ปราสาทศีขรภูมิ

“ควรจะนำทับหลัง 2 ชิ้น ที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย กลับคืนไปยังสถานที่เดิม เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับปราสาท และสร้างความภาคภูมิใจ ให้แก่ชาวจังหวัดสุรินทร์ เช่น เดียวกับที่ได้นำทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับไปติดตั้งไว้ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวจังหวัดบุรีรัมย์มาแล้ว”

ปราสาทศีขรภูมิ คืนความภาคภูมิใจสู่ท้องถิ่น

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

เผยแพร่ใน สยามรัฐรายวัน วันที่ 13  มกราคม 2541

ปราสาทศีขรภูมิ  อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์

จากรายงานเรื่อง ตามรอยอารยธรรมขอมที่”ปราสาทเมืองต่ำ”ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งรายงานโดย ศตวรรษสมัย ปรากฏว่ามีข้อมูลคลาดเคลื่อนเล็กน้อยเกี่ยวกับภาพประกอบเปรียบเทียบก่อนและ หลังการบูรณะปราสาท กล่าวคือ ภาพก่อนการบูรณะเป็นภาพถ่ายเก่าปราสาทเมืองต่ำ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัยจังหวัดบุรีรัมย์ สังเกตได้จากรูปทรงของปราสาทองค์ด้านทิศเหนือและประตูทางเข้าของปราสาทองค์ ด้านทิศใต้ เมื่อเปรียบเทียบในบทรายงานนั้น ไม่ใช่ ภาพถ่ายปราสามเมืองต่ำแต่เป็นภาพถ่ายปราสาทศีขรภูมิ อ. ศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ก็แจ้งมาเพื่อเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และขอสังเขปเรื่องของปราสาทศีขรภูมิมาพร้อมนี้
ปราสาทศีขรภูมิหรือปราสาทบ้านระแงง ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ องค์ปราสาทตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟศีขรภูมิไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางไปชมปราสาทสะดวกทั้งทางรถไฟและรถยนต์ ทางรถไฟนั้นมีรถไฟสายกรุงเทพ – อุบลราชธานี ผ่านและจอดรับส่งแทบทุกขบวนทั้งรถเร็ว รถธรรมดา รถดีเซลราง และรถชานเมือง ยกเว้นรถด่วนและรถด่วนพิเศษ ส่วนทางรถยนต์นั้นจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 226 สุรินทร์ – ศรีสะเกษ ระยะทางจากจังหวัด สุรินทร์ประมาณ 35 กิโลเมตรเท่านั้น

“ศิวนาฏราข ” ทับหลัง ปราสาทประธาน ปราสาทศีขรภูมิ


ปราสาทศีขรภูมิ เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย องค์ปราสาทก่อด้วยอิฐ ประดับเสากรอบประตู ทับหลังและส่วนสำคัญอื่นๆ ด้วยหินทรายและปูนปั้น มีจำนวน 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยมจตุรัสฐานเดียวกันหันหน้าไปทางทิศตะวันออกปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง และมีปราสาทบริวารตั้งอยู่ที่มุมฐานทั้งสี่มุม มี สระน้ำ 3 สระ สระหนึ่งอยู่ทางทิศเหนืออ้อมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอีก 2 สระอยู่ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ รูปแบบของผังเป็นการแสดงลักษณะของการจำลองภูเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล ผังลักษณะเช่นนี้ไม่ค่อยพบในประเทศไทยส่วนในประเทศ กัมพูชา จะปรากฏอยู่ทั่วไป เช่น ปราสาทตาแก้ว ปราสาทแปรรูป และ ปราสาทนครวัด เป็นต้น
ปราสาทศีขรภูมินี้ กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนพร้อมทั้งกำหนดเขตโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 104 วันที่ 30 มิถุนายน 2524 เนื้อที่ทั้ง 10 ไร่ 2 งาน 27 ตารางวา ปัจจุบัน ได้บูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้ว
เกี่ยวกับยุคสมัยของปราสาท อาจารย์ น.ณ.ปากน้ำ (2527:66) ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า “ปราสาทศีขรภูมิ ซึ่งเดิมเรียกกันว่าปราสาทบ้านระแงงอยู่ในสุรินทร์ สมัยก่อนยึดเป็นทฤษฎีกันว่า เป็นปราสาทก่ออิฐที่เก่าแก่ที่สุด แต่หลังจากการศึกษาระบบปราสาทก่ออิฐอย่างละเอียด ข้าพเจ้าตระหนักความจริงว่า เราต้องคำนึงถึงรูปทรงและเทคนิคการก่อสร้าง รวมทั้งทับหลังเป็นองค์ประกอบในการวินิจฉัย อันปราสาทศีขรภูมินี้ ทับหลังขององค์ปราสาทองค์กลาง มีรูปหน้าเกียรติมุขปรากฏอยู่บอกว่าเป็นฝีมือช่างรุ่นหลังชัยวรมันที่ 2 ลงมาด้วยรัชกาลนี้นำเอาหน้าเกียรติมุขหรือหน้ากาละแบบนี้มาจากชวาแต่เมื่อพิจารณาถึงรูปทับหลังทั้งหมดประกอบกับรูปนางอัปสร สองข้างประตู ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นศิลปะรุ่นเดียวกับนครวัดในสมัยเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งกำหนดได้ว่าไม่มีอายุสูงไปกว่านี้ จากการศึกษาถึงช่วงบนของยอดปราสาทอันมีรูปร่างพิกล ผิดแบบแผนปราสาทขอมทั่วไปจึงพบว่า ส่วนบนเป็นของเสริมสร้างขึ้นในสมัยหลังโดยมิใช่ฝีมือช่างขอมอาจต่อเติมขึ้นในสมัยอยุธยานี้เอง”


ส่วน Smitthi Siribhadra และ Elizabeth Moore (1992 : 219) ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า รูปแบบของทับหลังและลวดลายแกะสลักด้วยหินทรายของปราสาทศีขรภูมินั้น มีอายุอยู่ในสมัยนครวัดราวต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ส่วนยอดของปราสาทได้ต่อเดิมขึ้นใหม่โดยชนชาวลาวในสมัยหลัง
เนื่องจากปราสาทศีขรภูมิ เป็นปราสาทขนาดเล็ก ไม่มีโคปุระ หรือซุ้มประตูทางเข้า ไม่มีระเบียงคด และกำแพงแก้วล้อมรอบเหมือนกับปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ ความงามและความสำคัญก็เลยลดน้อยลงไป แต่อย่างไรก็ตาม ที่ปราสาทแห่งนี้ก็มีทับหลังแกะสลักภาพ ศิวนาฏราช ซึ่งได้รับคำยกย่องจากปราชญ์ทางศิลปโบราณคดีว่าเป็นทับหลังที่มีความสมบูรณ์และมีฝีมือแกะสลักที่ปราณีตสวยงามที่สุดอีกแผ่นหนึ่งของประเทศไทย”(สมมาตร์ ผลเกิด.2534.105) จึงยังสามารถดึงดูดความสนใจของนักวิชาการและนักท่องเที่ยวได้บ้าง นอกจากนั้น ยังมีทับหลังอีก 2 ชิ้น “ชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ อีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์ ปัจจุบัน เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย” จังหวัดนครราชสีมา (ศิลปากร.2538 : 30)
ในอดีต คือเมื่อปี พ.ศ. 2472 สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จมาที่ปราสาทแห่งนี้ และได้ทรงวินิจฉัยไว้ว่า “ที่ปราสาทบ้านระแงงนี้ องค์ปรางค์ทั้งใหญ่น้องก่อด้วยอิฐ เครื่องประดับองค์ปรางค์ กรอบประตูและทับหลังประตูหน้าต่างและยอดเปนศิลา อย่างเดียวกันกับเมืองต่ำ เปนของสร้างในพระพุทธศาสนา รู้ได้โดยที่ทับหลังประตูปรางค์องค์ใหญ่มีรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวรอยู่เปนสำคัญ และคำจารึกที่กรอบประตูปรางค์องค์เล็กข้างใต้ก็บอกว่า สิตามะกะ ระมาสมะนาดชาติพิรมย สมสตปสิกราชาเจ้า สงฆราชากกุลวงษา พร้อมกับพระญาติวงศ์สร้างไว้ในพระพุทธศาสนา” (บริบาลบุรีภัณฑ์.2531.39) แต่ปรากฏว่า ความคิดเห็นดังกล่าว คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องซึ่ง ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้แสดงความคิดเห็นขัดแย้ง ไว้ในบทนำหนังสือจดหมายเหตุการเสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา ของ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2472 (2531 : 12 – 13) โดยกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าเข้าใจว่าปราสาทอิฐบ้านระแงงนี้ สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ราว พ.ศ. 1650 ทั้งนี้ถ้าเราสังเกตดูภาพสลักบนทับหลังศิลาปรางค์องค์กลางแล้วจะเห็นได้ว่า ภาพบุคคลหลายกรกำหลังฟ้อนรำอยู่นั้น คงเป็นพระศิวนาฏราชหรือพระอิศวรทรงฟ้อนรำแทนที่จะเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุว่าถ้าเราดูรูปเทวดานั่งในแถวที่ถัดลงไปจากทางด้านขวามือของเราจะเห็นว่า มีรูปพระคเณศ พระพรหม พระนารายณ์ และพระลักษมีตามลำดับ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระอิศวรซึ่งเป็นเทวดาที่สูงสุดอีกองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์จะไปอยู่เสียที่ไหนเล่า ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจีงเข้าใจว่า รูปเทวดาองค์สำคัญซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าองค์อื่นๆ และอยู่ข้างบนนี้ คงเป็นพระศิวนาฏราช มิใช่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นแน่”

ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่งไปแล้วว่า ทับหลังปราสาทประธานชิ้นนี้ เป็นทับหลังเรื่อง ศิวนาฏราช หรือพระอิศวรทรงฟ้อนรำ “ซึ่งวรรณคดีในศาสนาพราหมณ์ได้กล่าวถึงการฟ้อนรำของพระองค์ว่ามีบทบาทสำคัญมาก กล่าวคือ เป็นการแสดงถึงพลังในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจักรวาล 5 ประการ คือ การสร้าง การดูแล รักษาให้คงอยู่ การทำลาย การปิดบัง (โดยภาพลวงหรือการแสดงมายา) และการอนุเคราะห์” (สมิทธิ ศิริภัทร์ และมยุรี วีระประเสริฐ.2533 : 155) ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูเชื่อกันว่า จังหวะการร่ายรำของพระศิวะนั้น อาจจะบันดาลผลดีผลร้ายแก่โลกได้ หากพระองค์ร่ายรำในจังหวะที่พอดีจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขหากร่ายรำในจังหวะที่รุนแรงจะเป็นผลร้าย นำภัยพิบัติมาสู่โลกได้
ภาพแกะสลักศิวนาฏราช ที่ปราสาทศีขรภูมิ แกะสละเป็นรูปพระศิวะสิบกร ทรงฟ้อนรำอยู่บนแท่นที่รองรับด้วยหงส์สามตัวเหนือเกียรติมุขซึ่งใช้มือจับเท้าสิงห์ข้างละตัวยืนผงาดชูท่อนทวงมาลัยแยกเป็นวงโค้งออกไปทั้งสองข้างปลายท่อนพวงมาลัยทำลายใบไม้เป็นวงโค้ง 3 วงลดหลั่นกัน ภายในวงโค้งแกะสลักเป็นเทพนรสิงห์ รูปฤษี และ รูปหงส์ ใต้ท่อนพวงมาลัยทำลายใบไม้ม้วนเป็นวงโค้งรูปไข่ ภายในวงโค้งแกะสลักเป็นเทพนรสิงห์ เหนือเทพนรสิงห์เป็นภาพพระคเณศพระพรหมสี่พักตร์ พระนารายณ์สี่กร และพระนางอุมา เหนือลายท่อนพวงมาลัย ด้านขวา (เป็นภาพการต่อสู้ระหว่างพระศิวะกัยพระอรชุนในปางกริทารชุนมูรติหรือเรื่อง อรชุนวิวาหะ” ด้านขวา “เป็นภาพการต่อสู้ระหว่างพระศิวะกับพระวิษณุในปางศารเภศภมูรติ”(สมมาตร์ ผลเกิด.2534 : 109 – 110) และลายใบไม้สามเหลี่ยมภายในเป็นรูปหงส์ส่วนบริเวณเสากรอบประตูแกะสลักเป็นรูปนางอัปสรยืนถึอดอกบัวและรูปทวารบาลยืนถือกระบอง เหนือรูปนางอัปสรและทวารบาลแกะสลักเป็นลายก้ามปู
อย่างไรก็ตาม ภาพบุคคลและเรื่องราวของทับหลังชิ้นนี้ ยัง เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ ซึ่งจะต้องหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป
ส่วนทับหลังของปราสาทศีขรภูมิอีกสองชิ้นที่นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายนั้น เป็นภาพแกะสลักเล่าเรื่อง พระกฤษณะต่อสู้กับช้างและสิงห์ การจัดองค์ประกอบของแต่ละชิ้นมีลักษณะดังนี้
ชิ้นที่ 1 เป็นทับหลังแกะสลักภาพพระกฤษณะต่อสู้กับช้างและสิงห์ การจัดองค์ประกอบ แบ่งทับหลังออกเป็น 2 ส่วน ตามแนวนอน ส่วนบนมีขนาดเล็กกว่าส่วนล่าง ส่วนนี้แกะสลักเป็นภาพฤษี 5 ตน นั่งในท่าโยคาสนะภายในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนล่าง ตรงกึ่งกลางแกะสลักภาพพระกฤษณะใช้มือขวาจับเท้าสิงห์และมือซ้ายจับเท้าช้าง ชูขึ้นในจังหวะร่ายรำ หัวสิงห์และช้างห้อยลงมาคายท่อนพวงมาลัยแยกออกไปเป็นวงโค้งทั้งสองข้าง ปลายท่อนพวงมาลัยม้วนออกเป็นลายคล้ายเศียรนาคสามเศียร เศียรบน คายท่อนพวงอุบะที่ม้วนขึ้นไปยังส่วนบนสุดของทับหลัง ใต้ท่อนพวงมาลัยทำเป็นลายใบไม้ม้วนเป็นวงสองวงคล้ายเลขแปด ทับหลังชิ้นนี้มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แกะสลักอย่างประณีตสวยงาม ซึ่งศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (2531 : 13) ทรงระบุว่า ปัจจุบันได้ถูกขโมยไปแล้ว แต่ปรากฏว่า ทับหลังชิ้นดังกล่าวยังตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ก็คงเป็นความสับสนของข้อมูล ซึ่งกรมศิลปากรน่าจะอธิบายได้ และอาจต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากทับหลัง 2 ชิ้น จากปราสาทศีขรภูมิ ที่ตั้งแสดงอยู่ในอาคารชั้นล่างแล้วทำไมที่เพิงชั่วคราวสถานที่เก็บรักษาทับหลัง จึงยังมีทับหลังจากปราสาทศีขรภูมิอีก 1 ชิ้น
ชิ้นที่ 2 เป็นทับหลังแกะสลักภาพพระกฤษณะต่อสู้กับช้างและสิงห์เช่นเดียวกับชิ้นที่ 1 การจัดองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน ตรงกลางทับหลังแกะสลักเป็นภาพพระกฤษณะใช้มือขวาจับเท้าสิงห์และมือซ้ายจับเท้าช้าง ชูขึ้นในจังหวะร่ายรำ หัวสิงห์และช้างห้อยหัวลงมาคาย ท่อนพวงมาลัยแยกออกไปเป็นวงโค้งทั้งสองข้าง ส่วนปลายของท่อนพวงมาลัยด้านขวาหักหายไป ส่วนด้านซ้ายลบเลือน มีลักษณะที่ยังแกะสลักไม่เสร็จ เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ สามเหลี่ยม ส่วนภายในวงโค้งทำเป็นลายใบไม้ม้วน
ปราสาทศีขรภูมิ นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากปราสาทมีขนาดเล็ก ไม่มีส่วนประกอบอย่างอื่น นอกจากทับหลังที่แกะสลักเป็นภาพศิวนาฏราชเพียงชิ้นเดียวจึงทำให้ไม่น่าสนใจ โบราณวัตถุที่เหลืออยู่ก็ไม่มีสถานที่เก็บให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ทิ้งไว้ตามต้นไม้ ไม่น่าดูน่าชม ดังนั้น สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือ หาทางปรับปรุงให้โบราณสถานแห่งนี้มีคุณค่าและความหมายยิ่งขึ้น เช่น ทำรั้วรอบขอบชิด ตกแต่งบริเวณให้สะอาดเรียบร้อย จัดสถานที่ตั้งวัตถุที่เหลืออยู่ เพื่อสร้างความน่าสนใจและที่สำคัญที่สุดก็คือ ควรจะนำทับหลัง 2 ชิ้น ที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย กลับคืนไปยังสถานที่เดิม เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับปราสาท และสร้างความภาคภูมิใจ ให้แก่ชาวจังหวัดสุรินทร์ เช่นเดียวกับที่ได้นำทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับไปติดตั้งไว้ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวจังหวัดบุรีรัมย์มาแล้ว

บรรณานุกรม

เจริญ ไวรวัจกุล.ประติมาณวิทยาบนทับหลัง.สถาบันราชภัฏสุรินทร์.2537.

น.ณ.ปากน้ำ.”ปราสาทขอมในภาคอีสาน” สมบัติอีสานใต้ท ครั้งที่ 3 ภาพพิมพ์.2527.

บริบาลบุรีภัณฑ์.จเหมายเหตุการเสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2472 ศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงเขียนบทนำ) อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊พ.2531.

ศิลปากร,กรม.ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย.เล่ม 3. จังหวัดสุรินทร์. อาร์ต โปรเกรส.2538.

สมิทธิ ศิริภัทร์ และ มยุรี วีระประเสริฐ.ทับหลัง การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา.กรมศิลปากร. 2533.

สมมาตร์ ผลเกิด.”ประติมาณวิทยาภาพสลักเล่าเรื่องทับหลัง ปราสาทศีขรภูมิ” สมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 4 เรวัติการพิมพ์.2534.

Smitthi Siribhadra & Elizabeth Moore. Palaces of Gods Khmer Arts Architecture in Thailand. River Books.1992.

…..

หมายเหตุ ทับหลังของปราสาทศีขรภูมิ ปัจจุบันได้นำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสุรินทร์

158 thoughts on “ปราสาทศีขรภูมิ

  1. 😆 ไม่จำเป็นหรอค่ะ
    ปราสาทศีขรภูมิเป็นสิ่งที่ 🙂
    😛 ชาวศีขร ภูมิใจมาก
    ไม่จำเป็นต้องเอาไว้ที่อื่นหรอก 😥
    😉 และอีกอย่างทัพหลังก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย
    ปราสาทศีขร จะได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามที่หนึ่งไงค่ะ 😉

  2. 😉 ขอเชิญทุกท่านมาชมปราสาทศีขรภูมิด้วยน่ะค่ะ
    .
    .
    เพราะว่าปราสาทที่นี่สวยงามจริงๆ 😛
    และปีหน้าก็ยังมีการแสดงสืบสานตำนานพันปีที่ยิ่งใหญ่
    😮 และสวยงามอีกด้วยค่ะ :mrgreen:

  3. เรียนท่านอาจารย์วิสุทธิ์ ครับ
    หาเจอในเน็ต อ่านชอบครับ ผมลูกศิษย์วค.บุรีรัมย์ เป็นชาวศีขรภูมิ ที่เคยแกะหน้าบันมาหล่อให้อาจารย์ครับ เมื่อคราวกลับพักร้อนก็ได้กลับบ้านและใด้ไปที่ปราสาท ชอบครับดีกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนมาก

    นับถือครับ
    อภิชาติ

  4. ปราสาทระแงง ไม่ได้เป็นปราสาทเดียวที่มีทับหลังเป็นรูปศิวนาฏราช และมีเทพองค์อิ่นๆเช้น พระวิษณุให้จังหวะ พระพรหมตีฉิ่ง พระคเณศตีกลอง พระนางบรรพตี(=พระนางอุมา – ไม่ใช่พระนางลักษมีอย่างที่เข้าใจ) ถือไม้เท้าขาคน ฯ แต่ยังมีปราสาทอื่นๆที่มีท้บหลังเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ศึกษาและนำมาเปรียบเทียบกัน ยกตัวอย่างเช่น ปราสาทกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ (ซึ่งปราสาทนี้ก็อยู่ในสมัยเดียวกันกับนครวัด) เป็นต้น จึงทำให้คิดว่ามีอยู่แผ่นเดียวในประเทศ ที่จริงนั้นไม่ใข่เลยนะครับ

    และที่บอกกันว่าปราสาทระแงงอยู่ในสมัยนครวัดนั้น น่าจะคลาดเคลื่อน ผมว่าน่าจะเป็นสมัยที่ต่อกันระหว่างสมัยบาปวน และนครวัดมากกว่า (สมัยบาปวนตอนปลาย – สมัยนครวัดตอนต้น)เพราะเหตุอะไร จะแจงให้ทราบต่อไปเป็นฉากๆ แต่ตอนนี้ก็ลองอ่านบทความนี้ดูก่อนครับ

    ในสมัยบาปวน นั้น จะมีกษัตริย์ปกครองอยู่ 2 วงศ์

    วงศ์ที่1 จะตรงกับสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันท่ 2 (พ.ศ.1593-1609 = 16ปี) และ สมัยพระเจ้าหรรษาวรมันที่ 3 (พ.ศ.1609-1623 = 14 ปี) ซึ่งเป็นพี่น้องกัน รวมวงศ์แรก มีระยะเวลาประมาณ 30 ปี

    วงศ์ที่2 จะตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (พ.ศ.1623-1650 = 27 ปี) และสมัยพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 (พ.ศ.1650 – 1656 = 6 ปี) ซึ่งเป็นพี่น้องกัน รวมวงศ์ที่ 2 มีระยะเวลาประมาณ 33 ปี

    จากการศึกษาการแต่งกายสมัยบาปวน จะมีลักษณะดังนี้
    สมัยวงศ์ที่ 1
    บรุษ – จะนุ่งโจงกระเบนสั้น จีบเป็นริ้ว มีผ้าชายพกต้นขาซ้าย ขอบเอวจะเว้าลงมามากลึกถึงหน้าท้อง ข้างหลัง ขอบจะสูงขึ้นถึงกลางหลัง ผมจะเกล้ารัดขึ้นไป ไม่มีกระบังหน้า ไม่มีตุ้มหู ไม่มีสร้อยคอ
    สตรี – จะนุ่งผ้าเป็นริ้ว มีชายหางปลายาวถึงชายผ้าถุง และมีเข็มขัด ไม่มีขอบผ้าห้อยลงมาที่หน้าท้อง ผมจะเกล้ารัดขึ้นไป ไม่มีกระบังหน้า ไม่มีตุ้มหู ไม่มีสร้อยคอ

    สมัยวงศ์ที่2
    บรุษ – จะนุ่งโจงกระเบนสั้น อาจไม่มีริ้ว หรือมีก็ได้ ขอบเอวไม่เว้าลงมามาก มีชายสมอเรืออันเดียวยาวถึงชายขากางเกง ไม่มีตุ้มหู ผมอาจเกล้ารัดขึนไป และบางครั้งอาจพบว่าเริ่มมีการสวมกระบังหน้าอยู่บ้าง
    สตรี – ฟ้านุ่งมีขอบผ้าย้อนห้อยออกมา มีชายหางปลายาวถึงชายผ้าถุง ไม่มีตุ้มหู ไม่มีสร้อยคอ มีทั้งเกล้าผม แลเริ่มใส่กระบังหน้ามีดอกไม้ตรงกลางดอกเดียว แต่บางครั้งจะสวมกระบังที่เป็นกระบอกอยู่ข้างบน

    แบบสมัยวงศ์ที่ 1 จะพบได้จากปราสาทบาปวนในเขมร
    แบบสมัยวงศ์ที่ 2 จะพบได้จากปราสาทพิมาย ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทตาเมือนทม ปราสาทวัดภู (ลาว) ปราสาทเจ้าสายเทวดา (เขมร) ปราสาทธรรมานันท์ (เขมร) ปราสาทเบงมีเลีย -บาวส่วน (เขมร) เป็นต้น

    สำหรับปราสาทศีขรภูมิ ถ้าเราดูจากการแต่งการของนางอัปสรา ก็จะเห็นว่า นุ่งผ้ามีชายผ้าขอบย้อนออกมาที่หน้าท้อง มีชายหางปลายาว แต่ที่สำคัญคือเริ่มมีสร้อยคอ มีตุ้มหู สวมกระบังหน้าซึ่งมีดอกไม้ดอกเดียวตรงกลาง

    ส่วนปราสาทนครวัด ที่ผมเคยไปเที่ยว นางอัปสราจะไม่มีขอบผ้าย้อนออกมา เริ่มมีพู่ห้อย ไม่มีชายหางปลายาว มีตุ้มหู มีสร้อยคอ สวมกระบังหน้าที่มีดอกไม้ 3 ดอก แต่บางนางก็มัดๆผมม้วนขึ้นไปเท่านั้น

    จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการการแต่งกาย ก็จะเป็นไปตามความนิยมของแต่ละสมัยของผู้ครองเมือง ปราสาทศีขรภูมิ อาจมีวิวัฒนาการมาก่อนที่จะสร้างปราสาทนครวัด ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็นสมัยบาปวนตอนปลายก็ได้

  5. กรณี ■wisut.net ชี้แจง angkor ประเด็น ปราสาทศีขรภูมิ

    เรียน ท่านวิสุทธ์ ด้วยความนับถือ
    ตามที่ท่านกล่าวว่าพยายามหลีกเลี่ยงที่จะกำหนดอายุโบราณวัตถุสถานเขมรในประเทศไทยด้วยตัวท่านเอง แต่อาศัยการกล่าวอ้างถึงการกำหนดอายุโบราณวัตถุสถานเขมร ฯ จากบทความของผู้อื่น (โดยเฉพาะเรื่องนี้คือ ปราสาทศีขรภูมิ) อย่างน้อยนั่นก็แสดงว่า ท่านได้คัดเลือก เชื่อถือและมั่นใจว่าถูกต้อง เอามาลงเป็นบทความของท่าน ฉะนั้นถ้าท่านจะขอความเป็นธรรมสำหรับตัวท่าน ดูจะไม่เป็นการ”ดูถูก”บทความของผู้ที่ท่านคัดลอกเอามา หรือครับ ?
    อีกอย่างครับ ผมไม่ได้มุ่งหมายให้ท่านเปรียบเทียบทับหลังอย่างที่ท่านเข้าใจ แต่ผมหมายถึงทับหลังที่มีลักษณะที่มี พระศิวนาฏราช มีพระวิษณุ มีพระพรหม มีพระคเณศ มีพระนางอุมา ฯ ไม่ได้มีแผ่นเดียวในประเทศไทย ผมต้องการให้ผู้อ่านทั่วไปทราบว่านอกจากแผ่นที่ปราสาทศีขรภูมิแล้ว ก็ยังมีที่อื่นๆอีก จะได้ไม่คิดว่ามีแผ่นเดียว ซึ่งท่านก็บอกมาว่าถ้าจะคิดอย่างนั้นก็เป็นเรื่องสุดวิสัย แสดงว่าท่านก็มีเจตนาอยู่บ้าง ?? ซึ่งไม่น่าจะได้เห็นท่านกล่าวแบบนี้เลยนะครับ

    ตามที่ท่านกล่าวถึง ศ.ฟิลิปป์….. กับนาง G.de………… ซึ่งศึกษากำหนดอายุจากการศึกษาวิวัฒนาการลวดลาย โดยเฉพาะประเทศเขมร แต่ศึกษาไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุมหลายๆประเทศ จึงปรากฎแต่ศิลปะบาปวน นครวัด ฯ ไม่มีศิลปเขมรสมัยพนมรุ้ง หรือสมัยพิมาย แต่อย่างใด นั้น
    ผมก็ไม่เห็นนักวิชาการด้านโบราณคดีท่านใด “กล้า”คิดเรียกศิลปเขมรที่เป็นชื่อปราสาทในประเทศไทยสักที่ มีไหมที่จะเรียกว่า ศิลปะเขาน้อย ศิลปภูมิโปน ศิลปพนมวัน ศิลปะเมืองแขก ศิลปะหมื่นชัย ศิลปะบ้านใหม่ไทยเจริญ ศิลปเมืองต่ำ ศิลปพิมาย ศิลปะพนมรุ้ง ศิลปตาเมือน หรือ ฯลฯ สักท่านหนึ่ง
    แต่ ในหนังสือ ปราสาทหินและทับหลัง ของโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2552 หน้า 63-67 ได้กล่าวถึง ท่าน 2 ท่าน ที่มีนามข้างต้นนั้น รวมทั้งจุดประสงค์ของการศึกษาวิวัฒนาการของลวดลาย ร่วมกับนักอ่าน”จารึก” ท่านหนึ่ง(ไม่อยากเอ่ยชื่อ)ทำการศึกษาควบคู่กันไป จนได้”ตาราง”เปรียบเทียบศิลปะเขมรในประเทศกัมพูชา และศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย ในหน้าที่ 94-95

    จริงอยู่ที่น่าจะมี “ศิลปะพิมาย” มาคั่นกลางระหว่าง ศิลปะบาปวน กับ ศิลปะนครวัด เพราะปราสาทพิมายสร้างก่อน ปราสาทนครวัด เล็กน้อย และปรางค์ประธานของปราสาทนครวัดก็เลียนแบบ ปรางค์ของพิมาย แต่กลับบอกว่า ปราสาทพิมาย เป็นศิลปะนครวัด ?? ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะ ปราสาทพิมาย ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น จนถือเป็นตัวอย่างได้ นักวิชาการอาจไม่ได้คำนึงว่าอะไรมาก่อนมาหลัง เอาแต่จุดเด่นเป็นที่ตั้งในกรณีที่ช่วงเวลาไม่ต่างกันมากนัก

    เช่นเดียวกับศิลปะพระวิหาร ทำไมไม่เคยมีในตำรา ก็เพราะความโดดเด่นในศิลปะ ไม่ชัดเจน มีศิลปะโน้น ศิลปะนี้ ปนอยู่หลายแห่งเกินไป จนไม่มีเอกลักษณ์ตัวเอง

    ถ้าท่านวิสุทธ์ ต้องการให้มีศิลปะที่เรียกเป็นปราสาทของไทย ก็ลองเป็นกระบอกเสียงดูสิครับ ผมจะช่วยอีกคนหนึ่ง ล่ะกัน

    ครับผม

Comments are closed.