ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคก็เห็นด้วย โดยเฉพาะแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้ประสานเป็นการภายในว่าจะให้ ส.ส.พรรคชาติไทยชาติพัฒนาร่วมลงชื่อในญัตติดังกล่าวด้วย

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ในฐานะสมาชิกบ้านเลขที่ 111 กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ… ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่า สังคมไทยต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าการนิรโทษกรรมจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้หรือไม่ หลายประเทศที่มีความขัดแย้ง เช่น แอฟริกา ก็ใช้แนวทางการนิรโทษกรรม โดยให้ทุกฝ่ายลืมอดีตแล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ไม่เช่นนั้นคนติดชนักก็จะไม่คิดถึงการทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ แต่จะหาทางทำให้ตนหลุดพ้นจากปัญหาในอดีต

”ต้องถามว่าคนไทยจะปล่อยปัญหาไว้อย่างนี้หรือไม่ หรือจะมาหาทางออกร่วมกัน” นายพงศ์เทพกล่าว


Comments are closed.